คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ความรู้สึกของนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลที่เห็นมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินหนึ่งปี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อย่างที่เคยเขียนให้ความรู้อยู่บ่อย ๆ ว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้น นมแม่ก็ยังคงมีประโยชน์แก่มารดาและทารกโดยมีการแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องร่วมกับการให้อาหารเสริมตามวัยจนถึงสองปีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก แต่หากมาดูความรู้สึกของนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลที่เห็น “มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินหนึ่งปี” ที่มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาโดยถามถึงข้อดีและข้อเสียของการให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินหนึ่งปีพบว่า คำตอบที่ได้ถึงร้อยละ 43 พูดถึงผลเสียแก่มารดาโดยทำให้มารดารู้สึกกดดันและผลเสียที่จะเกิดแก่ทารกคือ การมีพัฒนาการที่ช้า ขณะที่คำถามถึงความรู้สึกของนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลต่อการให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินหนึ่งปีพบว่า คำตอบที่ได้ถึงร้อยละ 43 รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจกับการที่มารดามีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินหนึ่งปี คำตอบร้อยละ 34 รู้สึกไม่ใช่เรื่องที่ตนเองจะสนใจ แต่จะพบมีเพียงร้อยละ 71 ที่ตอบว่ารู้สึกดีใจและจะให้คำชื่นชมและสนับสนุนแก่มารดา จากข้อมูลนี้จะเห็นว่า ขนาดนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลที่จะจบไปเป็นบุคลากรทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เกินหนึ่งปี และมีทัศนคติในแง่ลบหรือไม่ใช่เรื่องที่ตนเองจะสนใจรวม ๆ แล้วถึงร้อยละ 77 ดังนั้น การที่จะเกิดการสนับสนุนให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินหนึ่งปีจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ที่เหมาะสมเพิ่มเติมแก่บุคลากรทางการแพทย์ และส่งเสริมให้มีทัศนคติในแง่บวกกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินหนึ่งปี เพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติตนของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ที่จะสนับสนุนและเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ดีขึ้นกว่าที่มีในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

1.        Zhuang J, Hitt R, Goldbort J, Gonzalez M, Rodriguez A. Too Old to Be Breastfed? Examination of Pre-Healthcare Professionals’ Beliefs About, and Emotional and Behavioral Responses toward Extended Breastfeeding. Health Commun 2020;35:707-15.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงของมารดาต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์แก่มารดาและทารกหลายด้าน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับการป้องกันความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาวได้พบมีการศึกษาในก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พบว่า การที่มารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ เบาหวานและความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ มีทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า มีการคลอดก่อนกำหนด และมีรกลอกตัวก่อนกำหนดที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในช่วงหกเดือนหลังคลอดได้1  ดังนั้น การให้ข้อมูลแก่มารดาถึงประโยชน์ที่จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มมารดาที่มีความเสี่ยงสูงจะทำให้มารดาเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.            Yu J, Pudwell J, Dayan N, Smith GN. Postpartum Breastfeeding and Cardiovascular Risk Assessment in Women Following Pregnancy Complications. J Womens Health (Larchmt) 2020;29:627-35.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับภาวะโลกร้อน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีส่วนในการลดภาวะโลกร้อนได้ เนื่องจากการลดการใช้วัสดุที่จะเปลี่ยนไปเป็นขยะที่ต้องการการกำจัดทำลาย ไม่ว่าจะเป็นขวดหรือจุกนม ถุงหรือกระป๋องใส่นมผง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีข้อมูลรายงาน คือ ร้อยละ 23  ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 65 เมียนม่าร้อยละ 51 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 33 เวียดนามร้อยละ 241  ดังนั้นสังคมไทยควรจะมีการตื่นตัว ร่วมด้วยช่วยกันในการรณรงค์ปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อช่วยในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของทั้งมารดาและทารก พร้อมกับช่วยรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Zadkovic S, Lombardo N, Cole DC. Breastfeeding and Climate Change: Overlapping Vulnerabilities and Integrating Responses. J Hum Lact 2020:890334420920223.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคลอดใกล้ครบกำหนด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ทารกคลอดใกล้ครบกำหนด แม้ส่วนหนึ่งจะสามารถปรับตัวได้และมีความพร้อมเหมือนกับทารกที่คลอดครบกำหนด แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากขาดความพร้อม การให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบ่อย ๆ ในทารกที่คลอดใกล้ครบกำหนดจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทของทารกและพบว่า จะช่วยเพิ่มทารกมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงขึ้นประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับทารกที่มารดาไม่ได้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในช่วงหกสัปดาห์หลังคลอด1 ดังนั้น การให้ควรรู้กับมารดาถึงประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และจัดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบ่อย ๆ โดยจัดให้เป็นกระบวนการที่ทำเป็นประจำในช่วงหลังคลอดก็จะเป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Zhang B, Duan Z, Zhao Y, et al. Intermittent kangaroo mother care and the practice of breastfeeding late preterm infants: results from four hospitals in different provinces of China. Int Breastfeed J 2020;15:64.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดอัตราการเสียชีวิตของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อัตราการเสียชีวิตของทารกจะสูงในช่วง 1-2 ปีแรกในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก หลังจากนั้นนมแม่ก็ยังคงมีประโยชน์ ควรกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งจากข้อแนะนำนี้พบว่า ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่และทารกที่กินนมแม่น้อยกว่าหกเดือนมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าทารกที่กินนมแม่นาน 1-2 ปีถึง 2.8-5.3 เท่า1 ดังนั้น นี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งควรสนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่นานถึง 2 ปีและควรมีการแจ้งให้มารดาเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญนี้เพื่อคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ตามคำแนะนำหรือนานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.            Zhao M, Wu H, Liang Y, Liu F, Bovet P, Xi B. Breastfeeding and Mortality Under 2 Years of Age in Sub-Saharan Africa. Pediatrics 2020;145.