รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในยุคโบราณก่อนกำเนิดสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 250 ล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตจะออกลูกเป็นไข่ ซึ่งจะมีอาหารสำรองอยู่ในไข่แดงที่มีความจำกัด ทำให้ลูกของสิ่งมีชีวิตต้องพยายามมีวิวัฒนาการเพื่อการดำรงชีพให้เร็ว เพื่อเอาตัวรอดจากนักล่าอื่น ๆ หลังจากที่คลอดหรือออกจากไข่ วิวัฒนาการของนมแม่เกิดขึ้นเพื่อต่อยอดให้ลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลังจากที่อาหารในไข่แดงหมดลงแล้ว แม้ลูกของสิ่งมีชีวิตนั้นจะยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี1 การเกิดขึ้นของวิวัฒนาการของรกที่ถ่ายทอดอาหารจากแม่สู่ลูก และการพัฒนาการในการสร้างต่อมน้ำนมจึงเป็นกลไกรองรับเพื่อให้ลูกของสิ่งมีชีวิตสามารถมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการมีพัฒนาการเพื่อเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมที่มีผู้ล่าและผู้ถูกล่า
สำหรับต่อมน้ำนมเชื่อว่าวิวัฒนาการมาจากต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่อที่ผิวหนัง กลไกของการหลั่งน้ำมนมจะควบคุมโดยสมดุลของฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งจะส่งผลในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ขณะที่แม่ให้นมลูกจะมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่อยู่บนผิวของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงมีวิวัฒนาการที่จะสร้างให้ลูกของสิ่งมีชีวิตมีภูมิคุ้มกันต้านการติดเชื้อผ่านนมแม่เพื่อช่วยให้ลูกของสิ่งมีชีวิตรอดจากการติดเชื้อ1 โดยวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในลักษณะต่าง ๆ จะช่วยให้แม่ปกป้องลูก และช่วยให้เกิดการดำรงเผ่าพันธุ์ได้ดี เมื่อมาพิจารณาข้อมูลในมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากพื้นฐานเหล่านี้ นมแม่จึงเป็นแหล่งอาหารที่ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับทารกแรกเกิด และมีการสร้างภูมิคุ้มกันต้านการติดเชื้อที่ถ่ายทอดจากมารดาผ่านการกินนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่มารดาควรให้แก่ทารกทุกราย ยกเว้นเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งห้ามในการกินนมแม่เท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
1. Fewtrell MS, Mohd Shukri NH, Wells
JCK. ‘Optimising’ breastfeeding: what can we learn from evolutionary,
comparative and anthropological aspects of lactation? BMC Med 2020;18:4.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ความรู้และทักษะในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญ โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวจะมีหลายลำดับตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในชุมชน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในชุมชน ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขที่อยู่ในชุมชนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่จะช่วยในการติดตามและให้การดูแลมารดาหลังคลอดให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีตัวอย่างการศึกษาในแอฟริกาใต้พบว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในชุมชนเพื่อที่จะให้สามารถสนับสนุนให้มารดาหลังคลอดหนึ่งคนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง1 ซึ่งหากทำการศึกษาแล้วพิจารณาโดยการมองเพียงค่าใช้จ่ายอย่างเดียว อาจไม่เหมาะสม เนื่องจากขาดการศึกษาถึงความคุ้มค่าในลงทุนที่จะทำให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากการอบรมบุคลากรทางการแพทย์ โดยหากมีการศึกษาแล้วพบว่ามีความคุ้มค่า การลงทุนในเรื่องเหล่านี้ก็น่าสนับสนุน เพื่อเป็นการสร้างรากฐานของการสนับสนุนการดูแลสุขภาพมารดาและทารกในชุมชนโดยผ่านการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรจะมีการนำมาศึกษาในประเทศไทยมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. George G, Mudzingwa T, Horwood C. The cost of the
training and supervision of community health workers to improve exclusive
breastfeeding amongst mothers in a cluster randomised controlled trial in South
Africa. BMC Health Serv Res 2020;20:76.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ในการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การคัดกรองมารดาและจัดกลุ่มมารดาตามความเสี่ยงในการที่จะมีการหยุดนมแม่ก่อนเวลาอันควร จะเป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดลงไปให้การดูแลในกลุ่มเสี่ยงที่มีความน่าจะเป็นในการหยุดนมแม่ก่อนเวลาอันควรสูง ซึ่งในการจัดระบบเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีความเสี่ยง มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จคือ ทักษะการให้คำปรึกษาของบุคลากรและลักษณะการให้คำปรึกษาที่ไม่มีการตัดสินว่ามารดาเลือกได้ดีหรือไม่ดี (non-judgmental manners)1 ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ควรมีการจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ให้มีทักษะในการให้คำปรึกษาสูงและมีความมั่นใจในการที่จะให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัว ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. Francis J, Mildon A, Stewart S, et al. Vulnerable
mothers’ experiences breastfeeding with an enhanced community lactation support
program. Matern Child Nutr 2020:e12957.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อการอย่างเดียวมีต่ออัตราและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาที่มีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานพบว่า จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่ามารดาที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้น แล้วปัจจัยอะไรที่มีผลต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาในประเทศบราซิลถึงปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน ขณะที่ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหรือสัมพันธ์กับความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้น ได้แก่ มารดาที่ไม่มีคู่ครองอยู่ด้วย มารดาที่ต้องกลับไปทำงานเพื่อหารายได้ และมารดาที่สูบบุหรี่1 จากข้อมูลเหล่านี้ บุคลากรทางการแพทย์อาจในปัจจัยที่เกี่ยวข้องไปใช้ในการประเมินความเสี่ยงของมารดาที่จะมีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้น ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Fernandes RC, Hofelmann DA. Intention to breastfeed among
pregnant women: association with work, smoking, and previous breastfeeding
experience. Cien Saude Colet 2020;25:1061-72.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
แม้ว่าอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีหลายอย่าง ได้แก่ การให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การให้ทารกกินน้ำ การเจ็บหัวนม การเจ็บป่วยของมารดาและทารก และการกลับไปทำงานของมารดา แต่ปัจจัยที่จะช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องก็คือ การให้คำปรึกษาของบุคลากรทางการแพทย์1 ซึ่งหากมีการให้คำปรึกษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคที่ต้องเผชิญและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ ดังนั้น การจัดการอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพและทักษะในการให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีการจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในการให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Gasparin VA, Strada JKR, Moraes BA, Betti T, Pitilin EB,
Santo L. Factors associated with the maintenance of exclusive breastfeeding in
the late postpartum. Rev Gaucha Enferm 2020;41:e20190060.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)