คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การจัดมารดาอาสาช่วยเหลือมารดาครรภ์แรกช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาครรภ์แรกถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร เนื่องจากมารดาขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีโอกาสที่จะขาดความเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาโดยการจัดมารดาอาสาที่เป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาครรภ์แรกผ่านเว็บไซด์พบว่า การจัดมารดาอาสาช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลักษณะนี้สามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกในมารดาครรภ์แรกได้ถึง 3 เท่า1 ดังนั้น การเอาใจใส่และจัดรูปแบบการสนับสนุนในมารดาครรภ์แรกที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Gonzalez-Darias A, Diaz-Gomez NM, Rodriguez-Martin S, Hernandez-Perez C, Aguirre-Jaime A. ‘Supporting a first-time mother’: Assessment of success of a breastfeeding promotion programme. Midwifery 2020;85:102687.

การขาดความเชื่อมั่นมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาที่มีความเชื่อมั่นว่าสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า การที่มารดาที่ความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเกิดจากการที่มารดามีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน หรือมารดาได้รับการอบรมและฝึกทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนเกิดความมั่นใจว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยความเชื่อมั่นจะทำให้มารดามุ่งมั่นและฝ่าฟันอุปสรรคที่พบจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในทางกลับกัน มารดาที่ขาดความเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า ซึ่งอาจพิจารณาว่ามารดาเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ดังนั้น จึงอาจนำปัจจัยเรื่องการขาดความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาใช้ในการคัดกรองความเสี่ยงของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร1 และทำการนัดติดตามมารดากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาที่เหมาะสมและช่วยให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Gonzales AM, Jr. Breastfeeding Self-Efficacy of Early Postpartum Mothers in an Urban Municipality in the Philippines. Asian Pac Isl Nurs J 2020;4:135-43.

มารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีการศึกษาพบว่า มารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์จะมีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า และมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นกว่ามารดาที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดผลนี้ นอกจากจะมีสาเหตุจากความกังวลเรื่องผลเสียของการสูบบุหรี่แล้ว ยังพบว่ายังอาจมีสาเหตุมาจากมารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์มักมีอายุที่น้อยกว่าและมีระดับการศึกษาที่น้อยกว่า1 โดยปัจจัยเหล่านี้ จะสัมพันธ์กับการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยและมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นด้วย การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหานี้ที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลย

เอกสารอ้างอิง

1.        Godleski SA, Shisler S, Eiden RD, Schuetze P. Maternal Smoking and Psychosocial Functioning: Impact on Subsequent Breastfeeding Practices. Breastfeed Med 2020.

ทารกที่กินนมมารดาที่กินเหล้า ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มีผลเสียต่อทารกในครรภ์และทารกที่กินนมแม่ โดยทั่วไปไม่แนะนำให้มารดาดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หากมารดาตั้งครรภ์หรือมีทารกกินนมแม่ ในมารดาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์การหยุดหรือลดการดื่มให้ไม่เกินหนึ่งดื่มมาตรฐานจะลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาผลในระยะยาวของทารกที่กินนมแม่ในมารดาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์พบว่า ทารกที่กินนมแม่ในมารดาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา จะมีความสามารถในการเรียนรู้ทั้งด้านภาษาและตัวเลขลดลง1 การให้ข้อมูลเหล่านี้แก่มารดาและครอบครัวอาจช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นและลดหรือหยุดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Gibson L, Porter M. Drinking or Smoking While Breastfeeding and Later Academic Outcomes in Children. Nutrients 2020;12.

การใช้เครื่องตรวจการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าวินิจฉัยภาวะลิ้นติด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ภาวะลิ้นติดเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีผลทำให้มารดาเกิดการเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนม ทำให้เกิดการเข้าเต้ายาก และส่งผลให้ทารกกินนมได้ไม่ดี จึงทำให้ทารกมีน้ำหนักขึ้นน้อยได้ โดยทั่วไป การวินิจฉัยภาวะลิ้นติดมีวิธีการวินิจฉัยในหลากหลายเกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ของ Hazelbaker เกณฑ์ของ Kotlow เกณฑ์การวินิจฉัยของศิริราช และการใช้เครื่องมือ MEDSWU Tongue-tie director ที่เป็นเครื่องมือที่คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒได้ทำการพัฒนาเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความสะดวกและมั่นใจในการวินิจฉัยภาวะลิ้นติด นอกจากนี้ มีการศึกษาในประเทศบราซิลที่พยายามจะใช้เครื่องมือวัดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าวัดการทำงานของกล้ามเนื้อ Greater suprahyoid ที่ทำหน้าที่ขณะที่ทารกดูดและกินนมในการวินิจฉัยภาวะลิ้นติด1 ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า การใช้เครื่องมือวัดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสามารถทำการวินิจฉัยการจำกัดการเคลื่อนไหวของลิ้นที่จะเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะลิ้นติดได้ อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรฐานและความยุ่งยากในการแปลผลยังอาจเป็นอุปสรรคในการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในคลินิก

เอกสารอ้างอิง

1.        Franca ECL, Albuquerque LCA, Martinelli RLC, Goncalves IMF, Souza CB, Barbosa MA. Surface Electromyographic Analysis of the Suprahyoid Muscles in Infants Based on Lingual Frenulum Attachment during Breastfeeding. Int J Environ Res Public Health 2020;17.