คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การซักประวัติการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การซักประวัติเกี่ยวกับทารก

  • ประวัติความผิดปกติในช่องปาก ได้แก่ การตรวจพบภาวะลิ้นติดในทารก การตรวจพบทารกมีฝ้าขาวในปาก
  • ประวัติทารกมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ได้แก่ การมีคอเอียงแต่กำเนิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
  • ประวัติของการเจริญเติบโตของทารก น้ำหนักทารกแรกคลอด น้ำหนักทารกที่เพิ่มขึ้น หรือการที่ทารกมีน้ำหนักขึ้นช้า

การซักประวัติการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประวัติของการตั้งครรภ์และการคลอด โดยถามตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์จนถึงหลังคลอด เช่น มีการเปลี่ยนแปลง ความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนของหัวนมหรือเต้านม มีหัวนมบอด มีอาการตึงคัดเต้านม มีการคลอดยากและทารกมีคอเอียงจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ (torticollis) หรือไม่

ประวัติส่วนตัว ความเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว การรักษาและการใช้ยา เช่น การตรวจพบก้อนที่เต้านม ประวัติการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา โรคประจำตัวที่มี เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (lupus erythematosus) โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) การรักษา และยาที่มารดาใช้เป็นประจำรวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะ

ประวัติครอบครัว ได้แก่ ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว

การซักประวัติการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประวัติของการเจ็บหัวนม โดยซักถึงรายละเอียดของการเจ็บหัวนมว่ามีอาการเริ่มเจ็บเมื่อไร ตอนไหน หากเป็นขณะให้นมลูกแล้ว เจ็บมากตอนเริ่มต้นและเมื่อเวลาผ่านไปขณะทารกดูดนม อาการเจ็บยังคงเท่าเดิม ดีขึ้นหรือแย่ลง หรือเจ็บขณะที่ทารกหยุดกินนมและคายหัวนมออก ลักษณะของอาการเจ็บเป็นอย่างไร เจ็บจี๊ดหรือเจ็บแสบร้อน มีอาการเจ็บร้าวไปที่ไหนหรือไม่ อาการเจ็บมีทุกครั้งที่ให้นมลูกหรือไม่ เปลี่ยนท่าให้นมแล้วอาการเจ็บดีขึ้นไหม ลักษณะของหัวนมเป็นอย่างไรหลังทารกคายหัวนมออกมาหลังกินนม มีหัวนมเหมือนเดิม หรือมีลักษณะถูกกดจนแบนหรือเปลี่ยนแปลงรูปร่าง สีของหัวนมมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือมีอาการเจ็บหัวนมขณะที่อากาศเย็นหรือเจ็บหลังจากการอาบน้ำ หากมีอาการขณะทำการปั๊มนม ควรมีการประเมินถึงความเหมาะสมในการเลือกขนาดของอุปกรณ์ที่ใช้ประกบกับเต้านม ขนาดของช่องที่ใช้ในการดูดหัวนม และแรงดูดที่ใช้ในการดูดปั๊มนม และควรซักถึงอาการอื่น ๆ ที่มีร่วมด้วย ได้แก่ มีอาการคัน มีผื่นแดง อาการแสบร้อนตามแนวเส้นประสาท มีตุ่มน้ำ มีสะเก็ดหรือบาดแผลที่หัวนม มีหนองหรือเลือดไหลจากหัวนม มีการเจ็บบริเวณหัวนม มีก้อนที่เต้านม และมีไข้

หลักการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ปัญหาการเจ็บหัวนมเป็นปัญหาที่พบบ่อยในระยะหลังคลอด ซึ่งมีผลทำให้มารดาวิตกกังวลและอาจลุกลามเป็นภาวะเต้านมอักเสบได้1 ในมารดาบางคนอาจจะเจ็บหัวนมเล็กน้อยขณะเริ่มให้ลูกกินนมใหม่ ๆ ภายในสองสามวันแรก จากนั้นมารดาจะรู้สึกดีขึ้นขณะให้ทารกดูดนม และอาการเจ็บหัวนมควรหายไปราว 1 สัปดาห์หลังคลอด แต่หากมารดามีอาการเจ็บหัวนมจนกระทั่งต้องขยับทารกออกจากเต้า หรือมองเห็นการแตกหรือการบาดเจ็บที่หัวนม สิ่งนี้แสดงถึงการมีความผิดปกติ และจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจ

            เนื่องจากการเจ็บหัวนมในระยะหลังคลอด มักมีความเกี่ยวข้องกับการดูดกินนมของทารก ดังนั้นในการประเมินและให้การดูแลจึงไม่ควรทำเฉพาะในมารดา แต่ต้องมีการประเมินในทารก และ

“ที่สำคัญต้องมีการประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการทำการสังเกตทารกขณะที่ดูดนมจากเต้าด้วยเสมอ”

เอกสารอ้างอิง

1.         Buck ML, Amir LH, Cullinane M, Donath SM. Nipple pain, damage, and vasospasm in the first 8 weeks postpartum. Breastfeed Med 2014;9:56-62.

คำย่อที่ใช้เป็นแนวทางที่นักศึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์จะใช้สนับสนุนมารดาให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สำหรับนักศึกษาแพทย์ แพทย์จบใหม่ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการดูแลปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บางคนอาจรู้สึกว่า “แล้วจะต้องสอนแม่ในเรื่องอะไรบ้างดี” เพราะอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่มารดาควรรู้ ๆ กันอยู่แล้ว ขณะที่บางคนอาจรู้สึกว่า มีเรื่องมากมายที่ต้องสอนจนไม่รู้ว่าจะเลือกเรื่องใดมาสอน แต่หากคิดอย่างง่าย ๆ เรื่องที่จะสอนมารดาก็คือเรื่องที่จะทำให้มารดาสามารถส่งเสริมให้มารดามีความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดีและเสริมพลังให้มารดามีความมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั่นเอง จึงอยากจะแนะนำคำย่อที่ใช้ช่วยจดจำถึง สิ่งที่นักศึกษาแพทย์ แพทย์จบใหม่ หรือบุคลากรทางการแพทย์ควรจะสอนหรือให้อะไรกับมารดาบ้างเพื่อที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จหลังคลอด โดยใช้คำย่อที่ช่วยจดจำ ได้แก่ V2BFMOM”  อ่านว่า we to breastfeeding mom ซึ่งก็คือ พวกเราต้องเข้าถึงมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือจัดให้มารดาเป็นศูนย์กลางในการดูแล

คำย่อช่วยจดจำ V2BFMOM” ย่อมาจาก

V2 คือ V 2 ตัว

V ตัวแรก ได้แก่ Vision คือ ต้องทราบว่ามารดาได้ตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร

V ตัวที่สอง ได้แก่ Value คือ ต้องสอนให้มารดาเห็นคุณค่าและความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

BF คือ breastfeeding ซึ่งเน้น 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

BF1= Breastfeeding Fast คือ เริ่มกระบวนการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทันทีหลังคลอดหรือเร็วที่สุดที่เป็นไปได้

BF2= Breastfeeding Frequency คือ การให้ลูกกระตุ้นดูดนมบ่อย ๆ

BF3= Breastfeeding Full คือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและเสริมอาหารเสริมตามวัยในระยะเวลาที่เหมาะสม

M คือ Method ได้แก่ ต้องสอนให้มารดาเข้าเต้าและจัดท่าให้นมลูกได้เหมาะสม

O คือ Obstacle ได้แก่ ต้องสอนมารดาให้ทราบถึงอุปสรรค ปัญหาที่พบบ่อย และแนวทางในการดูแล

M คือ Measurement ได้แก่ ต้องสามารถประเมินและสอนให้มารดาประเมินการดูดนมของทารกที่มีประสิทธิภาพได้

Text Box: ภาวิน พัวพรพงษ์ 22-11-20

ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์จดจำและเข้าใจถึงหลักการในการสอนมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้การสนับสนุนนำไปสู่ความสำเร็จได้