รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนอกจากจะมีความเสี่ยงในการเกิดการหายใจเร็วจากการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ของปอด
การเกิดเลือดออกในสมอง และภาวะอักเสบของลำไส้แล้ว ยังพบว่ามีความสัมพันธ์การสบฟันที่มีความผิดปกติระดับปานนกลางถึงรุนแรงเพิ่มขึ้น
โดยพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันและลดการเกิดการสบฟันที่ผิดปกติได้1 ขณะที่การใช้หัวนมหลอก
(pacifiers) จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการสบฟันที่ผิดปกติ
ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดกินนมแม่ เพื่อช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ทารก
ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดจำนวนวันที่ต้องนอนโรงพยาบาลแล้ว
ยังช่วยป้องกันการสบฟันที่ผิดปกติด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. da Rosa DP, Bonow MLM, Goettems ML, et al. The
influence of breastfeeding and pacifier use on the association between preterm
birth and primary-dentition malocclusion: A population-based birth cohort
study. Am J Orthod Dentofacial Orthop 2020;157:754-63.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ในประเทศไทย ข้อมูลของการดูแลการคลอดจะอยู่ในสมุดฝากครรภ์และคลอดของมารดา
ข้อมูลของทารกจะอยู่ในสมุดดูแลเรื่องวัคซีนและติดตามการเจริญเติบโตของทารก
ซึ่งข้อมูลจะแยกส่วนกันและการติดตามดูข้อมูลของทั้งมารดาและทารกจะมีข้อจำกัดและมีโอกาสที่จะมีการสูญหายหรือขาดความสมบูรณ์ของข้อมูลได้
ปัจจุบัน เมื่อเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารผ่านดิจิทัล ควรมีการพัฒนาข้อมูลของการดูแลทารกให้มีข้อมูลของการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดโดยเชื่อมโยงกับข้อมูลของมารดา
ซึ่งอาจจะทำเป็นข้อมูลในสูติบัตรที่เป็นบัตรคล้ายบัตรประชาชนที่สามารถเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไปพร้อมกับข้อมูลด้านสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์และคลอด
ข้อมูลการกินนมแม่ อาหารทารก การเจริญเติบโตและพัฒนาการ การฉีดวัคซีน และการเจ็บป่วยของทารกโดยมีความเชื่อมโยงกับข้อมูลของมารดา
ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การสรุปข้อมูลของทารกขณะอยู่โรงพยาบาลและข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนกลับบ้านอย่างครบถ้วนจะช่วยในการดูแลทารกต่อเนื่อง
ลดความซ้ำซ้อนของการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์1 จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งแก่ตัวทารกและระบบสาธารณสุข
และยังมีส่วนในการช่วยส่งต่อข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะช่วยในการวางแนวทางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
1. Colaceci S, Chapin EM, Zambri F, et al. Verba volant,
scripta manent: breastfeeding information and health messages provided to
parents in the neonatal discharge summary in the Lazio Region, Italy. Ann Ist
Super Sanita 2020;56:142-9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่จะบอกว่ามารดามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนนั้น
ต้องดูจากค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งต้องใช้น้ำหนักของมารดาก่อนการตั้งครรภ์มาคำนวณ
ในกรณีที่พบว่ามารดามีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วน
จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด
รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วนจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรเพิ่มขึ้น1 แต่ปัจจัยที่จะมีผลดีต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ได้แก่ การที่มารดามีอายุมากขึ้น หรือมารดาที่เป็นครรภ์หลังจะลดความเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร
เนื่องจากการที่มารดามีประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน ดังนั้น
การส่งเสริมให้ความรู้แก่สตรีที่มีการวางแผนที่จะมีบุตรให้มีการดูแลให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการที่จะป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอด
และยังเป็นการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Claesson IM, Myrgard M, Wallberg M, Blomberg M. The
Association Between Covariates, with Emphasis on Maternal Body Mass Index, and
Duration of Exclusive and Total Breastfeeding. Breastfeed Med 2020.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ในคัมภีร์อัลกุลาอานของศาสนาอิสลามจะมีบทที่พูดถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยที่การสื่อสารมักเป็นการสื่อสารและอธิบายจะเป็นระหว่างคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะมีโอกาสที่จะมีการสื่อสารที่ขาดตกบกพร่องหรืออาจมีคำอธิบายที่จำกัด
ทำให้ขาดการเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เหมาะสม การพัฒนาความเข้าใจในเนื้อหาของบทที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้ให้มีการแปลที่เป็นมาตรฐานโดยครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว
ความเสี่ยงของการที่ทารกไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และแนวทางการจัดการตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์จนถึงคลอดให้มารดาสามารถเที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
จะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ดังนั้น หากชุมชนที่บุคลาการทางการแพทย์ดูแลมีมารดาที่นับถือศาสนาอิสลาม
การกระตุ้นให้อิหม่ามที่เป็นผู้ที่ให้ความรู้และให้คำอธิบายในเรื่องศาสนา ได้ช่วยอธิบายในรายละเอียดเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เหมาะสมแก่มารดาในขณะที่เข้าสมรส
จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดาตั้งครรภ์และคลอด
เอกสารอ้างอิง
1. Citrakesumasari, Fadhilah, Suriah, Mesra R. Based
cultural and religion to education of exclusive breastfeeding for bride. Enferm
Clin 2020;30 Suppl 4:127-30.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคโควิด 19 เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งได้มีการศึกษาถึงธรรมชาติของโรค การวินิจฉัย การรักษาและการป้องกัน โดยในหลาย ๆ ด้านเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับตัวโรคเพิ่มมากขึ้น แต่ในเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีข้อมูลน้อย แม้ว่าจะมีรายงาน 2 รายงานที่มีการพบเชื้อโคโรนาไวรัสในนมแม่ แต่เชื้อที่พบไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเชื้อที่มีชีวิต (ทำให้เกิดโรคในทารกและติดต่อได้) เป็นเชื้อที่ตายแล้วหรือเป็นชิ้นส่วนของเชื้อ (ไม่มีอันตรายต่อทารก) ดังนั้นข้อมูลในเรื่องการติดเชื้อผ่านนมแม่จึงยังไม่มีความชัดเจน และเนื่องจากการแยกมารดาและทารก และการงดการให้ลูกกินนมแม่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและทารกมากกว่า1 ข้อแนะนำขององค์กรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ จึงยังแนะนำให้มารดาที่สงสัยหรือติดเชื้อโควิด 19 สามารถให้นมลูกจากเต้าหรือบีบเก็บน้ำนมแม่ให้ลูกได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเรื่องอาหารสำหรับทารกแรกเกิด ควรจะมีการร่วมปรึกษาระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาและครอบครัว ซึ่งการให้ข้อมูลที่ทันสมัยและถูกต้องควรเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ สำหรัลส่วนการตัดสินใจหลักจะอยู่ที่มารดาและครอบครัว
เอกสารอ้างอิง
1. Cheema R, Partridge E, Kair LR,
et al. Protecting Breastfeeding during the COVID-19 Pandemic. Am J
Perinatol 2020.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)