รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวมีความสำคัญ ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์ขาดความเชื่อมั่นในการให้คำปรึกษาก็จะมีผลต่อการตัดสินใจและการดูแลให้ทารกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง การจัดการอบรมให้ความรู้ และการฝึกให้บุคลากรมีทักษะในการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องจะช่วยเสริมพลังและสร้างความมั่นใจในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี1 ซึ่งจะเป็นข้อห้ามในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากในพื้นที่ที่มารดาอยู่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ AFASS ขององค์การอนามัยโลกได้ ซึ่งย่อมาจาก Acceptable, Feasible, Affordable, Sustainable และ Safe คือ การมีนมผงดัดแปลงที่เหมาะสมยอมรับได้สำหรับทารก และมีความเป็นไปได้ที่จะจัดหาเพียงพอโดยสามารถเตรียมนมชงได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรูปแบบการเรียนในปัจจุบัน การเรียนการสอนออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น จึงควรมีการศึกษาถึงวิธีที่จะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพดีและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้
เอกสารอ้างอิง
1. Doherty T, Horwood C, Haskins L, et
al. Breastfeeding advice for reality: Women’s perspectives on primary care
support in South Africa. Matern Child Nutr 2020;16:e12877.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความตื่นตัวในเรื่องภาวะลิ้นติดเริ่มมีในหลายประเทศ ซึ่งล่าสุดมีการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศบราซิล โดยพบอุบัติการณ์ของภาวะลิ้นติดร้อยละ 2.6-11.7 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการวินิจฉัย และพบว่าภาวะลิ้นติดมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยากขึ้นประมาณ 2 เท่า1 สำหรับในประเทศไทยพบอุบัติการณ์ร้อยละ 13.4 ซึ่งจะพบทารกที่มีการเข้าเต้ายากในกลู่มที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางถึงรุนแรงที่พบประมาณครึ่งหนึ่งของอุบัติการณ์2 โดยหากมีการให้คำปรึกษาและดูแลมารดาและทารกอย่างเหมาะสม จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
1. do
Rego Barros de Andrade Fraga M, Azoubel Barreto K, Barbosa Lira TC, Aparecida
de Menezes V. Is the Occurrence of Ankyloglossia in Newborns Associated with
Breastfeeding Difficulties? Breastfeed Med 2020;15:96-102.
2. Puapornpong
P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching
on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai
2014;97:255-9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในยุคที่มารดาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปการแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขององค์การอนามัยโลกคือ แนะนำให้นมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรกหลังคลอด จากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาหรือทารก ขณะที่การลาพักหลังคลอดของข้าราชการ ลูกจ้างหรือกลุ่มแรงงานจะลาพักหลังคลอดได้โดยมีการจ่ายเงินเดือน 90 วัน โดยขณะที่มารดามีความจำเป็นต้องกลับมาทำงานยังอยู่ในช่วงที่แนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียว ดังนั้น หากในครอบครัวขาดคนที่จะช่วยเหลือดูแลให้ทารกกินนมแม่ที่ได้จากการบีบเก็บหรือปั๊มนม การที่มารดาต้องนำทารกไปฝากคนอื่นดูแลหรือฝากศูนย์เด็กเล็ก ส่วนใหญ่ทารกจะได้รับการป้อนนมจากนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ดังนั้น ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมควรร่วมกันสื่อสาร จัดนโยบายและระบบให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 เพื่อให้ทารกได้รับประโยชน์สูงสุดจากการได้กินนมแม่ที่เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับทารก
เอกสารอ้างอิง
1. Dieterich R, Caplan E, Yang J,
Demirci J. Integrative Review of Breastfeeding Support and Related Practices in
Child Care Centers. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2020;49:5-15.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะป้องกันการเกิดท้องเสียในทารกที่จะเป็นอันตรายและทำให้เกิดการเสียชีวิตของทารกได้ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาถึงผลของระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อการป้องกันการเกิดท้องเสียจากการติดเชื้อโดยเปรียบเทียบการกินนมแม่ของทารกที่ 3 เดือน 6 เดือน และ 6 ถึง 12 เดือน พบว่า ทารกที่หยุดนมแม่เร็วจะพบมีท้องเสียจากการติดเชื้อสูงกว่าทารกที่หยุดการกินนมแม่ช้า เท่ากับว่าทารกที่กินนมแม่นานกว่าจะมีท้องเสียจากการติดเชื้อที่ต่ำกว่า ซึ่งแสดงถึงผลของระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดท้องเสียจากการติดเชื้อที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่า ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะพบมีท้องเสียจากการติดเชื้อสูงกว่าทารกที่กินนมแม่ด้วย โดยผลสรุปจากการศึกษานี้พบว่าทั้งรูปแบบของการให้อาหารสำหรับทารกแรกเกิด และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อความสามารถในการป้องกันการเกิดท้องเสียจากการติดเชื้อของทารก1
เอกสารอ้างอิง
1. Diallo AF, McGlothen-Bell K, Lucas
R, et al. Feeding modes, duration, and diarrhea in infancy: Continued evidence
of the protective effects of breastfeeding. Public Health Nurs 2020;37:155-60.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ความรู้ถึงเหตุผลความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญในการที่มารดาจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเห็นว่าในมารดาที่ไม่มีมีการฝากครรภ์หรือขาดการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำกว่า โดยที่อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเห็นได้จากมารดาที่เคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีอัตราความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สูงกว่า และยังพบความสำคัญของทั้งสองปัจจัยนี้การศึกษาในประเทศเนปาล ซึ่งจะพบความแตกต่างของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างกลุ่มที่มีความรู้และทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และกลุ่มที่ขาดความรู้และทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรจัดระบบหรือโปรแกรมเพื่อปิดช่องว่างของการขาดความรู้และทักษะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
1. Dharel D, Dhungana R, Basnet S, et
al. Breastfeeding practices within the first six months of age in mid-western
and eastern regions of Nepal: a health facility-based cross-sectional study.
BMC Pregnancy Childbirth 2020;20:59.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)