ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระยะแรกของการดำเนินงานตามหลักบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น สองขั้นแรกของบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นพื้นฐานของการดำเนินงาน โดยกำหนดให้มีนโยบายของโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และมีบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมที่สามารถช่วยเหลือมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดของการปฏิบัติทางคลินิกดังนี้1

บันไดขั้นที่ 1: มีนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยที่มีการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเป็นประจำ1

สถาบันเวชศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (The Academy of Breastfeeding Medicine) ได้เสนอต้นแบบของนโยบายโรงพยาบาล  ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากเว็บไซต์ของหน่วยงานและปรับให้มีความเหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลและการให้บริการดูแลมารดาและทารก

บันไดขั้นที่ 2: ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนให้มีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินการตามนโยบายนี้1

หลักสูตรฝึกอบรมขั้นพื้นฐานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการออกแบบโดยองค์การอนามัยโลกและสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

นโยบายและแนวปฏิบัติของโรงพยาบาลมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยอาจช่วยสนับสนุนหรือขัดขวางกระบวนการต่าง ๆ ที่จะช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น ในมารดาที่เลือกที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือ เพื่อให้มั่นใจว่ามารดาจะสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี

ในปี ค.ศ.1989 ได้มีการออกแถลงการณ์เรื่อง “การปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่: การให้การบริการมารดาในบทบาทพิเศษ” โดยเป็นการแถลงการณ์ร่วมขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับโรงพยาบาลและศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ซึ่งในการแถลงการณ์นี้ได้อธิบายถึง “บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ที่เป็นพื้นฐานการดำเนินการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (Baby-Friendly Hospital Initiative หรือใช้ตำย่อว่า BFHI)  กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนการจัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรและพัฒนานโยบายของโรงพยาบาลตามความสมัครใจ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาและทารก ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการจัดทำหน่วยการเรียนรู้การศึกษาด้วยตนเองรุ่นที่ 3  โดยมีโรงพยาบาลเกือบ 20,000 แห่งทั่วโลกได้เข้าร่วมโครงการดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลหลายแห่งจะยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีการดำเนินการตามนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

การสอบถามเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลูกคนก่อนมีความสำคัญ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในมารดาครรภ์หลังอาจเคยให้นมลูกในทารกคนก่อน แต่หยุดไปเพราะประสบปัญหา การสอบถามมารดาเกี่ยวกับประวัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ชี้แจงมารดาทราบว่า ปัญหาส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ โดยมีแหล่งข้อมูลในโรงพยาบาลและในชุมชนที่จะคอยให้การสนับสนุน และมารดาควรได้รับการชื่นชมยกย่องที่เลือกให้นมลูกใหม่ในทารกคนนี้  โดยมารดาควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษเพื่อให้แน่ใจว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครั้งนี้จะเป็นไปด้วยดีทั้งขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลและเมื่อกลับบ้าน รวมทั้งอาจมีการแจ้งผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมให้ปรึกษาในกรณีที่มีปัญหาซับซ้อน1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ปัญหาเกี่ยวกับเต้านมและการเคยผ่าตัดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในการดูแลมารดาและวางแผนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรมีการสอบถามมารดาเกี่ยวกับปัญหาที่มีที่เต้านม ได้แก่ การคลำพบก้อน การทำการตรวจชิ้นเนื้อของเต้านม การที่มารดาเคยมีปัญหาหรือเคยได้รับการผ่าตัดมาก่อนตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ จากนั้นทำการตรวจเต้านม ตรวจดูก้อน และการเปลี่ยนแปลงของเต้านมที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ว่าเป็นไปตามปกติหรือไม่  สำหรับการที่เคยได้รับการดูแลรักษาที่เต้านมมาก่อน ส่วนใหญ่มักไม่ได้ส่งผลเสียที่รุนแรงต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม มารดากลุ่มนี้ควรต้องได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อจะช่วยให้คำปรึกษาที่เหมาะสมตั้งแต่ในระยะแรกในกรณีที่มารดาพบปัญหาในเรื่องการให้นมลูก1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

มารดาจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียนได้หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาอาจจะเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียนไม่สามารถทำไปพร้อม ๆ กันได้ การให้คำแนะนำแก่มารดาว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังสามารถทำต่อไปได้ แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งต้องการการวางแผนและพูดคุยในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยหากมารดาเลือกที่จะบีบหรือปั๊มเก็บน้ำนมและฝากไว้ให้ผู้ดูแลป้อนนมให้แก่ทารก มารดาควรจะได้รับข้อมูล เรียนรู้ที่เรื่องการบีบน้ำนมด้วยมือหรือการปั๊มนม และวิธีการเก็บรักษาน้ำนมไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียน (ซึ่งตามหลักการแล้ว ควรมีการพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์)1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)