รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย โดยสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ร้อยละ 23 ?(relative risk: 0.77, 95% CI: 0.62-0.96) และลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกร้อยละ 2 ทุกๆ เดือนที่มีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้น 1 จะเห็นว่า มะเร็งในสตรีลำดับที่หนึ่ง คือ มะเร็งเต้านม ลำดับที่สองคือ มะเร็งปากมดลูก ลำดับที่สามและถัดมา คือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ มะเร็งเหล่านี้ส่วนใหญ่ สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดจากการให้ลูกกินนมแม่ ยกเว้นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกโดยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ถึงร้อยละ 80 ดังนั้น สตรีที่ให้ลูกกินนมแม่และดูแลใส่ใจกับสุขอนามัยการเจริญพันธุ์ สามารถจะอยู่ได้ยาวนานโดยห่างไกลจากมะเร็งในสตรีที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของสตรีในยุคปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
Wang L, Li J, Shi Z. Association between Breastfeeding and Endometrial Cancer Risk: Evidence from a Systematic Review and Meta-Analysis. Nutrients 2015;7:5697-711.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรต้าไวรัส (rotavirus) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียในทารก โดยอาจมีอาการรุนแรงและเกิดอันตรายแก่ทารกได้ ปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส วัคซีนจะเป็นวัคซีนชนิดหยอดเข้าทางปาก และผลิตจากเชื้อไวรัสที่ได้รับการทำให้ฤทธิ์อ่อนลง ส่วนใหญ่การให้จะให้ในทารกอายุน้อยกว่า 2 ปี เนื่องจากในทารกที่อายุมากกว่านี้ ส่วนใหญ่จะมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรต้าไวรัสมาแล้วจากธรรมชาติ ซึ่งร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อนี้ได้เอง ไม่จำเป็นจากได้รับการหยอดวัคซีน มีคำถามที่น่าสงสัยว่า ขณะหยอดยาวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส ทารกยังสามารถกินนมแม่ได้หรือไม่ ซึ่งได้มีการศึกษาหาคำตอบของคำถามนี้ พบว่า สามารถให้นมแม่ได้ขณะหยอดยาวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส การกินนมแม่ไม่ได้ทำให้การกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านเชื้อโรต้าไวรัสลดน้อยลง และยังพบว่าแนวโน้มของภูมิคุ้มกันต่อโรต้าไวรัสในทารกที่กินนมแม่ขึ้นได้มากกว่าทารกที่หยุดกินนมแม่ระหว่างการให้วัคซีน1 การหยอดวัคซีนนี้ จึงไม่ได้เป็นข้อห้ามในการหยุดนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Ali A, Kazi AM, Cortese MM, et al. Impact of withholding breastfeeding at the time of vaccination on the immunogenicity of oral rotavirus vaccine–a randomized trial. PLoS One 2015;10:e0127622.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ยานอนหลับกลุ่มที่มักใช้บ่อย ได้แก่ กลุ่ม benzodiazepine ได้แก่ ยา diazepam ยา lorazepam และยา alprazolam ยา diazepam มีค่าครึ่งชีวิตของยา 100 ชั่วโมง ?ยา lorazepam มีค่าครึ่งชีวิตของยา 12-18 ชั่วโมง และยา? alprazolam ค่าครึ่งชีวิตของยา 11.2 ชั่วโมง ยาเหล่านี้ผ่านไปที่น้ำนม ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมในทารกได้1 แต่หากมารดาใช้ยาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วยตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดแล้วหยุดยา ทารกอาจเกิดอาการร้องกวน กระสับกระส่าย หรือการนอนที่ผิดปกติได้ หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรเลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์สั้นมากกว่ายาที่ออกฤทธิ์ยาว ยา alprazolam หากใช้ในขนาดตั้งแต่ 3 มิลลิกรัมขึ้นไป มีฤทธิ์กระตุ้นฮอร์โมนโปรแลคตินให้สูงขึ้นได้2-4 แต่ไม่มีผลกระทบต่อการให้นมบุตร ?จะเห็นว่า ยานอนหลับอาจมีผลต่อทารกได้ ซึ่งหากทารกง่วงซึม อาจดูดนมได้น้อย กระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ไม่ดี และเมื่อทารกกินนมได้ไม่ดี อาจมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก และอาการตัวเหลืองได้ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้ยา และหากจำเป็น ควรใช้ยาในระยะเวลาที่สั้น จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อยกว่า
เอกสารอ้างอิง
Chow CK, Koren G. Sedating drugs and breastfeeding. Can Fam Physician 2015;61:241-3.
Zemishlany Z, McQueeney R, Gabriel SM, Davidson M. Neuroendocrine and monoaminergic responses to acute administration of alprazolam in normal subjects. Neuropsychobiology 1990;23:124-8.
Madhusoodanan S, Parida S, Jimenez C. Hyperprolactinemia associated with psychotropics–a review. Hum Psychopharmacol 2010;25:281-97.
Petric D, Peitl MV, Peitl V. High doses alprazolam induced amenorrhoea and galactorrhoea. Psychiatr Danub 2011;23:123-4.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? ท่าในการให้นมลูกที่ถูกต้องจะทำให้การเข้าเต้าหรือการอมหัวนมและลานนม การดูดและกลืนน้ำนมของทารกทำได้อย่างเหมาะสม ตำแหน่งในการดูดนมของทารกในแต่ละท่า? ทารกจะดูดนมในตำแหน่งหรือจากต่อมน้ำนมหรือท่อน้ำนมเดิม ขณะที่ต่อมน้ำนมหรือน้ำนมในท่อน้ำนมอื่นๆ อาจจะไม่ได้รับการดูดและยังมีการขังของน้ำนมอยู่ในต่อมน้ำนม1 เป็นที่ทราบกันแล้วว่า การดูดนมให้เกลี้ยงเต้า จะช่วยให้มีการสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น แม้ว่าการดูดนมให้หมดในต่อมน้ำนมตำแหน่งหนึ่งๆ จะช่วยในการสร้างน้ำนมได้ แต่หากการปรับจัดท่าให้เหมาะสมและสามารถกระตุ้นการดูดนมให้เกลี้ยงเต้าในทุกตำแหน่งของเต้านม ก็น่าจะช่วยให้การสร้างน้ำนมดีเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น หากมารดาเรียนรู้ท่าในการให้นมที่หลากหลายท่า นอกจากจะทำให้มารดาสามารถปรับเปลี่ยนท่าเพื่อลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อแล้ว ท่าที่เปลี่ยนไปจะมีการดูดนมในตำแหน่งที่แตกต่างกันของเต้านม ซึ่งน่าจะช่วยให้ผลในการกระตุ้นการสร้างน้ำนมดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Gardner H, Kent JC, Hartmann PE, Geddes DT. Asynchronous Milk Ejection in Human Lactating Breast: Case Series. J Hum Lact 2015.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารในสื่ออินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาการเข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ตในระบบโทรศัพท์มือถือ 3G หรือ 4G ส่งเสริมทำให้การค้นหาข้อมูลต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตมีมากขึ้น ระบบการให้ข้อมูลหรือข่าวสารจากหนังสือ แผ่นพับ หรือการให้คำปรึกษารายบุคคลหรือรายกลุ่มเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระบบเดิมยังมีความสำคัญ แต่ระบบที่ควรเพิ่มเติมและส่งเสริมให้รองรับการเข้าถึงข้อมูลทางสื่ออินเตอร์เน็ตที่สูงขึ้น จำเป็นต้องมีให้ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ที่ทำให้ผู้รับข้อมูลสามารถเลือกนำไปใช้ในการปฏิบัติได้ ซึ่งจะพบว่ามารดาหรือครอบครัวที่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีการค้นหาข้อมูลการแก้ไขหรือการปฏิบัติตัวจากอินเตอร์เน็ต1 ช่องทางนี้ อาจเป็นช่องทางที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเข้าถึงที่ง่าย สะดวก ประหยัด หากข้อมูลที่ได้รับเป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ จะช่วยให้การสนับสนุนหรือการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจทำได้ง่ายขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Giglia R, Cox K, Zhao Y, Binns CW. Exclusive breastfeeding increased by an internet intervention. Breastfeed Med 2015;10:20-5.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)