คลังเก็บหมวดหมู่: การนับลูกดิ้น

การนับลูกดิ้น

การนับลูกดิ้น

การนับลูกดิ้น

 

การดูแลครรภ์ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งครอบครัวและแพทย์ผู้ดูแลการฝากครรภ์ ในระหว่างการฝากครรภ์ แพทย์จะนัดตรวจครรภ์ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งจะทำการตรวจคุณแม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามระยะปกติของการตั้งครรภ์หรือไม่ ตรวจฟังอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจทารก และสอบถามอาการแทรกซ้อนต่างๆ ในระหว่างที่คุณแม่อยู่ที่บ้านกับครอบครัว ซึ่งเป็นเวลาส่วนใหญ่ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรจะทราบว่าจะร่วมดูแลครรภ์อย่างไร การนับลูกดิ้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการสังเกตความแข็งแรงของลูก คุณแม่จึงควรมาเรียนรู้ว่าจะนับลูกดิ้นให้ถูกต้องอย่างไร?

การนับลูกดิ้น ควรเริ่มที่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์หรือประมาณ 7 เดือนและนับต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด วิธีการนับลูกดิ้น จะนับตั้งแต่เวลา 8.00 นาฬิกา โดยทำการนับแล้วจดลงในสมุดบันทึก เมื่อลูกดิ้นครบ 10 ครั้งให้ลงเวลาที่ลูกดิ้นครบ หากลูกดิ้นครบ 10 ครั้งก่อนเวลา 12.00 นาฬิกา คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องนับลูกดิ้นต่อในวันนั้น เนื่องจากทารกที่แข็งแรงควรดิ้นเกิน 10 ครั้งใน 4 ชั่วโมง แต่หากทารกดิ้นไม่ครบ 10 ครั้งภายใน 12.00 นาฬิกา แนะนำให้คุณแม่รีบไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจยืนยันความแข็งแรงของทารกในครรภ์ ตัวอย่างการนับลูกดิ้นในตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 ตารางบันทึกการนับลูกดิ้น

คลิกที่ตารางเพื่อดูภาพใหญ่

? ? ? ? ? ? ? ??การดิ้นของทารกนั้น อาจรู้สึกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ในท้องหลังและ 18-20 สัปดาห์ในท้องแรก แต่การนับลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์น้อยนั้น จะแปรผลยาก เนื่องจากการดิ้นของทารกยังไม่สม่ำเสมอ บางวันก็ดิ้นมาก บางวันก็ดิ้นน้อย การแปลผลและตัดสินใจจากผลการนับลูกดิ้นนั้นลำบาก จึงแนะนำให้เริ่มนับลูกดิ้นและจดบันทึกตามข้อแนะนำข้างต้นเมื่อลูกเริ่มมีการดิ้นสม่ำเสมอคือเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งนับจากนี้ไปคุณแม่ก็จะเป็นคนสำคัญที่มีส่วนร่วมในการดูแลความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกในครรภ์

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์