คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายของทารก

การตรวจร่างกายพื้นฐาน ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และอาการแสดงชีพ

การตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบ

การตรวจร่างกายที่จำเพาะ ได้แก่ การตรวจริมฝีปาก ปาก และในช่องปากทารก ดูปากแหว่งเพดานโหว่ ดูว่าทารกมีเพดานปากที่สูงหรือไม่ ดูภาวะลิ้นติดและตรวจวัดประเมินความรุนแรงของภาวะลิ้นติด ตรวจดูลิ้นทารกว่ามีฝ้าขาวหรือไม่ ทารกมีลิ้นที่ใหญ่คับปากหรือไม่ ตรวจดูว่ากล้ามเนื้อในช่องปากทารกทำงานปกติหรือมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหรือไม่ รวมทั้งตรวจว่าทารกมีคอเอียงที่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้ทารกเข้าเต้าได้ไม่เหมาะสมและทำให้เจ็บหัวนมได้

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายมารดา

การตรวจร่างกายพื้นฐาน ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และอาการแสดงชีพ

การตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบ

การตรวจร่างกายที่จำเพาะ ได้แก่ การตรวจเต้านม เริ่มต้นด้วยการดูลักษณะ รูปร่าง และพัฒนาการของหัวนม ลานนม และเต้านม การดูสีของหัวนมว่าปกติ เป็นสีแดงอมชมพู เป็นมัน หรือมีสีซีด การมีตุ่มน้ำหรือไขเป็นจุดขาวที่หัวนม การมีหัวนมแตก เป็นสะเก็ด มีน้ำเหลืองหรือหนอง การมีหัวนมบอด สั้น หรือหัวนมใหญ่ การตรวจวัดความยาวหัวนม การดูผิวหนังบริเวณเต้านมว่า มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ หรือแผลที่ต่อเนื่องมาจากหัวนมหรือไม่ การตรวจคลำบริเวณลานนมและเต้านมที่ครบถ้วนอย่างเป็นระบบ มีบริเวณที่บวม ร้อน กดเจ็บ หรือคลำได้ก้อนหรือไม่ และลักษณะ ขอบเขต และความนุ่มแข็งของก้อนเป็นอย่างไร ควรมีการบันทึกลักษณะของหัวนม ลานนม และเต้านม เพื่อประกอบการวินิจฉัย และติดตามการรักษา

การซักประวัติการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การซักประวัติเกี่ยวกับทารก

  • ประวัติความผิดปกติในช่องปาก ได้แก่ การตรวจพบภาวะลิ้นติดในทารก การตรวจพบทารกมีฝ้าขาวในปาก
  • ประวัติทารกมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ได้แก่ การมีคอเอียงแต่กำเนิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
  • ประวัติของการเจริญเติบโตของทารก น้ำหนักทารกแรกคลอด น้ำหนักทารกที่เพิ่มขึ้น หรือการที่ทารกมีน้ำหนักขึ้นช้า

การซักประวัติการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประวัติของการตั้งครรภ์และการคลอด โดยถามตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์จนถึงหลังคลอด เช่น มีการเปลี่ยนแปลง ความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนของหัวนมหรือเต้านม มีหัวนมบอด มีอาการตึงคัดเต้านม มีการคลอดยากและทารกมีคอเอียงจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ (torticollis) หรือไม่

ประวัติส่วนตัว ความเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว การรักษาและการใช้ยา เช่น การตรวจพบก้อนที่เต้านม ประวัติการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา โรคประจำตัวที่มี เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (lupus erythematosus) โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) การรักษา และยาที่มารดาใช้เป็นประจำรวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะ

ประวัติครอบครัว ได้แก่ ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว

การซักประวัติการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประวัติของการเจ็บหัวนม โดยซักถึงรายละเอียดของการเจ็บหัวนมว่ามีอาการเริ่มเจ็บเมื่อไร ตอนไหน หากเป็นขณะให้นมลูกแล้ว เจ็บมากตอนเริ่มต้นและเมื่อเวลาผ่านไปขณะทารกดูดนม อาการเจ็บยังคงเท่าเดิม ดีขึ้นหรือแย่ลง หรือเจ็บขณะที่ทารกหยุดกินนมและคายหัวนมออก ลักษณะของอาการเจ็บเป็นอย่างไร เจ็บจี๊ดหรือเจ็บแสบร้อน มีอาการเจ็บร้าวไปที่ไหนหรือไม่ อาการเจ็บมีทุกครั้งที่ให้นมลูกหรือไม่ เปลี่ยนท่าให้นมแล้วอาการเจ็บดีขึ้นไหม ลักษณะของหัวนมเป็นอย่างไรหลังทารกคายหัวนมออกมาหลังกินนม มีหัวนมเหมือนเดิม หรือมีลักษณะถูกกดจนแบนหรือเปลี่ยนแปลงรูปร่าง สีของหัวนมมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือมีอาการเจ็บหัวนมขณะที่อากาศเย็นหรือเจ็บหลังจากการอาบน้ำ หากมีอาการขณะทำการปั๊มนม ควรมีการประเมินถึงความเหมาะสมในการเลือกขนาดของอุปกรณ์ที่ใช้ประกบกับเต้านม ขนาดของช่องที่ใช้ในการดูดหัวนม และแรงดูดที่ใช้ในการดูดปั๊มนม และควรซักถึงอาการอื่น ๆ ที่มีร่วมด้วย ได้แก่ มีอาการคัน มีผื่นแดง อาการแสบร้อนตามแนวเส้นประสาท มีตุ่มน้ำ มีสะเก็ดหรือบาดแผลที่หัวนม มีหนองหรือเลือดไหลจากหัวนม มีการเจ็บบริเวณหัวนม มีก้อนที่เต้านม และมีไข้