แผนสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาบางคนคิดไปเองว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปได้นานเท่าที่ต้องการโดยไม่มีความจำเป็นต้องวางแผน ซึ่งคิดนี้เป็นความเข้าใจผิดที่อาจมาจากคำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบัน เพราะในความเป็นจริงแล้ว มารดาอาจพบอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียน และวิธีที่จะเอาชนะอุปสรรคก็คือ การปรึกษาหารือกันร่วมกันวางแผน โดยครอบครัวจะเป็นแรงสนับสนุนที่ดีที่จะทำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้  สำหรับคำแนะนำในปัจจุบันของหน่วยงานและองค์กรทางการแพทย์ต่าง ๆ คือ แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน หลังจากนั้นควรให้อาหารเสริมตามวัยควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ควรสอบถามมารดาว่ามีปัญหาทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบัน สตรีแต่งงานและมีบุตรที่อายุมากขึ้น ดังนั้น จึงพบว่ามารดาอาจมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ หลังคลอด รวมทั้งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น บุคลากรทางแพทย์ควรมีการสอบถามมารดาถึงโรคประจำตัวว่ามีหรือไม่ และใช้ยาอะไรในการรักษาอยู่  โดยทั่วไป ยาส่วนใหญ่สามารถใช้ได้ในระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่จะมียาบางชนิดที่ห้ามใช้ในระหว่างให้นมบุตร เพราะฉะนั้น ควรมีการทบทวนยาของมารดาที่ใช้เป็นประจำและพิจารณาถึงทางเลือกอื่น หากมีความจำเป็นในกรณีที่ยาที่ใช้จะเกิดผลเสียแก่ทารก1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนควรให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนมีความสำคัญต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สมาชิกในครอบครัวและเพื่อรที่ไม่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำลายความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่เป็นคุณแม่มือใหม่ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหากมารดาขาดความเชื่อมั่น จะทำให้มีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรเพิ่มขึ้น

คุณแม่มือใหม่ทุกคนควรได้รับความช่วยเหลือในการปรับตัวที่บ้านในระยะแรก เนื่องจากมารดาต้องการเวลาในการกิน นอน และให้นมลูกบ่อย ๆ  ดังนั้น หากมีสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนที่ว่างที่สามารถช่วยทำงานบ้าน และ/หรือช่วยทำธุระได้ ก็จะช่วยเหลือมารดาได้มาก ซึ่งหากปราศจากความช่วยเหลือ คุณแม่มือใหม่ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์แรก1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อะไรบ้างที่มารดาควรจะได้รับ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การทราบถึงความรู้พื้นฐานในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา และทราบถึงความกังวลของมารดาว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หรือไม่ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ให้บริการวางแผนการดูแลมารดาและทารกได้อย่างเหมาะสม การให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์จะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานสู่ประสบการณ์ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและทารก จากนั้นทีมงานผู้เชี่ยวชาญจะใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาสั้น ๆ ตั้งแต่มารดาคลอดบุตรจนถึงได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ให้การสนับสนุนในการสร้างทักษะการดูแลทารกและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  นอกจากนี้ มารดาอาจยังได้ความรู้จากการดูวิดีโอการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การอ่านหนังสือ  และการได้พูดคุยกับเพื่อนและครอบครัวด้วย  มารดาบางคนไม่คิดว่า การได้รับข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนการคลอดจะเกิดประโยชน์ เพราะคิดว่า “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ” จึงเกิดคำถามตามมาว่า “แล้วยังมีอะไรที่จะต้องให้เรียนรู้อีกหรือ?” สำหรับในส่วนนี้ บุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ให้บริการจะเป็นกลไกที่จะช่วยให้คำปรึกษาและแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ได้1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สัญญาณหรือลักษณะเพิ่มเติมจากมารดาที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมที่เพียงพอ1   

  • มารดาจะรู้สึกตึงคัดเต้านมก่อนการให้นมและรู้สึกว้าเต้านมนิ่มหรือโล่งเบาขึ้นหลังการให้นม
  • มารดารู้สึกถึงการไหลของน้ำนมจากในเต้านม หรือมีน้ำนมไหลจากเต้านมอีกข้างขณะทารกกินนม (ความรู้สึกนี้ไม่ได้พบในมารดาทุกคน)
  • มารดาอาจรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัวหรือหดเกร็งทุกครั้งเมื่อให้ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งเป็นสัญญาณของการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่มีความเชื่อมโยงกับการไหลของน้ำนม

การพูดคุยกับมารดาถึงความรู้ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสถานการณ์ที่จำเพาะของมารดาในแต่ละคน จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ให้คำปรึกษาประเมินและสามารถทราบถึงวิธีการให้ข้อมูล และการสนับสนุนมารดาที่ดีที่สุด นอกจากนี้ การใช้คำถามปลายเปิด จะช่วยเปิดโอกาสให้มารดาสามารถแสดงข้อที่คำนึงถึงและสิ่งที่มารดามีความกังวลได้1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)