รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
สาเหตุของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใน
1-3 เดือนแรกมักเกิดจากมารดารู้สึกว่านมแม่มีไม่เพียงพอ ส่วนในช่วง 4-6
เดือนมักเกิดจากการกลับไปทำงานของมารดา แต่สำหรับในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีนั้นมีการศึกษาพบว่า
เกิดจากการที่มารดาตัดสินใจในการที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เอง1 อาจเป็นเพราะการขาดความเข้าใจและไม่เห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลัง
6 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังขาดรายละเอียดของข้อมูลที่มารดาเลือกที่หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ดังนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขได้ตรงประเด็น โดยหากเกิดการที่ไม่เห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
การติดตามให้ความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสมก็ควรจะมีการส่งเสริม
เอกสารอ้างอิง
1. Zitkute V, Snieckuviene V, Zakareviciene
J, Pestenyte A, Jakaite V, Ramasauskaite D. Reasons for Breastfeeding Cessation
in the First Year after Childbirth in Lithuania: A Prospective Cohort Study.
Medicina (Kaunas) 2020;56.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การระบาดของเชื้อโควิด 19 เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลของคนทั่วโลก
เนื่องจากการระบาดก่อให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ป่วยพร้อม
ๆ กันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากความไม่เพียงพอของอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยหายใจในกรณีที่ผู้มีอาการรุนแรง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใกล้เข้าช่วงฤดูหนาวที่การระบาดของเชื้อไวรัสมักจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ไม่เพียงแต่การติดเชื้อโควิด 19 แต่การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็อาจจะมีการระบาดไปพร้อม ๆ กัน
ในมารดาที่ตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น
โดยควรมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และใส่หน้ากากอนามัยเพื่อช่วยในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
แต่หากมารดาติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สาม เมื่อครบกำหนดและมารดาได้คลอดบุตรแล้ว
แนะนำให้มารดาควรมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องจากน้ำนมแม่จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด
19 ที่จะผ่านไปสู่ลูกและช่วยป้องกันลูกจากการติดเชื้อโควิด
19 ได้1 ดังนั้น กรณีนี้การแนะนำ ให้ความรู้
และให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวถึงประโยชน์ของการให้ลูกได้กินนมแม่ ควรมีการเผยแพร่
เพื่อให้มารดามีปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
1. Breastfeeding and COVID-19. Bull
Acad Natl Med 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การศึกษาจะเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ คนที่มีระดับการศึกษาที่สูง จะมีโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น มารดาที่มีระดับการศึกษาที่สูง จะมีโอกาสในการเรียนรู้ประโยชน์และเข้าใจถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า และหาสิ่งสนับสนุนที่ช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีกว่า ดังนั้น จึงมีการศึกษาพบว่า ระดับการศึกษามีความสำคัญกับความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนนอกจากนี้ มารดาที่มีระดับการศึกษาต่ำ เศรษฐานะต่ำ และทำงานรับจ้างเต็มเวลา จะมีความสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนมากกว่า1 จะเห็นว่า ปัจจัยเหล่านี้มักสัมพันธ์กันคือ มารดาที่มีระดับการศึกษาสูง มักได้ทำงานที่ดีกว่า เลือกงานได้มากว่า ทำให้มักมีเศรษฐานะที่สูงกว่า ขณะที่มารดาที่มีระดับการศึกษาต่ำ หางานได้ยาก ไม่มีโอกาสที่จะเลือกงาน ทำให้มักพบมีเศรษฐานะที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม การศึกษาในระบบเป็นเพียงการสร้างโอกาสพื้นฐาน ขณะที่ความสนใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จะเป็นการสร้างโอกาสที่ไม่สิ้นสุด
“ดังนั้นในชีวิตมนุษย์ การที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ควรหยุดสร้างโอกาส ซึ่งก็คือ ควรมีการเรียนรู้ตลอดเวลานั่นเอง”
เอกสารอ้างอิง
1. Chimoriya R, Scott JA, John JR,
et al. Determinants of Full Breastfeeding at 6 Months and Any Breastfeeding at 12 and 24 Months
among Women in Sydney: Findings from the HSHK Birth Cohort Study. Int J Environ
Res Public Health 2020;17.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบันมีการศึกษาถึงการแสดงออกของพันธุกรรมผ่านยีน ซึ่งมียีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก ที่ใช้ตรวจสอบหลายตัว ได้แก่ ยีน FTO ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนจากหลายสาเหตุ ยีน CPT1A สัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก โรคไขมันในตับ (fatty liver) และโรคเบาหวาน และยีน PPAR-α ซึ่งจะสัมพันธ์กับการลดหรือป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน มีการนำการแสดงออกของยีนมาใช้ในการตรวจสอบทารกที่กินนมแม่ กินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารก และทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยพบว่า ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก และทารกที่กินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารก จะมีการแสดงออกของยีน FTO และยีน CPT1A มากกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ซึ่งแสดงว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก โรคไขมันในตับ และโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น และมีการแสดงออกของยีน PPAR-α ต่ำกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ซึ่งแสดงว่ามีการป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักเกินต่ำหรือก็คือเสี่ยงต่อการเกิดน้ำหนักเกินนั่นเอง1 ดังนั้น สิ่งนี้แสดงถึง “อาหารสำหรับทารกที่แตกต่างกันมีผลต่อการแสดงออกของพันธุกรรมที่แตกต่างกันด้วย” ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยเหนือพันธุกรรมอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนจะช่วยลดการเกิดโรคอ้วนเพิ่มเติมจากการให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียว
เอกสารอ้างอิง
1. Cheshmeh S, Nachvak SM, Rezvani
N, Saber A. Effects of Breastfeeding and Formula Feeding on the Expression
Level of FTO, CPT1A
and PPAR-alpha Genes in Healthy Infants. Diabetes Metab Syndr Obes 2020;13:2227-37.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคโควิด 19 เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งได้มีการศึกษาถึงธรรมชาติของโรค การวินิจฉัย การรักษาและการป้องกัน โดยในหลาย ๆ ด้านเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับตัวโรคเพิ่มมากขึ้น แต่ในเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีข้อมูลน้อย แม้ว่าจะมีรายงาน 2 รายงานที่มีการพบเชื้อโคโรนาไวรัสในนมแม่ แต่เชื้อที่พบไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเชื้อที่มีชีวิต (ทำให้เกิดโรคในทารกและติดต่อได้) เป็นเชื้อที่ตายแล้วหรือเป็นชิ้นส่วนของเชื้อ (ไม่มีอันตรายต่อทารก) ดังนั้นข้อมูลในเรื่องการติดเชื้อผ่านนมแม่จึงยังไม่มีความชัดเจน และเนื่องจากการแยกมารดาและทารก และการงดการให้ลูกกินนมแม่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและทารกมากกว่า1 ข้อแนะนำขององค์กรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ จึงยังแนะนำให้มารดาที่สงสัยหรือติดเชื้อโควิด 19 สามารถให้นมลูกจากเต้าหรือบีบเก็บน้ำนมแม่ให้ลูกได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเรื่องอาหารสำหรับทารกแรกเกิด ควรจะมีการร่วมปรึกษาระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาและครอบครัว ซึ่งการให้ข้อมูลที่ทันสมัยและถูกต้องควรเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ สำหรัลส่วนการตัดสินใจหลักจะอยู่ที่มารดาและครอบครัว
เอกสารอ้างอิง
1. Cheema R, Partridge E, Kair LR,
et al. Protecting Breastfeeding during the COVID-19 Pandemic. Am J
Perinatol 2020.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)