รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบันสื่อข้อมูลความรู้ทางอินเตอร์เน็ตมีการเข้าถึงและใช้กันแพร่หลาย โดยพบว่ามีการเรียนรู้และใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากในประเทศแคนาดา1 สำหรับในประเทศไทย การเข้าโทรศัพท์มือถือราวร้อยละ 80 ดังนั้น โอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลความรู้ในเว็บไซต์ทางอินเตอร์เน็ตก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเตรียมข้อมูลที่จะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเว็บไซต์จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีเพียงพอกับความต้องการของมารดาและครอบครัว มีความทันสมัย และใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมกันนั้นควรมีการพัฒนาให้มารดาและคนในสังคมมีความสามารถในการคิดพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการที่จะรองรับจำนวนข้อมูลที่มากมายและหลากหลายในอินเตอร์เน็ต และสามารถนำสิ่งที่ได้มีใช้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด
เอกสารอ้างอิง
1. Abbass-Dick J, Sun W, Newport A,
Xie F, Godfrey D, Goodman WM. The comparison of access to an eHealth resource
to current practice on mother and co-parent teamwork and breastfeeding rates: A
randomized controlled trial. Midwifery 2020;90:102812.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 จะมีข่าวเกี่ยวกับการที่มารดาหรือครอบครัวขาดรายได้ มีการลักขโมยนมผง และข่าวที่ตามมาคือมีการขอรับบริจาคนมผง ซึ่งหากพิจารณาด้วยเหตุและผลแล้ว การอ้างว่าขาดรายได้ ไม่มีเงินที่จะไปซื้อนมผงให้ลูก ทำให้ต้องไปลักขโมยนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากการให้ข้อมูลในปัจจุบันในโรงพยาบาลที่มารดาไปฝากครรภ์หรือคลอดบุตรจะมีการแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และยังประหยัด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงที่จะเป็นภาระอย่างมากต่อครอบครัว (เฉลี่ยค่านมผงจะประมาณ 4000-8000 บาทต่อเดือน) โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 ที่จะมีการตกต่ำของเศรษฐกิจและมีคนว่างงานที่เพิ่มขึ้น
สำหรับการรับบริจาคหรือขอรับบริจาคนมผงนั้น ก็ไม่สมควร เช่นกัน เนื่องจากการนำนมผงที่บริจาคมีใช้จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดกับทารกได้ เพราะการที่ทารกเดิมเคยได้รับนมแม่และหากมีการใช้นมผง จะทำให้นมแม่ลดลง เมื่อนมที่บริจาคหมดลง จึงเป็นภาระของมารดาและครอบครัวที่จะต้องซื้อนมผงต่อไป นอกจากนี้ นมที่บริจาคมาอาจมีชนิดของนมที่ไม่ตรงกับความต้องการของทารก ขาดฉลากอธิบายวิธีการใช้หรือคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ นมใกล้จะหมดอายุ และปริมาณที่ให้มีจำกัด พร้อมกันนี้มารดาต้องมีความพร้อมในการจัดหาน้ำสะอาดมาเพื่อใช้ในการชงนม ทำให้การรับบริจาคนมผงมาจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหรือผลเสียแก่ทารกมากกว่า1 ยิ่งถ้าเป็นการขอรับบริจาคนมผงจากภาครัฐ ยิ่งแสดงว่าผู้ที่ขอรับบริจาคขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาหารทารกและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ การบริจาคนมผงยังอาจมีความผิดทางกฎหมายของ พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าการแนะนำการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยทั่วไปคือ การสวมหน้ากากอนามัย ดูแลสุขอนามัยโดยการล้างมือบ่อย ๆ และการเว้นระยะห่างทางสังคม แล้วทำไมจึงมีการแนะนำให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะมารดาและทารกจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกันอยู่แล้ว ขณะที่ทารกกินนมแม่ เหตุผลก็เนื่องจากประโยชน์ที่มารดาและทารกจะได้จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อโควิด 19 และความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับนมผงที่ไม่มีความเหมาะสม ไม่สะอาด และมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ1 ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะสร้างผลเสียและเกิดอันตรายกับทารกมากกว่า โดยข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกตัดสินใจอยู่บนหลักพื้นฐานทางการแพทย์ที่ยึดประโยชน์มากกว่าผลเสียที่จะได้รับนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในมารดาที่สงสัยหรือมีการติดเชื้อโควิด 19 ที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว หากมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว การสร้างน้ำนมของมารดาจะตอบสนองและเพียงพอสำหรับความต้องการของทารก จึงไม่มีความจำเป็นที่มารดาต้องเสริมนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพิ่มขึ้น1 แต่มารดาจำเป็นต้องมีการดูแลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทารกโดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และทำความสะอาดบริเวณสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อจากการไอหรือจามของมารดา นอกจากนี้ การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเสริมแก่ทารกจะทำให้ทารกกินนมแม่น้อยลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการสร้างน้ำนมโดยทำให้น้ำนมแม่ลดลงได้ ดังนั้น มารดาควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อลดความวิตกกังวลว่า “การที่มารดาติดเชื้อโควิด 19 ไม่ได้มีผลเสียต่อการลดปริมาณและคุณค่าที่ทารกและมารดาจะได้รับจากการกินนมแม่เลย”
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาสงสัยมีการติดเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุมที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด 19 เพื่อที่จะได้มีการดูแล เฝ้าดูอาการแทรกซ้อนที่อาจมีอาการรุนแรงและป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น แต่การที่มารดามีการตรวจยืนยันผลการติดเชื้อโควิด 19 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อแนะนำในการกินนมของทารก ทารกที่กินนมแม่อยู่แล้วก็สามารถกินนมแม่ได้ต่อเนื่อง1 ไม่มีความจำเป็นต้องหยุดให้นมแม่ แต่ต้องมีการระวังการแพร่เชื้อไปสู่ทารกคือ มารดาต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และควรทำความสะอาดบริเวณใกล้ที่มารดาอาจไอหรือจามโดยใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ และในกรณีที่มารดามีการตรวจยืนยันพบการติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้มีการตรวจติดตามการปลอดเชื้อในมารดา ซึ่งแสดงว่า มารดาได้หายจากการติดเชื้อโควิด 19 แล้วด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)