คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่ทารกได้กินนมแม่จะมีผลป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น โดยการกินนมแม่จะช่วยป้องกันความดันโลหิตขึ้นสูงในเด็กอายุ 7 ปี1 ช่วยป้องกันการเกิดไขมันในเลือดสูงเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทารกกินนมแม่อย่างเดียว2 ช่วยป้องกันการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก3 โดยการป้องกันกลุ่มอาการนี้ อธิบายจากการตั้งโปรแกรมการเผาพลาญอาหารจากอาหารที่ทารกได้รับในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งเป็นกลไกการควบคุมเหนือพันธุกรรม4 นอกจากนี้ ยังพบว่า การให้ทารกได้กินนมแม่ช่วยลดค่าความดันโลหิตและป้องกันโรคความดันโลหิตสูงที่สัมพันธ์กับอากาศที่เป็นพิษ (air pollution) ด้วย5

              สำหรับพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้และการเคลื่อนไหว ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวนาน 4 เดือนพบว่ามีการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับสังคมในช่วงขวบปีแรกดีกว่า6 มีความฉลาดสูงกว่า โดยเปรียบเทียบการวัดคะแนนการเรียนรู้ของทารกที่อายุ 8 ปีครึ่งและ 11 ปีครึ่งพบว่า ทารกที่คลอดครบกำหนดและคลอดก่อนกำหนดที่กินนมแม่นานกว่าจะมีคะแนนด้านการเรียนรู้สูงกว่า7 และทารกที่กินนมแม่จะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวโดยทั่วไปในช่วงวัยเด็กตอนปลายและช่วงวัยรุ่นดีกว่า8,9

               จะเห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะส่งผลช่วยลดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวที่เป็นผลมาจากโรคความดันโลหิตสูงของมารดาทั้งโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำโดยการตั้งครรภ์ และความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ดังนั้น นอกจากจะให้คำแนะนำในเรื่องการปฏิบัติตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้เมื่อมารดามีอายุมากขึ้นแล้ว การแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น่าจะเป็นวิธีทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้10

เอกสารอ้างอิง

  1. Hosaka M, Asayama K, Staessen JA, et al. Breastfeeding leads to lower blood pressure in 7-year-old Japanese children: Tohoku Study of Child Development. Hypertens Res 2013;36:117-22.
  2. Owen CG, Whincup PH, Kaye SJ, et al. Does initial breastfeeding lead to lower blood cholesterol in adult life? A quantitative review of the evidence. Am J Clin Nutr 2008;88:305-14.
  3. Vandyousefi S, Goran MI, Gunderson EP, et al. Association of breastfeeding and gestational diabetes mellitus with the prevalence of prediabetes and the metabolic syndrome in offspring of Hispanic mothers. Pediatr Obes 2019;14:e12515.
  4. Pauwels S, Symons L, Vanautgaerden EL, et al. The Influence of the Duration of Breastfeeding on the Infant’s Metabolic Epigenome. Nutrients 2019;11.
  5. Dong GH, Qian ZM, Trevathan E, et al. Air pollution associated hypertension and increased blood pressure may be reduced by breastfeeding in Chinese children: the Seven Northeastern Cities Chinese Children’s Study. Int J Cardiol 2014;176:956-61.
  6. Choi HJ, Kang SK, Chung MR. The relationship between exclusive breastfeeding and infant development: A 6- and 12-month follow-up study. Early Hum Dev 2018;127:42-7.
  7. Daniels MC, Adair LS. Breast-feeding influences cognitive development in Filipino children. J Nutr 2005;135:2589-95.
  8. Grace T, Oddy W, Bulsara M, Hands B. Breastfeeding and motor development: A longitudinal cohort study. Hum Mov Sci 2017;51:9-16.
  9. Bouwstra H, Boersma ER, Boehm G, Dijck-Brouwer DA, Muskiet FA, Hadders-Algra M. Exclusive breastfeeding of healthy term infants for at least 6 weeks improves neurological condition. J Nutr 2003;133:4243-5.
  10. Demirci J, Schmella M, Glasser M, Bodnar L, Himes KP. Delayed Lactogenesis II and potential utility of antenatal milk expression in women developing late-onset preeclampsia: a case series. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:68.

 

 

ทำไมมารดาที่ให้ลูกกินนมแม่แล้วจึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่แล้วลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง มีคำอธิบายจาก 3 สมมติฐาน ได้แก่

  • การตั้งค่าใหม่ (reset hypothesis)1 คือ ร่างกายของมารดาจะมีการตั้งค่าการเผาพลาญอาหารใหม่ขณะที่มีการให้นมลูก ซึ่งการตั้งค่าใหม่นี้จะลดการสะสมไขมัน ลดการผลิตอินซูลิน ลดความต้านทานอินซูลิน (insulin resistance) และลดไขมันในกระแสเลือด ซึ่งจะเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับการเผาพลาญอาหารของร่างกายขณะตั้งครรภ์ โดยผลที่เกิดขึ้นจะทำให้มารดาลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเมตาบอลิกรวมทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังมีผลต่อน้ำหนักของมารดาที่ลดลงหลังคลอด และสัดส่วนปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายมารดา ซึ่งลดลงด้วย
  • การหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน2 ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากการดูดนมของทารก โดยฮอร์โมนออกซิโตซินจะทำหน้าที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด ซึ่งจะลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
  • การลดลงของ ghrelin และโปรตีนเปปไทด์ YY (protein peptide YY)2 ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากทางเดินอาหารที่จะถูกกระตุ้นโดยการให้นมลูก โดยฮอร์โมนเหล่านี้จะออกฤทธิ์ควบคุมการอยากอาหาร ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมการกิน และลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Stuebe AM, Rich-Edwards JW. The reset hypothesis: lactation and maternal metabolism. Am J Perinatol 2009;26:81-8.
  2. Park S, Choi NK. Breastfeeding and Maternal Hypertension. Am J Hypertens 2018;31:615-21.

 

ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังต่อทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังในระหว่างการตั้งครรภ์ต่อทารก พบว่าทารกเพศชายที่มีมารดามีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังระหว่างตั้งครรภ์จะมีความผิดปกติทางจิตที่รุนแรงที่ต้องการการรับการรักษาจากโรงพยาบาลหรือเป็นสาเหตุให้เกิดการตายสูงกว่า ความล้มเหลวของการเรียนรู้ (cognitive failure) มากกว่า ความสามารถด้านความฉลาดต่ำกว่าที่อายุ 20 ปี และมีการเสื่อมของการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุมากกว่า และยังพบว่าทารกที่มีมารดามีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังระหว่างตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อพัฒนาการของการเคลื่อนไหว (motor development) ที่อายุ 14 ปี1

เอกสารอ้างอิง

  1. Battarbee AN, Sinkey RG, Harper LM, Oparil S, Tita ATN. Chronic Hypertension in Pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2019.

ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังต่อมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังในระหว่างการตั้งครรภ์ต่อมารดา มารดาที่มีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่พบก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ในระยะยาวจะพบมีการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น 1.2-3.5 เท่า1 เมื่อเทียบกับมารดาที่มีความดันโลหิตปกติ สำหรับการให้การดูแลรักษาโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังในระหว่างการตั้งครรภ์จะส่งผลในการลดการตายจากภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดยังขาดข้อมูลที่ศึกษาในเรื่องนี้

เอกสารอ้างอิง

  1. Battarbee AN, Sinkey RG, Harper LM, Oparil S, Tita ATN. Chronic Hypertension in Pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2019.

ผลของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การที่มารดามีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังจะทำให้มารดามีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์สูงขึ้น ได้แก่ การมีเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ การมีภาวะครรภ์เป็นพิษเสริมร่วมกับโรคความดันโลหิตสูงที่มีอยู่เดิม ทำให้มารดามีโอกาสผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น พบการตกเลือดหลังคลอดสูงขึ้น และหากมารดาภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูงมากร่วมด้วย อาจพบภาวะความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension)  การทำงานของไตที่ผิดปกติหรือล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โดยหากมีความรุนแรงอาจทำให้มารดาเสียชีวิตได้  สำหรับผลที่เกิดกับทารกพบการคลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ทารกจำเป็นต้องแยกจากมารดาไปอยู่ที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต และความพิการของทารกเพิ่มขึ้น ได้แก่ การมีความผิดปกติของหัวใจ การมีท่อเปิดของท่อทางเดินปัสสาวะต่ำ (hypospadias) และการมีหลอดอาหารอุดตัน (esophageal atresia)1  

            ภาวะแทรกซ้อนที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดจะส่งผลทำให้มารดามีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้า และมีโอกาสที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร สำหรับยาที่เลือกใช้ในระยะหลังคลอดในช่วงให้นมบุตร สามารถเลือกใช้ยาได้หลากหลายกลุ่ม โดยการเลือกใช้และข้อควรระมัดระวังในการใช้ดังรายละเอียดที่เขียนบรรยายไว้แล้วในหัวข้อมารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความดันโลหิตสูงที่ต้องใช้ยารับประทานต่อเนื่องหลังคลอด           

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Practice Bulletin No. 203: Chronic Hypertension in Pregnancy. Obstet Gynecol 2019;133:e26-e50.