คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจสังเกตมารดาขณะให้นมลูก

การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก เป็นสิ่งสำคัญในการตรวจหาสาเหตุของการเจ็บหัวนม ดังนั้น “แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรตรวจสังเกตมารดาขณะให้นมลูกเสมอก่อนที่จะให้การวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บหัวนม” โดยการสังเกตมารดาให้นมลูกจะทำเพื่อประเมินว่ามารดาให้ทารกอมหัวนมและลานนมหรือทำการเข้าเต้า และให้ทารกดูดกินนมอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการเจ็บหัวนมของมารดา ได้แก่ การจัดท่าให้นมลูกไม่เหมาะสม โดยการตรวจสังเกตการให้นมควรทำการสังเกตจนสิ้นสุดการให้นมโดยใช้แบบสังเกตการให้นมลูก (Breastfeed Observation Aid) ตรวจสอบวิธีการเข้าเต้าของทารก การอ้าปากอมหัวนมและลานนมและการดูดกลืนนม สังเกตว่ามารดาหยุดให้นมทารกหรือทารกหยุดกินนมด้วยตนเอง และสังเกตลักษณะหัวนมว่าเป็นอย่างไรหลังจากสิ้นสุดการให้นม โดยหัวนมดูผิดรูปผิดร่างหรือถูกบีบ แดงหรือมีสีขาวเป็นเส้นหรือไม่

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายของทารก

การตรวจร่างกายพื้นฐาน ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และอาการแสดงชีพ

การตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบ

การตรวจร่างกายที่จำเพาะ ได้แก่ การตรวจริมฝีปาก ปาก และในช่องปากทารก ดูปากแหว่งเพดานโหว่ ดูว่าทารกมีเพดานปากที่สูงหรือไม่ ดูภาวะลิ้นติดและตรวจวัดประเมินความรุนแรงของภาวะลิ้นติด ตรวจดูลิ้นทารกว่ามีฝ้าขาวหรือไม่ ทารกมีลิ้นที่ใหญ่คับปากหรือไม่ ตรวจดูว่ากล้ามเนื้อในช่องปากทารกทำงานปกติหรือมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหรือไม่ รวมทั้งตรวจว่าทารกมีคอเอียงที่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้ทารกเข้าเต้าได้ไม่เหมาะสมและทำให้เจ็บหัวนมได้

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายมารดา

การตรวจร่างกายพื้นฐาน ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และอาการแสดงชีพ

การตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบ

การตรวจร่างกายที่จำเพาะ ได้แก่ การตรวจเต้านม เริ่มต้นด้วยการดูลักษณะ รูปร่าง และพัฒนาการของหัวนม ลานนม และเต้านม การดูสีของหัวนมว่าปกติ เป็นสีแดงอมชมพู เป็นมัน หรือมีสีซีด การมีตุ่มน้ำหรือไขเป็นจุดขาวที่หัวนม การมีหัวนมแตก เป็นสะเก็ด มีน้ำเหลืองหรือหนอง การมีหัวนมบอด สั้น หรือหัวนมใหญ่ การตรวจวัดความยาวหัวนม การดูผิวหนังบริเวณเต้านมว่า มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ หรือแผลที่ต่อเนื่องมาจากหัวนมหรือไม่ การตรวจคลำบริเวณลานนมและเต้านมที่ครบถ้วนอย่างเป็นระบบ มีบริเวณที่บวม ร้อน กดเจ็บ หรือคลำได้ก้อนหรือไม่ และลักษณะ ขอบเขต และความนุ่มแข็งของก้อนเป็นอย่างไร ควรมีการบันทึกลักษณะของหัวนม ลานนม และเต้านม เพื่อประกอบการวินิจฉัย และติดตามการรักษา

การซักประวัติการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การซักประวัติเกี่ยวกับทารก

  • ประวัติความผิดปกติในช่องปาก ได้แก่ การตรวจพบภาวะลิ้นติดในทารก การตรวจพบทารกมีฝ้าขาวในปาก
  • ประวัติทารกมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ได้แก่ การมีคอเอียงแต่กำเนิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
  • ประวัติของการเจริญเติบโตของทารก น้ำหนักทารกแรกคลอด น้ำหนักทารกที่เพิ่มขึ้น หรือการที่ทารกมีน้ำหนักขึ้นช้า

การซักประวัติการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประวัติของการตั้งครรภ์และการคลอด โดยถามตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์จนถึงหลังคลอด เช่น มีการเปลี่ยนแปลง ความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนของหัวนมหรือเต้านม มีหัวนมบอด มีอาการตึงคัดเต้านม มีการคลอดยากและทารกมีคอเอียงจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ (torticollis) หรือไม่

ประวัติส่วนตัว ความเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว การรักษาและการใช้ยา เช่น การตรวจพบก้อนที่เต้านม ประวัติการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา โรคประจำตัวที่มี เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (lupus erythematosus) โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) การรักษา และยาที่มารดาใช้เป็นประจำรวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะ

ประวัติครอบครัว ได้แก่ ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว