คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การชักชวนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่านมแม่จะมีประโยชน์และเหมาะสมที่สุดในการเป็นอาหารสำหรับทารก แต่กระบวนการที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีความสำคัญ การพูดเชิญชวนหรือชักจูงให้มารดาสนใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยบุคลากรทางการแพทย์ยังมีความจำเป็น เปรียบเสมือนการขายของ แม้จะมีสินค้าที่ดีแต่หากขาดการโฆษณาเชิญชวนถึงคุณภาพหรือคุณประโยชน์ที่จะได้จากการใช้สินค้านั้น ความสนใจของคนที่จะตัดสินในการเลือกใช้สินค้านั้นก็อาจจะน้อยลง มีการศึกษาถึงการพูดเชิญชวนสั้น ๆ ให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่ามีผลในการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ ผลของการศึกษาพบว่า การพูดเชิญชวนหรือชักจูงให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเพิ่มระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1 ดังนั้น การใส่ใจกับการพูดเพียงเล็กน้อยของบุคลากรทางการแพทย์ก็อาจช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

1.            Franco-Antonio C, Calderon-Garcia JF, Santano-Mogena E, Rico-Martin S, Cordovilla-Guardia S. Effectiveness of a brief motivational intervention to increase the breastfeeding duration in the first 6 months postpartum: Randomized controlled trial. J Adv Nurs 2020;76:888-902.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการแพ้อาหารได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของมารดาและทารกในหลาย ๆ ด้าน โดยสำหรับทารกจะช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ นอกเหนือจากนี้ การกินนมแม่ยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในด้านการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ ลดการเกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืด และยังมีการศึกษาที่พบว่า การที่ทารกกินนมแม่โดยเฉพาะการกินหัวน้ำนม (colostrum) จะช่วยป้องกันการเกิดการแพ้อาหารได้ในทารกที่มีความเสี่ยงสูงที่มีผื่นแพ้ในวัยทารก (infantile eczema) ได้1 ดังนั้น ในมารดาที่มีอาการแพ้แล้ววิตกกังวลว่า ทารกจะมีอาการแพ้เหมือนกับมารดาหรือไม่ การให้คำปรึกษาโดยการแนะนำให้ทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม น่าจะส่งผลดีต่อทารกและอาจช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาลงได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Matsumoto N, Yorifuji T, Nakamura K, Ikeda M, Tsukahara H, Doi H. Breastfeeding and risk of food allergy: A nationwide birth cohort in Japan. Allergol Int 2020;69:91-7.

แนวทางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ปรับปรุง 27/5/20

พบเชื้อโควิด 19 ในนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในช่วงระยะตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 สถาบันที่ดูแลเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคยังคงแนะนำให้มารดาที่มีการติดเชื้อโควิด 19 สามารถให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยอาจจะเลือกให้ทารกกินนมแม่จากเต้า หรือใช้การบีบหรือปั๊มนมแล้วนำมาให้ทารก โดยมารดาต้องมีการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือและดูแลอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้น้ำนมให้มีความสะอาดปราศจากเชื้อ เนื่องจากยังไม่พบว่ามีข้อมูลการตรวจพบเชื้อโควิดในนมแม่ แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีรายงานการตรวจพบเชื้อโควิดในนมแม่ในมารดาที่มีการติดเชื้อโควิด ซึ่งพบในช่วงสัปดาห์ที่สองของการให้นม1 ขณะนี้จึงเกิดคำถามว่า “หากมีการพบเชื้อโควิดในนมแม่แล้ว มารดายังสามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อไปได้หรือไม่?”

คำตอบในเรื่องนี้ คงต้องใช้หลักเปรียบเทียบประโยชน์ของการที่ทารกได้กินนมแม่ เทียบกับความเสี่ยงของทารกที่จะเกิดอันตรายจากการติดเชื้อโควิด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโรคที่เรามีข้อมูลที่มากกว่าสองโรค คือ ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี และมารดาที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งหากแนวโน้มของข้อมูลเป็น

ในกรณีแรกเหมือนมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี จากข้อมูลของการติดเชื้อเอชไอวี ทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้น การแนะนำจึงแนะนำให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหากอยู่ในพื้นที่ที่สามารถจัดหานงผงได้เพียงพอ ต่อเนื่อง และมีการเตรียมนมผงได้โดยปลอดภัย แต่หากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถจัดหานมผงได้อย่างเหมาะสม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็สามารถทำได้

ในกรณีที่สองเหมือนกับไวรัสตับอักเสบบี จากข้อมูลของไวรัสตับอักเสบบี การที่ให้ทารกกินนมแม่หรือกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การติดเชื้อที่พบในทารกไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ยังคงแนะนำให้ทารกกินนมแม่แม้มารดาเป็นภาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในนมแม่

ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมอาจต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เรามีความเข้าใจในเรื่องของโรคและการติดเชื้อสู่ทารกมากขึ้น แต่ขณะนี้ การแนะนำการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกในพื้นที่ที่สามารถจัดหานมผงได้อย่างเหมาะสมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องให้ข้อมูลเหล่านี้แก่มารดาและครอบครัวเพื่อการตัดสินใจร่วมกัน และเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้ลักษณะของโรคเพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลมารดาและทารกได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

1.        Gross R, Conzelmann C, Muller JA, et al. Detection of SARS-CoV-2 in human breastmilk. Lancet 2020.

อารมณ์ที่ผิดปกติของมารดา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระหว่างการตั้งครรภ์มารดาอาจมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายได้ แต่หากมารดามีความผิดปกติทางอารมณ์มาก จะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่ สอบถามมารดาเกี่ยวกับอารมณ์ของมารดาระหว่างการตั้งครรภ์จึงมีส่วนสำคัญในการทำนายถึงความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร และทำนายการเกิดภาวะหลังคลอดได้ ซึ่งในมารดาที่มีความเสี่ยงสูงการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับมารดาร่วมกับการเอาใจใส่ของครอบครัวจะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ด้วยดี โดยยังคงประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยในเรื่องการศึกษาของมารดามีผลต่อความสัมพันธ์เหล่านี้1 โดยมารดาที่มีการศึกษาสูงจะไม่พบความสัมพันธ์ของความผิดปกติทางอารมณ์ระหว่างการตั้งครรภ์ การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจเป็นเพราะการศึกษาอาจมีผลต่อการปรับตัวของมารดาที่เหมาะสมกว่า และมีผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Farias-Antunez S, Santos IS, Matijasevich A, de Barros AJD. Maternal mood symptoms in pregnancy and postpartum depression: association with exclusive breastfeeding in a population-based birth cohort. Soc Psychiatry Psychiatr Epidemiol 2020;55:635-43.