
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาและทารกเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถให้คำแนะนำและคำปรึกษา รวมทั้งจัดการนัดติดตามมารดาและทารกได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการหยุดการให้นมแม่ในมารดาและทารกตั้งแต่ในระยะแรกได้ มีข้อแนะนำแนวทางการปฏิบัติดังนี้
??????????????? การประเมินมารดาและทารก
- ทบทวนประวัติการฝากครรภ์ การคลอด ระยะหลังคลอดของมารดาและทารก
- พูดคุยกับมารดาถึงการเริ่มต้นให้ลูกกินนมแม่ว่า ให้ภายใน 30 นาทีแรกหลังคลอดหรือไม่
- มารดาเคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อนไหม
- มารดาให้นมลูกอย่างไรและรู้สึกอย่างไรขณะให้นมลูก
- มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้ออย่างต่อเนื่องและให้นมลูกตามความต้องการหรือไม่
- มารดาได้นำทารกเข้าเต้ากี่ครั้งใน 24-48 ชั่วโมงแรก
- ทารกได้รับอาหารอื่นใดเสริมนอกเหนือจากนมแม่หรือไม่
- มารดาเปลี่ยนผ้าอ้อมทารกกี่ครั้งใน 24 ชั่วโมง
- ทารกถ่ายอุจจาระกี่ครั้งใน 24 ชั่วโมง
- มารดาได้รับประทานยาอะไรเป็นประจำหรือไม่
- สมาชิกในครอบครัวรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
- The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physicians. 2nd edition. 2014.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? นมแม่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ซึ่งเกิดจากการที่นมแม่จะกระตุ้นการดูดซึมสารเหลืองจากลำไส้ทารกให้มีการดูดซึมเพิ่มขึ้น การเกิดภาวะตัวเหลืองจากนมแม่สามารถเกิดได้นานถึง 6-12 สัปดาห์หลังคลอด ทารกไม่มีอาการที่ผิดปกติ หรืออาการที่บ่งถึงการมีเม็ดเลือดแดงที่แตก การเจริญเติบโตเป็นไปตามเกณฑ์ เมื่อเวลาผ่านไป สารที่กระตุ้นการดูดซึมของสารเหลืองในนมแม่จะลดลง ขณะที่การทำงานของตับทารกดีขึ้น ภาวะตัวเหลืองจะหายไปเอง ภาวะตัวเหลืองจากนมแม่มักจะมีค่าสารเหลืองไม่สูง เชื่อว่าค่าสารเหลืองที่ขึ้นเล็กน้อยนี้อาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันการบาดเจ็บต่างๆ ของเนื้อเยื่อ เนื่องจากสารเหลืองนั้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ดังนั้น หากตรวจสอบว่าทารกไม่ได้มีภาวะเหลืองจากสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นอันตราย ภาวะตัวเหลืองจากนมแม่ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลและมารดายังสามารถให้นมแม่ต่อเนื่องไปได้
เอกสารอ้างอิง
- The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physicians. 2nd edition. 2014.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย สาเหตุของภาวะตัวเหลืองที่เกิดในทารกแรกเกิดมีหลากหลาย ได้แก่ การที่ทารกและมารดามีหมู่เลือดที่ไม่เข้ากัน ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจาก G6PD การติดเชื้อ การได้รับยาบางชนิด การกินนมไม่เพียงพอ และภาวะตัวเหลืองจากนมแม่ การกินนมไม่เพียงพอนั้นเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในทารกที่กินนมแม่แล้วมีภาวะตัวเหลือง สาเหตุที่ทำให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลืองจากการกินนมไม่เพียงพอนั้นเกิดจากเมื่อทารกกินนมแม่ได้น้อย การขับถ่ายขี้เทาออกจากร่างกายทารกจะทำได้ช้า ขี้เทาที่อยู่ในลำไส้ของทารกจะมีสารที่ทำให้ทารกตัวเหลือง เมื่อขี้เทาค้างอยู่ในร่างกายทารกนาน การดูดซึมสารที่ทำให้ทารกตัวเหลืองก็มีมาก ทารกที่มีความเสี่ยงในการกินนมไม่พอ มักพบในทารกที่มีการคลอดก่อนกำหนดที่ยังมีพัฒนาการการดูดและการกินนมยังไม่ดี อาจมีการง่วงหลับบ่อย ทำให้กินนมได้ไม่เพียงพอ การป้องกันการเกิดภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุนี้จึงควรให้การใส่ใจในการกินนมของทารกว่าทารกมีการกินนมเพียงพอหรือไม่ ทารกอิ่มสบายหลังกินนม จำนวนครั้งของการขับถ่ายเป็นปกติ และน้ำหนักที่ขึ้นตามเกณฑ์ โดยเฉพาะกรณีที่ทารกคลอดก่อนกำหนด ควรมีการดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด
เอกสารอ้างอิง
- The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physicians. 2nd edition. 2014.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การสร้างน้ำนม กลไกการสร้างจะเริ่มมาตั้งแต่ในช่วงระยะตั้งครรภ์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเต้านม มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มีการขยายหรือตึงคัดของเต้านม ซึ่งโดยทั่วไป มารดาส่วนใหญ่หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารก แต่การประเมินว่าทารกได้รับน้ำนมเพียงพอ มารดาจำเป็นต้องทราบลักษณะที่บ่งบอกว่าทารกได้รับน้ำนมเพียงพอ ได้แก่ การสังเกตว่าทารกกินนมแล้วรู้สึกอิ่ม หลับสบาย ไม่หงุดหงิดหรือร้องกวน ขับถ่ายได้ดี น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์
? ? ? ? ? ? ? ?อย่างไรก็ตาม มีภาวะบางอย่างที่ส่งผลต่อการสร้างน้ำนมที่ทำให้น้ำนมมาช้าหรือมาน้อย ได้แก่ การมีรกค้าง การมีฮอร์โมนของต่อมใต้สมองต่ำ เบาหวาน หรือยาบางชนิด ภาวะเหล่านี้พบน้อย ดังนั้น การมีน้ำนมมาช้าหรือมาน้อยของมารดาจึงไม่ควรพบบ่อย หลักการให้คำปรึกษามารดาที่กังวลเรื่องน้ำนมไม่พอ คือ ควรประเมินความเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำนมมาช้าหรือมาน้อยก่อน หากไม่มี ควรแนะนำการให้ทารกกระตุ้นดูดนมให้บ่อยพอ จัดท่าทารกให้นมให้เข้าเต้าและดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ทารกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า ซึ่งกระบวนการหลักเหล่านี้จะช่วยในเรื่องการสร้างน้ำนมให้เพียงพอได้
เอกสารอ้างอิง
- The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physicians. 2nd edition. 2014.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การดูแลเต้านมเป็นสิ่งพื้นฐานในการให้นมลูกที่มารดาต้องทราบและดูแลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เต้านมมารดาปกติไม่ได้สกปรกหรือเปรอะเปื้อนเชื้อโรคใดๆ การดูแลความสะอาดเพียงเช็ดด้วยน้ำสะอาดก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องล้างด้วยสบู่หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้หัวนมแห้ง ปราศจากน้ำมันที่หล่อลื่นที่สร้างจากต่อมไขมันบริเวณลานนม ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการเจ็บหัวนมและหัวนมแตก นอกจากนี้ หากสบู่มีกลิ่นน้ำหอม อาจทำให้ทารกสับสนกับกลิ่นของหัวนม ลานนม และน้ำนมได้
? ? ? ? ? ? ? ?การใส่ชุดชั้นใน ควรใส่ชุดชั้นในที่ใช้สำหรับการให้นมที่ขนาดพอเหมาะไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้ชุดชั้นในที่พยุงทรงที่มีโครงลวด เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการที่โครงลวดจะไปกดทับเนื้อเยื่อของท่อน้ำนม เกิดการขังของน้ำนม และเกิดภาวะแทรกซ้อนท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบได้ หากมารดาใช้แผ่นซึมซับน้ำนมชนิดใช้แล้วทิ้ง ควรหลีกเลี่ยงชนิดที่เป็นขอบพลาสติก เนื่องจากอาจเสียดสีและทำให้เจ็บหัวนมได้ หากมารดาใช้แผ่นซึมซับน้ำนมชนิดใช้ซ้ำได้ ควรเปลี่ยนแผ่นซึมซับน้ำนมเมื่อมีน้ำนมชุ่ม เพื่อลดความอับชื้นที่เต้านม
เอกสารอ้างอิง
- The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physicians. 2nd edition. 2014.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)