คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ
การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ
ภาวะเครียดจากการบาดเจ็บรุนแรงหลังคลอดมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? หลังการคลอด หากมารดามีภาวะเครียดจากการบาดเจ็บรุนแรง (post-traumatic stress disorder) ไม่ว่าจะเป็นจากเหตุการณ์ในระหว่างการคลอดหรือภาวะกดดันที่ทำให้เกิดความเครียดจากการเจ็บป่วยจากภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดพบว่ามีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเพิ่มโอกาสที่จะทำให้มารดาไม่สามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้นเกือบ 6 เท่า และยังทำให้มารดาลดโอกาสที่จะให้นมลูกได้ต่อเนื่องจนครบ 12 เดือนลง1 ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์มีการตรวจคัดกรองภาวะเครียดจากการบาดเจ็บรุนแรงหลังคลอดและมีการเอาใจใส่ดูแลช่วยให้คำปรึกษามารดาอย่างใกล้ชิด น่าจะลดปัญหาที่จะเกิดจากภาวะเครียดจากการบาดเจ็บรุนแรงหลังคลอดลงได้
เอกสารอ้างอิง
- Garthus-Niegel S, Horsch A, Ayers S, Junge-Hoffmeister J, Weidner K, Eberhard-Gran M. The influence of postpartum PTSD on breastfeeding: A longitudinal population-based study. Birth 2018;45:193-201.
ท็อกโซพลาสโมซีส โรคที่เสี่ยงในสตรีตั้งครรภ์ที่เลี้ยงแมว
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ท็อกโซพลาสโมซีส (Toxoplasmosis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma Gondii ซึ่งแมวถือเป็นพาหะนำโรคชนิดนี้ โดยแมวที่มีการติดเชื้ออยู่จะถ่ายอุจจาระที่มีเชื้อปนเปื้อนมา หากสตรีตั้งครรภ์ดูแลเรื่องความสะอาดไม่ได้ดี มีการปนเปื้อนเชื้อโดยการรับประทานเข้าไป เชื้อจะเข้าไปอยู่ในมารดาที่ตั้งครรภ์โดยอันตรายเพิ่มขึ้นอีกนอกเหนือจากการที่สตรีตั้งครรภ์จะติดเชื้อแล้วคือ การผ่านของเชื้อเข้าสู่ทารกและเกิดการติดเชื้อ ทารกที่ติดเชื้อจะมีอาการจอประสาทตาอักเสบ (chorioretinitis) การมีน้ำในสมองมาก (hydrocephalus) ซึ่งทำให้ทารกอาจมีศีรษะโตผิดปกติได้ มีอาการชัก และอาจพบทำให้ทารกเสียชีวิตได้ ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อท็อกโซพลาสโมซีสที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย มีความไวและความจำเพาะสูงร้อยละ 100 และทราบผลทันที1 สำหรับข้อแนะนำในการตรวจคัดกรอง ควรตรวจในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงคือเลี้ยงแมวและมีความใกล้ชิด จำนวนครั้งของการตรวจคัดกรองในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจน แต่บางรายงานแนะนำให้ตรวจ 8-10 ครั้ง1 เนื่องจากหากพบการติดเชื้อ การรักษาตั้งแต่แรกเริ่มจะลดอันตรายที่จะเกิดกับทารก ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจที่จะซักถามถึงการเลี้ยงแมวในมารดาที่มาฝากครรภ์เพื่อประเมินความเสี่ยงและความจำเป็นในการตรวจคัดกรองเชื้อนี้ในระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Lykins J, Li X, Levigne P, et al. Rapid, inexpensive, fingerstick, whole-blood, sensitive, specific, point-of-care test for anti-Toxoplasma antibodies. PLoS Negl Trop Dis 2018;12:e0006536.
การได้รับยาฆ่าแมลงในระหว่างการตั้งครรภ์สัมพันธ์กับการเกิดทารกออทิสติก
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ทารกที่มีภาวะออทิสติกในปัจจุบันพบมากขึ้น แม้การเกิดภาวะออทิสติกจะมีสาเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่ปัญหาเรื่องการใช้สารพิษที่พบในสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ โดยมีการศึกษาพบว่า มารดาที่ได้รับสารพิษจำพวกยาฆ่าแมลงในระหว่างการตั้งครรภ์จะพบว่าทารกที่คลอดออกมามีภาวะออทิสติกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ1 ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีของประชากร รัฐบาลหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาสุขภาพ ควรวางระบบหรือออกกฎหมายให้มีการควบคุมการใช้สารเหล่านี้อย่างจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ให้มากที่สุด สำหรับในด้านการให้ความรู้แก่ประชาชนหรือสังคมให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่อุดมปัญญาและคนในสังคมมีความสามารถในการพิจารณาเลือกใช้สารต่าง ๆ ที่จะเกิดผลเสียแก่มารดาหรือครอบครัวได้ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยยกระดับฐานความรู้ของสังคม ซึ่งจะมีผลช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อมอื่นด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Brown AS, Cheslack-Postava K, Rantakokko P, et al. Association of Maternal Insecticide Levels With Autism in Offspring From a National Birth Cohort. Am J Psychiatry 2018:appiajp201817101129.
ความคุ้มค่าในการให้ยาต้านไวรัสในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ติดเชื้อเอชไอวี
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ?แม้ว่าในประเทศไทยไม่มีข้อแนะนำในการให้นมบุตรสำหรับมารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวี แต่การรับทราบข้อมูลการศึกษาวิจัยถึงการให้ยาต้านไวรัสในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ติดเชื้อเอชไอวีอาจมีประโยชน์เมื่อมีความจำเป็นต้องเลือกใช้ในสถานการณ์ที่มีงบประมาณจำกัด มีการศึกษาในประเทศสวาซิแลนด์ในทวีปแอฟริกาใต้ถึงความคุ้มค่าในการให้ยาต้านไวรัสตาม CD4 และระยะทางคลินิก (clinical staging) ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือจะให้ยาต้านไวรัสแก่มารดาทุกรายที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยเปรียบเทียบความคุ้มค่าทางประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับค่าใช้ที่ต้องลงทุน พบว่าการให้ยาต้านไวรัสแก่มารดาทุกรายที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ติดเชื้อเอชไอวีมีความคุ้มค่ามากกว่า1 อย่างไรก็ตามการพิจารณาเชิงนโยบายที่ต้องตัดสินใจยังอาจมีข้อจำกัดในเชิงงบประมาณของแต่ละประเทศ ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้คาดคะเนงบประมาณที่จะต้องลงทุนในกรณีจะตัดสินใจเลือกแนวทางการปฏิบัติตามข้อมูลที่ได้มีการศึกษาวิจัยมาก่อนแล้ว
เอกสารอ้างอิง
- Cunnama L, Abrams EJ, Myer L, et al. Cost and cost-effectiveness of transitioning to universal initiation of lifelong antiretroviral therapy for all HIV-positive pregnant and breastfeeding women in Swaziland. Trop Med Int Health 2018.