คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

วิธีที่ดีที่สุดในการประเมินประสิทธิภาพของการดูดนมของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โดยทั่วไป มารดาจะมีปริมาณไขมันในนมและปริมาณน้ำนมรวมที่ผันแปรตลอดทั้งวัน  ขณะที่ทารกอาจจะมีระยะเวลาในการกินนมในแต่ละครั้งที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่า รูปแบบการดูดนมของทารกและการไหลของน้ำนมของมารดายังมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ด้วย ดังนั้น ในกรณีที่พบว่าทารกกินนมนานหรือสั้นมากอาจบ่งบอกถึงปัญหาและควรได้รับการประเมิน โดยวิธีที่ดีที่สุดในการประเมินประสิทธิภาพของการดูดนมของทารกคือ “การสังเกตการให้นม”  ซึ่งต้องดูว่าทารกเข้าเต้าและดูดนมเป็นอย่างไร ฟังเสียงการกลืนนมของทารก และประเมินว่ามารดารู้สึกสบายเต้าตลอดเวลาที่ให้นมและทารกรู้สึกอิ่มเอมหลังจากป้อนนม1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

รูปแบบการกินนมและลักษณะที่บ่งบอกว่าทารกอิ่ม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

รูปแบบของการกินนมของทารกจะมีความหลากหลายและแตกต่างกันมาก ทารกบางคนจะดูดนมเร็วและบางคนจะดูดนมช้า แต่สิ่งสำคัญคือ ทารกต้องดูดนมนานพอที่จะได้รับน้ำนมส่วนหลัง ซึ่งน้ำนมจะมีปริมาณไขมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในทุกครั้งที่ทารกดูดนม มีน้ำนมไหล หรือมีน้ำนมพุ่ง

เมื่อทารกกินนมจนอิ่ม มักจะส่งสัญญาณโดยปล่อยหรือคายเต้านมเองตามธรรมชาติจากการประกบอมหัวนมและลานนมจนแน่นขณะกินนม หรืออาจสังเกตเห็นทารกหลับโดยอมหัวนมไว้ในปาก หรือพบว่าทารกหยุดการดูดและกลืนน้ำนมเมื่อกินนมจนเกลี้ยงเต้า สำหรับในกรณีที่ต้องการดูว่าทารกกินนมจนเกลี้ยงเต้าแล้ว ทารกจะสนใจกินนมจากเต้านมอีกข้างหรือไม่ ทำโดยการจับให้ทารกเรอเพื่อช่วยระบายลมที่ทารกดูดไปพร้อมกับการกินนมก่อน แล้วเสนอให้ทารกดูดนมจากเต้านมอีกข้าง ซึ่งบางครั้งทารกอาจดูดนมจากเต้านมข้างเดียวก็เพียงพอแล้ว และเมื่อทารกกินนมจนเกลี้ยงเต้าจากการดูดนมในครั้งก่อน ควรสลับการให้นมเป็นเต้านมอีกข้างในการเริ่มต้นการให้นมในครั้งต่อไป1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

มารดาควรให้นมลูกบ่อยและนานแค่ไหน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การให้นมลูกควรทำในลักษณะที่ “ให้ทารกนำ”คือ การให้นมทารกจะให้เมื่อทารกมีอาการหิว และจะหยุดให้นมทารกเมื่อทารกอิ่ม การให้นมแม่ “ตามความต้องการ” ทำให้มารดาต้องมีการสังเกตว่า ลักษณะอย่างไรหรือเมื่อใดที่ทารกหิว การร้องไห้เป็นแม้จะเป็นสัญญาณของความหิว แต่จะเป็นสิ่งที่บอกถึงอาการหิวเมื่อทารกเกิดอาการหิวมากแล้ว แนะนำให้มารดาเริ่มการให้นมแม่เพื่อตอบสนองต่ออาการหิวของทารกตั้งแต่ในระยะแรก โดยไม่ควรรอจนทารกร้องไห้

สิ่งที่จะบ่งบอกอาการหิวของทารกตั้งแต่ในระยะแรก1 ได้แก่

  • ทารกมีอาการตื่นตัว
  • การที่ทารกเอามือหรือนิ้วเข้าปาก
  • การที่ทารกจะมีปฏิกิริยาตองสนองอัตโนมัติต่อการกระตุ้นริมฝีปากบน โดยการอ้าปากและหันหน้าหาเต้านม
  • การที่ทารกมีการขยับหรือมีการเคลื่อนไหวของปาก

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ลูกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพจะรู้ได้อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โดยทั่วไป มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จได้โดยอาจจะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งหมด แต่รายละเอียดเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ หากมารดากำลังประสบปัญหาในการให้นมแม่หรือหากทารกน้ำหนักไม่ขึ้นหรือกินนมบ่อยมาก บ่อยครั้งคำอธิบายที่ให้คือ การดูดนมของทารกที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการแก้ไขมักทำได้ง่าย ต่อไปนี้เป็นลักษณะของการดูดนมที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่

  • ตอนเริ่มกินนม ทารกจะดูดนมอย่างรวดเร็วสองสามครั้งโดยไม่มีการกลืนนม ซึ่งจะกระตุ้นการหลั่งออกซิโตซินและการไหลของน้ำนม ขั้นตอนนี้เป็น “การดูดนมเพื่อเรียกน้ำนม (call-up suckling)”
  • ต่อมาจะเป็น “การดูดนมที่ทารกจะได้รับน้ำนม (nutritive suckling)” ทารกจะดูดลึกและมีจังหวะที่ช้าลง (จังหวะของการดูดนมต่อการกลืนนมจะเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง) โดยช่วงหยุดสั้น ๆ เมื่อน้ำนมเริ่มไหล
  • ได้ยินเสียงกลืนนม เสียงดัง “โกวะฮ์ (cuh)” แสดงว่าทารกได้รับน้ำนมจากเต้านมมารดา
  • มีลักษณะที่บ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ชัดเจน 3 ถึง 4 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 25 – 30 กรัมต่อวันหลังจากนมมาแล้ว

หมายเหตุ ในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์จะประเมินการให้นมลูก “ต้องมั่นใจว่าได้ทำการสังเกตการให้นมลูกของมารดาเสมอ” ก่อนที่จะชี้ว่ามีปัญหาและให้คำแนะนำใด ๆ  การเข้าไปแทรกแซงหรือให้มารดาเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติต่าง ๆ ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีปัญหาจริง ๆ เท่านั้น1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ความแตกต่างระหว่างการกินนมแม่และการกินนมขวด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ลักษณะของการดูดนมจากขวดนมและการดูดนมแม่จากเต้ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของการดูดนม การกลืน การหายใจและเคลื่อนไหวของลิ้นที่เหมาะสม แต่สำหรับการดูดนมจากจุกนมเทียมของขวดนม กลไกการดูดนมจะให้ความรู้สึกและมีกระบวนการทำงานที่แตกต่างกัน โดยที่น้ำนมที่ไหลออกจากขวดจะเกิดจากแรงในการดูดนมโดยตรง การออกแรงบีบกดจุกนมเทียม และแรงโน้มถ่วง และเนื่องจากกลไกการดูดนมที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการให้ทารกดูดจุกนมเทียมรวมทั้งจุกนมหลอกจนกว่าทารกจะคุ้นเคยกับการดูดนมแม่ สามารถดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมารดามีการสร้างน้ำนมในปริมาณที่เพียงพอ จนกระทั่งทารกมีความชำนาญในการดูดนมแม่จากเต้าแล้ว ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ การให้ทารกดูดนมจากเต้าสลับกับการดูดนมจากขวดอาจสามารถทำได้1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.