คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การขาดการฝังใจของทารกกับเต้านมแม่

bf31

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? หากทารกมีการฝังใจ (imprinting) กับเต้านมแม่จากการให้ทารกได้สัมผัสผิวของมารดาเนื้อแนบเนื้อ เข้าเต้า อมหัวนมและลานนม (latching) แล้ว จะทำให้เกิดพฤติกรรมการยึดติด (attachment) กับมารดา และสร้างสายสัมพันธ์ (bonding) ระหว่างมารดาและทารก มารดาที่ให้นมลูกจะได้รับการกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ทำให้การหลั่งน้ำนมดีขึ้น เช่นเดียวกัน ก็จะก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกเช่นกัน1

? ? ? ? ?หากทารกถูกล่อหลอกด้วยสิ่งเร้าลวง ได้แก่ หัวนมเทียมหรือจุกนมหลอก หรือหัวแม่มือ พฤติกรรมการฝังใจอาจถูกเบี่ยงเบนจากสิ่งเร้าเหล่านี้ ทำให้ขาดพฤติกรรมการยึดติดและขาดการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก ทารกอาจไปฝังใจกับสิ่งเร้าผิด คือ หัวนมเทียมหรือจุกนมหลอก ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งในมารดาที่มีความเสี่ยงสูงในการทอดทิ้งทารก เช่น มารดาวัยรุ่น ดังนั้น สิ่งที่จะป้องกันการเกิดการทอดทิ้งทารก ต้องเริ่มตั้งแต่ การให้ทารกฝังใจกับเต้านมแม่ที่จะนำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกที่เหนียวแน่นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Mobbs EJ, Mobbs GA, Mobbs AE. Imprinting, latchment and displacement: a mini review of early instinctual behaviour in newborn infants influencing breastfeeding success. Acta Paediatr 2015.

 

 

ประโยชน์การฝังใจของทารกกับเต้านมแม่

bf38

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมการฝังใจ (imprinting) ในช่วงระยะแรกของการเกิด เพื่อช่วยให้รับรู้ถึงมารดาและสร้างความปลอดภัยให้แก่ชีวิตเพื่อการเจริญเติบโตและวิวัฒนาการต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากสิ่งมีชีวิตประเภทนก เช่นเป็ด เมื่อแรกออกจากไข่ ก็จะจดจำสิ่งที่เคลื่อนไหว เดินและติดตามโดยสำคัญว่าเป็นแม่ ในมนุษย์ก็เช่นกัน เมื่อแรกเกิดในระยะแรกหลังคลอดใหม่ ทารกจะมีการฝังใจกับเต้านมแม่ ด้วยสิ่งเร้าจากกลิ่น และสีคล้ำของเต้านมเป็นสิ่งกระตุ้น การได้สัมผัสเต้านมและหัวนมผ่านปากของทารกจะกระตุ้นพฤติกรรมการฝังใจ ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยให้ทารกรอดชีวิตและเจริญเติบโตไปได้อย่างเหมาะสม1 ดังนั้น การจะช่วยสนับสนุนให้ทารกเกิดพฤติกรรมนี้ จำเป็นต้องให้ทารกมีการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อบนอกของมารดาตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ให้เวลาให้ทารกได้พัฒนาการสัมผัสเต้านมและหัวนมผ่านการดูดนม ซึ่งทารกจะรู้สึกปลอดภัย หลับและมีการพัฒนาการการเชื่อมโยงของระบบสื่อประสาทสัมผัสระหว่างการนอนหลับนั้น โดยจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการพัฒนาของสมองต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Mobbs EJ, Mobbs GA, Mobbs AE. Imprinting, latchment and displacement: a mini review of early instinctual behaviour in newborn infants influencing breastfeeding success. Acta Paediatr 2015.

 

 

โรคอ้วนในเด็ก ปัจจัยเสี่ยงที่ควรทราบ

3332785238_29c9cf3483_o

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ปัจจุบัน โรคอ้วนในเด็กพบเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในประเทศบราซิล พบเด็กอายุ 6 ขวบที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนร้อยละ 12-15 ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2551 ถึง 2556 โรคอ้วนในเด็กอนุบาลหรือวัยก่อนเรียน พบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 เป็น 7.9 ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูง ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อโรคอ้วนในเด็ก1 ได้แก่ ปัจจัยของมารดา การคลอด การให้นมบุตร และปัจจัยในเรื่องสภาพแวดล้อม

? ? ? ? ? ปัจจัยของมารดา คือ มารดามีโรคอ้วน

? ? ? ? ? ปัจจัยด้านการคลอด คือ ทารกคลอดโดยการผ่าตัดคลอด

? ? ? ? ? ปัจจัยด้านการให้นมบุตร คือ ทารกไม่ได้กินนมแม่

? ? ? ? ? สำหรับปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อม จะรวมถึงสภาพแวดล้อมของครอบครัว สังคม และวัฒนธรรม โดยทั่วไป ชนชาติเอเชียจะพบโรคอ้วนน้อยกว่าชนชาติตะวันตก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมจากกระแสโลกาภิวัตน์ โรคอ้วนก็พบเพิ่มขึ้นด้วย

? ? ? ? ? จะเห็นว่า การป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่ การดูแลสุขภาพของมารดาก่อนการตั้งครรภ์ให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ โอกาสที่จะคลอดบุตรปกติทางช่องคลอดก็จะมีสูง หลังคลอดให้ทารกกินนมแม่ และดูแลสภาพแวดล้อมในบ้านให้เป็นครอบครัวที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ รู้จักกินแต่พอดี เลือกอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมเหตุสมผล และใช้การออกกำลังกายเป็นภูมิคุ้มกัน ก็จะช่วยป้องกันโรคอ้วนที่จะเกิดกับลูก ที่ต่อไปจะเจริญเติบโตเป็นอนาคตของชาติได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Portela DS, Vieira TO, Matos SM, de Oliveira NF, Vieira GO. Maternal obesity, environmental factors, cesarean delivery and breastfeeding as determinants of overweight and obesity in children: results from a cohort. BMC Pregnancy Childbirth 2015;15:94.

 

 

การกำหนดความรู้ที่จำเป็นเรื่องนมแม่สำหรับหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน

S__38208249

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ในประเทศแคนาดา ได้มีการสำรวจแพทย์และแพทย์ประจำบ้านถึงความรู้ในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่? พบว่า แพทย์และแพทย์ประจำบ้านยังขาดความรู้ที่เพียงพอในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงได้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านในระบบการศึกษาของประเทศ1 โดยกำหนดวัตถุประสงค์หลังจากจบการอบรมศึกษาแพทย์ประจำบ้านแล้ว แพทย์ประจำบ้านจะต้องสามารถ

? ? ? ? ? -สื่อสารถึงประโยชน์ของนมแม่แก่มารดาและทารกได้

? ? ? ? ? -ประเมิน และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามหลักเกณฑ์บันไดสิบขั้นขององค์การอนามัยโลกได้

? ? ? ? ? -ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่พบบ่อยของมารดาและทารกในระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และข้อห้ามในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

? ? ? ? ? ?-สนับสนุน ส่งเสริม และรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านการแนะนำเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาสุขภาพของมารดาและทารกที่พบบ่อย

? ? ? ? ? ? -สามารถใช้แหล่งข้อมูลหรือบุคลากรที่มีอยู่ในระบบหรือเครือข่ายเพื่อช่วยในการสนับสนุนมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

? ? ? ? ? ? ?ซึ่งจากเป้าประสงค์ เมื่อมีการดำเนินการจัดการเรียนการสอนลงในหลักสูตรแล้ว จำเป็นต้องมีการประเมินผลการเรียนการสอน โดยใช้หลากหลายรูปแบบของการประเมิน เช่น การสอบอัตนัย การสอบ OSCE หรือการสอบปฏิบัติในการให้คำปรึกษา และดูแลมารดาและทารก โดยผลลัพธ์สุดท้ายที่คาดหวัง คือ การเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยหกเดือนสูงขึ้น และรวมถึงการให้ทารกได้รับสารอาหารตามวัยในช่วงแรกของชีวิตอย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Pound CM, Moreau KA, Hart F, Ward N, Plint AC. The planning of a national breastfeeding educational intervention for medical residents. Med Educ Online 2015;20:26380.

 

ปัจจัยเสี่ยงของมารดาที่จะหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนหกเดือน

S__38208270

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? บุคลากรทางการแพทย์อาจต้องการทราบว่า มารดาคนไหนที่จะมีความเสี่ยงในการที่จะหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนหกเดือนตั้งแต่มารดาอยู่ที่โรงพยาบาลก่อนการอนุญาตให้กลับบ้าน เพื่อที่จะมีนัดติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยให้ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น มีการศึกษาในออสเตรเลียถึงปัจจัยเสี่ยงของมารดาที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากปัจจัยต่างๆ ที่รวบรวมระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด พบว่า มารดาที่มีการศึกษาน้อยในระดับมัธยมศึกษา (เทียบกับการศึกษาของประเทศไทย) มารดาที่สูบบุหรี่ก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ และมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนดหรือมีทารกน้ำหนักตัวน้อย1 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะช่วยเตือนบุคลากรทางการแพทย์ให้มีการเอาใจใส่และนัดติดตามมารดาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด

? ? ? ? ? ?สำหรับในประเทศไทย สาเหตุสำคัญที่หยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนหกเดือน คือ การกลับไปทำงานของมารดา ดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเป็นตัวบอกกับบุคลากรทางการแพทย์ น่าจะเป็น อาชีพมารดา อย่างไรก็ตาม อาจมีหลายๆ ปัจจัยที่จะช่วยบอกได้ การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมน่าจะช่วยตอบคำถามนี้และอาจจะเป็นที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ในประเทศไทยได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Quinlivan J, Kua S, Gibson R, McPhee A, Makrides MM. Can we identify women who initiate and then prematurely cease breastfeeding? An Australian multicentre cohort study. Int Breastfeed J 2015;10:16.