คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

ปัญหาเกี่ยวกับเต้านมและการเคยผ่าตัดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในการดูแลมารดาและวางแผนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรมีการสอบถามมารดาเกี่ยวกับปัญหาที่มีที่เต้านม ได้แก่ การคลำพบก้อน การทำการตรวจชิ้นเนื้อของเต้านม การที่มารดาเคยมีปัญหาหรือเคยได้รับการผ่าตัดมาก่อนตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ จากนั้นทำการตรวจเต้านม ตรวจดูก้อน และการเปลี่ยนแปลงของเต้านมที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ว่าเป็นไปตามปกติหรือไม่  สำหรับการที่เคยได้รับการดูแลรักษาที่เต้านมมาก่อน ส่วนใหญ่มักไม่ได้ส่งผลเสียที่รุนแรงต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม มารดากลุ่มนี้ควรต้องได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อจะช่วยให้คำปรึกษาที่เหมาะสมตั้งแต่ในระยะแรกในกรณีที่มารดาพบปัญหาในเรื่องการให้นมลูก1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

มารดาจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียนได้หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาอาจจะเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียนไม่สามารถทำไปพร้อม ๆ กันได้ การให้คำแนะนำแก่มารดาว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังสามารถทำต่อไปได้ แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งต้องการการวางแผนและพูดคุยในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยหากมารดาเลือกที่จะบีบหรือปั๊มเก็บน้ำนมและฝากไว้ให้ผู้ดูแลป้อนนมให้แก่ทารก มารดาควรจะได้รับข้อมูล เรียนรู้ที่เรื่องการบีบน้ำนมด้วยมือหรือการปั๊มนม และวิธีการเก็บรักษาน้ำนมไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียน (ซึ่งตามหลักการแล้ว ควรมีการพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์)1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

แผนสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาบางคนคิดไปเองว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปได้นานเท่าที่ต้องการโดยไม่มีความจำเป็นต้องวางแผน ซึ่งคิดนี้เป็นความเข้าใจผิดที่อาจมาจากคำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบัน เพราะในความเป็นจริงแล้ว มารดาอาจพบอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียน และวิธีที่จะเอาชนะอุปสรรคก็คือ การปรึกษาหารือกันร่วมกันวางแผน โดยครอบครัวจะเป็นแรงสนับสนุนที่ดีที่จะทำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้  สำหรับคำแนะนำในปัจจุบันของหน่วยงานและองค์กรทางการแพทย์ต่าง ๆ คือ แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน หลังจากนั้นควรให้อาหารเสริมตามวัยควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ควรสอบถามมารดาว่ามีปัญหาทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบัน สตรีแต่งงานและมีบุตรที่อายุมากขึ้น ดังนั้น จึงพบว่ามารดาอาจมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ หลังคลอด รวมทั้งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น บุคลากรทางแพทย์ควรมีการสอบถามมารดาถึงโรคประจำตัวว่ามีหรือไม่ และใช้ยาอะไรในการรักษาอยู่  โดยทั่วไป ยาส่วนใหญ่สามารถใช้ได้ในระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่จะมียาบางชนิดที่ห้ามใช้ในระหว่างให้นมบุตร เพราะฉะนั้น ควรมีการทบทวนยาของมารดาที่ใช้เป็นประจำและพิจารณาถึงทางเลือกอื่น หากมีความจำเป็นในกรณีที่ยาที่ใช้จะเกิดผลเสียแก่ทารก1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนควรให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนมีความสำคัญต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สมาชิกในครอบครัวและเพื่อรที่ไม่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำลายความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่เป็นคุณแม่มือใหม่ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหากมารดาขาดความเชื่อมั่น จะทำให้มีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรเพิ่มขึ้น

คุณแม่มือใหม่ทุกคนควรได้รับความช่วยเหลือในการปรับตัวที่บ้านในระยะแรก เนื่องจากมารดาต้องการเวลาในการกิน นอน และให้นมลูกบ่อย ๆ  ดังนั้น หากมีสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนที่ว่างที่สามารถช่วยทำงานบ้าน และ/หรือช่วยทำธุระได้ ก็จะช่วยเหลือมารดาได้มาก ซึ่งหากปราศจากความช่วยเหลือ คุณแม่มือใหม่ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์แรก1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.