คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การให้ลูกกินนมแม่ช่วยป้องกันโรคอ้วนในเด็กเล็ก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในกระบวนการกินนมแม่ ทารกจะต้องออกแรงในการดูดนมจากเต้า แม้ว่าจะมีกลไกน้ำนมพุ่งซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนออกซิโตซินที่จะช่วยให้น้ำนมแม่ไหลจากต่อมน้ำนมมาที่ท่อน้ำนมได้ดี การที่ทารกต้องออกแรงในการดูดนมเมื่อทารกหิว จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้ทารกควบคุมการกินตามความต้องการของตน เมื่อทารกอิ่มทารกก็จะหยุดออกแรงในการดูดนม กระบวนการนี้จะฝึกให้ทารกรู้จักควบคุมการกินและจะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น มีการศึกษาพบว่าทารกที่กินนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กได้ร้อยละ 27-371 โดยที่ยิ่งกินนมแม่เหตุผลได้นาน ยิ่งช่วยป้องกันหรือลดการเกิดโรคอ้วนได้มากขึ้น ดังนั้น การให้ลูกกินนมแม่จึงเป็นเสมือนปราการด่านแรกในการป้องกันการเกิดโรคอ้วนที่จะนำไปสู่การเกิดโรคทางเมตาบอลิกอื่น ๆ และเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

1.        Anderson CE, Whaley SE, Crespi CM, Wang MC, Chaparro MP. Every month matters: longitudinal associations between exclusive breastfeeding duration, child growth and obesity among WIC-participating children. J Epidemiol Community Health 2020;74:785-91.

น้ำนมไม่เพียงพอ เหตุผลที่พบบ่อยในการหยุดให้นมลูก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เหตุผลในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบบ่อย ได้แก่ น้ำนมไม่เพียงพอ1,2 แต่การที่บอกว่ามีน้ำนมไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แล้วพบว่าเป็นเพียงความรู้สึกของมารดามากกว่าจะมีน้ำนมน้อยจริง ดังนั้น การสอนให้มารดารู้จักวิธีประเมินความเพียงพอของน้ำนม หรือมีที่ปรึกษาที่จะช่วยประเมินความเพียงพอของน้ำนมก็จะช่วยลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้ลงได้ โดยทั่วไป หากมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว การสร้างหรือการผลิตน้ำนมแม่จะสร้างเพียงพอกับความต้องการของลูกโดยไม่จำเป็นต้องมีการเสริมนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรืออาหารเสริมอย่างอื่นในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอด การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรือให้อาหารเสริมก่อนเวลาอันควรจะทำให้ทารกอิ่มจากการกินนมผงหรืออาหารเสริม ทำให้กินนมแม่น้อยลง และส่งผลให้นมแม่เหลือคั่งค้างในเต้านม ซึ่งจะทำให้การสร้างน้ำนมลดลง และจะนำไปสู่การเกิดน้ำนมแม่ไม่เพียงพอได้             

เอกสารอ้างอิง

1.        Al-Shahwan MJ, Gacem SA, Hassan N, Djessas F, Jairoun AA, Al-Hemyari SS. A Study to Identify the Most Common Reasons to Wean among Breastfeeding Mothers in UAE. J Pharm Bioallied Sci 2020;12:72-6.

2.        Amaral SAD, Bielemann RM, Del-Ponte B, et al. Maternal intention to breastfeed, duration of breastfeeding and reasons for weaning: a cohort study, Pelotas, RS, Brazil, 2014. Epidemiol Serv Saude 2020;29:e2019219.

อุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัญหาหรืออุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหลังคลอดระยะแรก ได้แก่ การเจ็บหัวนม ซึ่งมักเกิดจากการจัดท่าให้นมลูกที่ไม่เหมาะสม ภาวะลิ้นติดของทารก และการที่มารดามีน้ำนมมาก แต่เมื่อมารดาสามารถผ่านอุปสรรคในช่วงแรกไปได้และมารดาสามารถให้นมลูกได้ดีแล้ว ปัญหาที่พบตามมาคือ มารดาต้องกลับไปทำงาน ซึ่งหากไม่มีการสนับสนุนในที่ทำงานอย่างเหมาะสม ไม่มีการให้มารดาพักเพื่อการบีบเก็บน้ำนม ไม่มีห้องหรือมุมที่ใช้บีบเก็บนมแม่ หรือไม่มีการสนับสนุนอุปกรณ์ที่ช่วยปั๊มนมหรือเก็บรักษานมแม่1 ก็จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการที่มารดาที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหกเดือนแรกหลังคลอด ดังนั้น การที่จะช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งจากโรงพยาบาลที่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของภาครัฐและสถานที่ทำงานที่ส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชน

เอกสารอ้างอิง

1.        Al-Katufi BA, Al-Shikh MH, Al-Hamad RF, Al-Hajri A, Al-Hejji A. Barriers in continuing exclusive breastfeeding among working mothers in primary health care in the ministry of health in Al-Ahsa region, Saudi Arabia. J Family Med Prim Care 2020;9:957-72.

การป้องกันการแพ้นมวัวของทารก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบันมารดาและครอบครัวมักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพ้นมวัวของทารกจากการที่มารดากินนมวัว ทั้ง ๆ ที่การแพ้นมวัวของทารกจากการที่ทารกกินนมแม่ที่มารดากินนมวัวมีอุบัติการณ์ต่ำ และก็ไม่แนะนำให้มารดาเลิกกินนมวัวเพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันการแพ้นมวัวของทารก โดยทั่วไปในมารดาที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรมักมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับแคลเซียมที่เพียงพอสำหรับมารดาและทารก ซึ่งแหล่งที่มาของแคลเซียมที่มารดาจะได้รับส่วนใหญ่จะมาจากอาหาร และนมวัวก็เป็นแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่สูงและสามารถหาซื้อได้ง่าย จึงมีการรับประทานบ่อยเนื่องจากสะดวกในการเข้าถึง อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่า การกินนมแม่อาจจะช่วยลดการแพ้นมวัวในทารกได้จากการศึกษาในหนู เนื่องจากสารในนมวัวที่อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้จะผ่านระบบภูมิคุ้มกันของมารดา ซึ่งจะกระตุ้นแอนติบอดี (antibody) ในร่างกายของมารดาที่จะผ่านน้ำนมไปช่วยลดอาการแพ้นมวัวในทารกได้1 ข้อมูลนี้นั้นก็เป็นข้อมูลที่ยังสนับสนุนและแนะนำให้มารดากินนมวัวและกินอาหารที่มีความหลากหลายในระหว่างการให้นมบุตร             

เอกสารอ้างอิง

1.        Adel-Patient K, Bernard H, Fenaille F, Hazebrouck S, Junot C, Verhasselt V. Prevention of Allergy to a Major Cow’s Milk Allergen by Breastfeeding in Mice Depends on Maternal Immune Status and Oral Exposure During Lactation. Front Immunol 2020;11:1545.

ปัจจัยที่สำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของมารดาที่ต้องทำงาน

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่าการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในสถานพยาบาลที่มารดาทำการคลอดบุตรจะเป็นสิ่งที่สำคัญ และจะมีส่วนช่วยในการเตรียมความพร้อมให้มารดา มีโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสำเร็จ แต่ในมารดาที่จะต้องกลับไปทำงานนั้นยังมีปัจจัยที่สำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจและประสพการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ทำงาน คือ ระยะเวลาที่ให้ลาพักหลังคลอดและนโยบายของสถานที่ทำงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งก็คือ การมีการจัดสถานที่ดูแลเด็กเล็กในระหว่างวันในที่ทำงาน การเปิดให้มีช่วงเวลาพักที่มารดาสามารถบีบหรือปั๊มนมเก็บให้ลูกได้ การมีอุปกรณ์สนับสนุนการปั๊มและการเก็บรักษาน้ำนม การมีสถานที่ที่เหมาะสมให้มารดาสามารถบีบหรือปั๊มนมเก็บได้ นอกจากนี้การสนับสนุนของบุคคลที่อยู่ใครอบครัวยังทีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Abekah-Nkrumah G, Antwi MY, Nkrumah J, Gbagbo FY. Examining working mothers’ experience of exclusive breastfeeding in Ghana. Int Breastfeed J 2020;15:56.