คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

สุขภาพจิตของมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สุขภาพจิตของมารดามีผลต่อการตั้งครรภ์และการให้นมบุตรหลังคลอด มารดาที่มีภาวะเครียดหรืออาการซึมเศร้าจะความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 และมีมาตรการจำกัดการออกจากบ้าน (lockdown) ในประเทศเบลเยี่ยม มีการออกแบบสำรวจภาวะสุขภาพจิตของมารดาตั้งครรภ์และให้นมบุตรออนไลน์ ซึ่งมีมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรตอบกลับจำนวน 5866 รายพบว่า มารดาเกือบครึ่งหนึ่งมีภาวะเครียดหรืออาการซึมเศร้า โดยจำนวนที่พบนี้เพิ่มจากภาวะปกติราว 2-3 เท่า1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์เอาใจใส่ดูแลมารดาแบบองค์รวม (holistic approach) โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิตเพิ่มเติมนอกเหนือจากการให้การดูแลมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรตามปกติ ซึ่งเมื่อมารดามีสุขภาพกายและจิตที่ดี จะส่งผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง  

1.        Ceulemans M, Hompes T, Foulon V. Mental health status of pregnant and breastfeeding women during the COVID-19 pandemic: A call for action. Int J Gynaecol Obstet 2020.

การป้องกันการแพ้นมวัวของทารก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบันมารดาและครอบครัวมักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพ้นมวัวของทารกจากการที่มารดากินนมวัว ทั้ง ๆ ที่การแพ้นมวัวของทารกจากการที่ทารกกินนมแม่ที่มารดากินนมวัวมีอุบัติการณ์ต่ำ และก็ไม่แนะนำให้มารดาเลิกกินนมวัวเพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันการแพ้นมวัวของทารก โดยทั่วไปในมารดาที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรมักมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับแคลเซียมที่เพียงพอสำหรับมารดาและทารก ซึ่งแหล่งที่มาของแคลเซียมที่มารดาจะได้รับส่วนใหญ่จะมาจากอาหาร และนมวัวก็เป็นแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่สูงและสามารถหาซื้อได้ง่าย จึงมีการรับประทานบ่อยเนื่องจากสะดวกในการเข้าถึง อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่า การกินนมแม่อาจจะช่วยลดการแพ้นมวัวในทารกได้จากการศึกษาในหนู เนื่องจากสารในนมวัวที่อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้จะผ่านระบบภูมิคุ้มกันของมารดา ซึ่งจะกระตุ้นแอนติบอดี (antibody) ในร่างกายของมารดาที่จะผ่านน้ำนมไปช่วยลดอาการแพ้นมวัวในทารกได้1 ข้อมูลนี้นั้นก็เป็นข้อมูลที่ยังสนับสนุนและแนะนำให้มารดากินนมวัวและกินอาหารที่มีความหลากหลายในระหว่างการให้นมบุตร             

เอกสารอ้างอิง

1.        Adel-Patient K, Bernard H, Fenaille F, Hazebrouck S, Junot C, Verhasselt V. Prevention of Allergy to a Major Cow’s Milk Allergen by Breastfeeding in Mice Depends on Maternal Immune Status and Oral Exposure During Lactation. Front Immunol 2020;11:1545.

การกินนมแม่ช่วยลดนิสัยการกินน้ำหวานในวัยเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัญหาโรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ปัญหานี้ไม่เพียงพบในวัยผู้ใหญ่แต่ยังมีข้อมูลว่าพบในวัยเด็กด้วย และนิสัยการกินหวานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งการกินนมแม่จะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก และยังพบว่าช่วยลดนิสัยการกินน้ำหวานในวัยเด็กด้วย1 ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากจะช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนและมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว ยังช่วยเรื่องนิสัยการกินที่ดีคือ ลดการกินหวาน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคที่มีผลจากการกินที่ไม่ถูกลักษณะ ได้แก่ กลุ่มอาการเมตาบอลิก โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เมื่อทารกเจริญวัยขึ้น โดยจะส่งผลต่อคุญภาพชีวิตที่ดีหากไม่มีโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง

1.        Spaniol AM, da Costa THM, Bortolini GA, Gubert MB. Breastfeeding reduces ultra-processed foods and sweetened beverages consumption among children under two years old. BMC Public Health 2020;20:330.

โอเมก้า 3 ช่วยในความเฉลียวฉลาดของทารก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สมองของทารกจะมีการพัฒนาการมากในช่วงเริ่มแรกของชีวิตโดยตั้งต้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์จนถึงใน 1000 วันแรก การที่ทารกได้รับโอเมก้า 3 อย่างเหมาะสมจะช่วยพัฒนาการด้านความฉลาด ด้านภาษา และด้านจิตสังคม (psychosocial) ซึ่งอธิบายได้จากโอเมก้า 3 จะช่วยในการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทที่จะส่งต่อสารสื่อประสาทให้มีความรวดเร็วขึ้น การส่งสื่อสารประสาทที่มีความรวดเร็วจะช่วยให้มีการพัฒนาการที่ดี ทารกที่ได้รับโอเมก้า 3 ไม่เพียงพอจะมีความเสี่ยงที่จะมีการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทที่ขาดตอนหรือไม่สมบูรณ์  ทำให้การสื่อสารประสาทผิดเพี้ยนไป โดยจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มอาการออทิสติก (autism spectrum disorders) และทารกที่ขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่สุก (attention deficit and hyperactivity disorder) ซึ่งความเสี่ยงนี้ยังพบเพิ่มขึ้นในทารกที่คลอดก่อนกำหนด1 ดังนั้น การจัดให้มารดาได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอในระหว่างการตั้งครรภ์และช่วงให้นมบุตรจึงมีความสำคัญที่จะช่วยในเรื่องความเฉลียวฉลาดของทารก

 เอกสารอ้างอิง

1.        Politano CA, Lopez-Berroa J. Omega-3 Fatty Acids and Fecundation, Pregnancy and Breastfeeding. Rev Bras Ginecol Obstet 2020;42:160-4.

โอเมก้า 3 ช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดผลเสียที่มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตของทารก โดยสิ่งที่จะตามมากับการเกิดการคลอดก่อนกำหนด คือการใช้ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขจำนวนมาก ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ การใช้พื้นที่ที่จัดเป็นหอทารกป่วยวิกฤตเพื่อการดูแลและเลี้ยงดูทารกจนฟื้นตัวและพ้นจากอันตรายที่เกิดขึ้นจากการคลอดก่อนกำหนด มีการศึกษาพบว่าการเสริมโอเมก้า 3 จะช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจอธิบายได้จากการที่โอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มต่าง ๆ การมีปริมาณโอเมก้า 3 ที่เหมาะสมก็น่าจะช่วยให้เยื่อหุ้มทารกที่ได้แก่ ถุงน้ำคร่ำมีความแข็งแรง ไม่เกิดการแตกก่อนเวลาอันควร และโอเมก้า 3 ยังช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของทารก ซึ่งอาจมีผลในการลดการคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อได้  นอกจากนี้ โอเมก้า 3 ยังช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดในรกเป็นปกติในกลุ่มมารดาที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด1

เอกสารอ้างอิง

1.        Politano CA, Lopez-Berroa J. Omega-3 Fatty Acids and Fecundation, Pregnancy and Breastfeeding. Rev Bras Ginecol Obstet 2020;42:160-4.