คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

หลักการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ปัญหาการเจ็บหัวนมเป็นปัญหาที่พบบ่อยในระยะหลังคลอด ซึ่งมีผลทำให้มารดาวิตกกังวลและอาจลุกลามเป็นภาวะเต้านมอักเสบได้1 ในมารดาบางคนอาจจะเจ็บหัวนมเล็กน้อยขณะเริ่มให้ลูกกินนมใหม่ ๆ ภายในสองสามวันแรก จากนั้นมารดาจะรู้สึกดีขึ้นขณะให้ทารกดูดนม และอาการเจ็บหัวนมควรหายไปราว 1 สัปดาห์หลังคลอด แต่หากมารดามีอาการเจ็บหัวนมจนกระทั่งต้องขยับทารกออกจากเต้า หรือมองเห็นการแตกหรือการบาดเจ็บที่หัวนม สิ่งนี้แสดงถึงการมีความผิดปกติ และจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจ

            เนื่องจากการเจ็บหัวนมในระยะหลังคลอด มักมีความเกี่ยวข้องกับการดูดกินนมของทารก ดังนั้นในการประเมินและให้การดูแลจึงไม่ควรทำเฉพาะในมารดา แต่ต้องมีการประเมินในทารก และ

“ที่สำคัญต้องมีการประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการทำการสังเกตทารกขณะที่ดูดนมจากเต้าด้วยเสมอ”

เอกสารอ้างอิง

1.         Buck ML, Amir LH, Cullinane M, Donath SM. Nipple pain, damage, and vasospasm in the first 8 weeks postpartum. Breastfeed Med 2014;9:56-62.

คำย่อที่ใช้เป็นแนวทางที่นักศึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์จะใช้สนับสนุนมารดาให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สำหรับนักศึกษาแพทย์ แพทย์จบใหม่ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการดูแลปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บางคนอาจรู้สึกว่า “แล้วจะต้องสอนแม่ในเรื่องอะไรบ้างดี” เพราะอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่มารดาควรรู้ ๆ กันอยู่แล้ว ขณะที่บางคนอาจรู้สึกว่า มีเรื่องมากมายที่ต้องสอนจนไม่รู้ว่าจะเลือกเรื่องใดมาสอน แต่หากคิดอย่างง่าย ๆ เรื่องที่จะสอนมารดาก็คือเรื่องที่จะทำให้มารดาสามารถส่งเสริมให้มารดามีความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดีและเสริมพลังให้มารดามีความมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั่นเอง จึงอยากจะแนะนำคำย่อที่ใช้ช่วยจดจำถึง สิ่งที่นักศึกษาแพทย์ แพทย์จบใหม่ หรือบุคลากรทางการแพทย์ควรจะสอนหรือให้อะไรกับมารดาบ้างเพื่อที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จหลังคลอด โดยใช้คำย่อที่ช่วยจดจำ ได้แก่ V2BFMOM”  อ่านว่า we to breastfeeding mom ซึ่งก็คือ พวกเราต้องเข้าถึงมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือจัดให้มารดาเป็นศูนย์กลางในการดูแล

คำย่อช่วยจดจำ V2BFMOM” ย่อมาจาก

V2 คือ V 2 ตัว

V ตัวแรก ได้แก่ Vision คือ ต้องทราบว่ามารดาได้ตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร

V ตัวที่สอง ได้แก่ Value คือ ต้องสอนให้มารดาเห็นคุณค่าและความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

BF คือ breastfeeding ซึ่งเน้น 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

BF1= Breastfeeding Fast คือ เริ่มกระบวนการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทันทีหลังคลอดหรือเร็วที่สุดที่เป็นไปได้

BF2= Breastfeeding Frequency คือ การให้ลูกกระตุ้นดูดนมบ่อย ๆ

BF3= Breastfeeding Full คือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและเสริมอาหารเสริมตามวัยในระยะเวลาที่เหมาะสม

M คือ Method ได้แก่ ต้องสอนให้มารดาเข้าเต้าและจัดท่าให้นมลูกได้เหมาะสม

O คือ Obstacle ได้แก่ ต้องสอนมารดาให้ทราบถึงอุปสรรค ปัญหาที่พบบ่อย และแนวทางในการดูแล

M คือ Measurement ได้แก่ ต้องสามารถประเมินและสอนให้มารดาประเมินการดูดนมของทารกที่มีประสิทธิภาพได้

Text Box: ภาวิน พัวพรพงษ์ 22-11-20

ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์จดจำและเข้าใจถึงหลักการในการสอนมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้การสนับสนุนนำไปสู่ความสำเร็จได้

กรณีตัวอย่าง กลัวลูกจะไม่ได้กินนม และแนวทางในการดูแล

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สมหญิงรอคุณที่เป็นแพทย์ผู้ดูแลมาตรวจอยู่ที่หอมารดาหลังคลอด เธอคลอดบุตรเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อน เธอกังวลเกี่ยวกับลูกของเธอที่ง่วงนอนและเธอเชื่อว่าลูกจะไม่ได้กินนม พยาบาลบอกคุณว่าเธอขอนมผงดัดแปลงสำหรับทารกให้ลูกของเธอ เมื่อคุณเข้าไปในห้องของเธอ คุณจะเห็นทารกถูกห่อในผ้าห่มอย่างอบอุ่นและเริ่มที่จะขยับตัว คุณในฐานะแพทย์ผู้รับผิดชอบดูแลมารดาและทารกหลังคลอดจะมีแนวทางในการดูแลมารดาและทารกในรายนี้อย่างไร?

แนวทางที่เหมาะสมในการดูแลมารดาและทารกรายนี้1  มีดังต่อไปนี้

1. หาข้อมูลก่อนว่ามารดาได้ให้นมลูกไปมากน้อยแค่ไหนแล้วโดยการพูดคุยกับมารดาและเจ้าหน้าที่และดูข้อมูลในเวชระเบียน (โดยตรวจดูปริมาณปัสสาวะและอุจจาระ และน้ำหนักของทารก)

2. ตรวจร่างกายทารก ซึ่งขณะนี้น่าจะเกินช่วงเวลาที่ทารกจะมีอาการง่วงนอนที่พบเป็นปกติหลังคลอดแล้ว การทีสังเกตพบว่าทารกขยับตัวอาจบ่งบอกถึงความต้องการหรือความพร้อมที่จะกินนมแล้ว ซึ่งการตรวจร่างกายของคุณจะเป็นกระตุ้นทารกด้วย

3. เมื่อทารกตื่น ขอให้มารดาให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งควรทำสังเกตทารกขณะกินนมแม่ ดูการเข้าเต้า และดูว่าทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ (โดยฟังเสียงการกลืนนมของทารก) สำหรับการแนะนำการปรับเปลี่ยนท่าที่ให้นมให้มีความเหมาะสมนั้น ควรทำเมื่อมีความจำเป็น

4. ตรวจดูจุดสังเกตต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าทารกมีการอมหัวนมและลานนมหรือการเข้าเต้าที่ดีไปพร้อมกับมารดา และพยายามมุ่งเน้นในการฟังเสียงการกลืนนมของทารก

5. ตรวจดูลักษณะหรือสัญญาณที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมอย่างเพียงพอไปพร้อมกับมารดา (ทารกจะมีลักษณะอิ่มเอมหรือรู้สึกพึงพอใจหลังการกินนม มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และอาจสังเกตได้จากปริมาณของอุจจาระและปัสสาวะ)

6. ทบทวนพื้นฐานของการสร้างและการคงให้มีน้ำนมอย่างต่อเนื่องไปกับมารดา (การให้ทารกดูดนมแม่บ่อย ๆ และการระบายน้ำนมออกจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ควรให้ทารกกินนมจากเต้านมข้างแรกจนกระทั่งเกลี้ยงเต้าแล้วจึงเสนอเต้านมอีกข้าง) การใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะรบกวนการสร้างน้ำนมหากไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน

7. หากพบว่ามารดามีปัญหาในการให้นมทารกควรส่งต่อมารดาและทารกไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือทีมงานที่ดูแลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อทำการฝึกทักษะในการให้นมลูกอย่างเป็นระบบ และไม่ควรอนุญาตให้มารดากลับบ้านจนกว่าการให้นมลูกจะทำได้ดี

8. คำแนะนำก่อนที่จะอนุญาตให้มารดากลับบ้าน ควรครอบคลุมถึงสิ่งต่อไปนี้

  • หากอนุญาตให้มารดากลับบ้านเร็วก่อน 48 ชั่วโมงหลังคลอด ควรต้องนัดติดตามมารดาและทารกภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากกลับบ้าน
  • หากอนุญาตให้มารดากลับบ้านหลัง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ควรนัดติดตามมารดาและทารก 2-3 วันหลังจากนั้น
  • แนะนำเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่มารดาสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ให้ข้อมูลแก่มารดาว่า สถานการณ์ใดที่ควรขอความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลปฐมภูมิ และสถานการณ์ใดที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • แนะนำการบันทึกแบบบันทึกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประจำวัน เพื่อให้มารดาบันทึกจำนวนครั้งของการให้นมแม่และการเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เปียกแฉะหรือเปื้อนอุจจาระ
  • ให้เอกสารหรือพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชนและกระตุ้นให้มารดาเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

การวางแผนอนุญาตให้มารดากลับบ้าน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การวางแผนอนุญาตให้มารดากลับบ้าน1 เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมให้มารดาสามารถจะปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมในกรณีที่พบปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รายละเอียดของการวางแผนอนุญาตให้มารดากลับบ้าน ควรครอบคลุมในหัวข้อต่อไปนี้

  • มารดาควรได้รับสังเกตและประเมินว่ามีการให้นมลูกที่มีประสิทธิภาพก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน รวมทั้งได้รับคำแนะนำอื่น ๆ ที่จำเป็นด้วย
  • จัดให้มีการนัดติดตามมารดาและทารกหลังคลอด 3-5 วัน (หรือภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล) โดยในระหว่างการนัดติดตาม ควรมีการชั่งน้ำหนักทารก สอบถามเรื่องความถี่และลักษณะของการปัสสาวะและอุจจาระของทารก ตรวจร่างกายและสังเกตการดูดนมแม่ของทารก และในการนัดติดตามทุกครั้ง ควรมีการสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ชื่นชมและให้กำลังใจในกรณีที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ควรสอบถามถึงปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้การวินิจฉัยและให้คำปรึกษาแนวทางในการแก้ไขตั้งแต่ในระยะแรก
  • หากปัญหาเกิดขึ้นก่อนการนัดติดตาม มารดาควรได้รับคำแนะนำว่าต้องติดต่อใครและในกรณีที่ฉุกเฉิน มารดาควรทำอย่างไร

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ชุมชนที่เป็นมิตรกับทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บางคนอาจสงสัยว่า ชุมชนที่เป็นมิตรกับทารก (Baby Friendly Communities) คืออะไร ก็ต้องบอกว่าคือ โครงการต่อเนื่องจากความสำเร็จของบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และโครงการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกในการสนับสนุนมารดาและครอบครัวที่ต้องการให้ทารกและเด็กเล็กได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด การขยายแนวคิดเหล่านี้ให้นอกเหนือไปจากการดำเนินงานในโรงพยาบาลเข้าสู่ชุมชนจึงเกิดขึ้น โดยชุมชนเริ่มที่จะนำแนวคิดนี้ไปปรับ “บันไดสิบขั้น” ไปใช้กับสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการในกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎระเบียบที่รองรับสำหรับมารดาที่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมในที่ทำงาน โดยมีการสนับสนุนให้มีการนำทารกไปที่ทำงาน และจัดสถานที่รับเลี้ยงทารกรองรับ จับคู่และจัดเวลาของมารดามีช่วงเวลาที่จะให้นมทารกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งมีการจัดสถานที่ที่เหมาะสมในการบีบหรือปั๊มนมขณะที่มารดาอยู่ที่ทำงาน1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.