คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 4

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจสังเกตมารดาขณะให้นม การที่ทารกอมหัวนมและลานนมได้ไม่ลึกพอหรือไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดอาการเจ็บหัวนมได้ โดยอาจพบในมารดาที่มีหัวนมใหญ่ ทารกอมหัวนมได้ไม่ลึก หรือมารดามีอาการตึงคัดเต้านมมาก ทำให้ลานนมตึงและแข็ง ทำให้ทารกอ้าปากอมหัวนมและลานนมได้ไม่เหมาะสม ในกรณีที่พบว่าทารกถูกดึงออกจากเต้านมเพื่อหยุดการให้นม โดยมารดาไม่มีการช่วยให้เกิดการแยกอย่างเหมาะสมเพื่อลดแรงดูดของทารกระหว่างปากกับเต้านม อาจทำให้มารดาบาดเจ็บหัวนมและเกิดการเจ็บหัวนมได้  นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่พบได้น้อยของการเกิดการเจ็บหัวนมอีกมาก เช่น การที่ทารกดูดหัวนมโดยใช้แรงดูดมากเกินไป7 การมีการติดเชื้อในท่อน้ำนม8 ซึ่งถ้าหากจำเป็นอาจต้องให้ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย

เอกสารอ้างอิง

7.         McClellan H, Geddes D, Kent J, Garbin C, Mitoulas L, Hartmann P. Infants of mothers with persistent nipple pain exert strong sucking vacuums. Acta Paediatr 2008;97:1205-9.

8.         Eglash A, Plane MB, Mundt M. History, physical and laboratory findings, and clinical outcomes of lactating women treated with antibiotics for chronic breast and/or nipple pain. J Hum Lact 2006;22:429-33.

การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจริมฝีปาก ปาก และช่องปากของทารก การตรวจพบปากแหว่งเพดานโหว่ การมีเพดานปากสูง ลิ้นใหญ่คับปาก และการมีภาวะลิ้นติด ทำให้ทารกเข้าเต้ายากและทำให้เกิดการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสมได้ โดยในทารกมีภาวะลิ้นติด ทารกจะยื่นลิ้นออกไปได้น้อย เหงือกด้านล่างจึงกดและเสียดสีกับหัวนมมากกว่า จึงทำให้มารดาเจ็บหัวนม3-6 นอกจากนี้ การที่ทารกมีคอเอียงจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อยังพบว่าทำให้การจัดท่าที่เหมาะสมในการให้นม จะทำได้ยากขึ้น สำหรับการพบทารกมีฝ้าขาวที่ลิ้นจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อราที่หัวนมมารดา

เอกสารอ้างอิง

3.         Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

4.         Lalakea ML, Messner AH. Ankyloglossia: does it matter? Pediatric Clinics of North America 2003;50:381-97.

5.         Chaubal TV, Dixit MB. Ankyloglossia and its management. J Indian Soc Periodontol 2011;15:270-2.

6.         Srinivasan A, Dobrich C, Mitnick H, Feldman P. Ankyloglossia in breastfeeding infants: the effect of frenotomy on maternal nipple pain and latch. Breastfeed Med 2006;1:216-24.

การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายโดยการสังเกตมองดูที่หัวนมและเต้านมอาจช่วยบอกสาเหตุของการเจ็บหัวนมได้ หากพบผิวหนังเป็นสีน้ำตาล มีหัวนมแตกเป็นแผล หรือเป็นถุงน้ำใส (milk blebs) หรือเป็นถุงน้ำที่มีสีขาวขุ่นจากการที่มีน้ำนมขังอยู่ด้านใน (milk blisters)  สาเหตุมักเกิดจากการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม แต่หากผิวหนังสีแดงหรือชมพู เป็นมัน คัน และผิวหนังลอก (ทำให้ไม่พบว่ามีการเข้มขึ้นของผิวหนัง) สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อรา Candida albicans  สำหรับในกรณีที่มารดามีการเจ็บหัวนมหลังจากทารกกินนมและคายหัวนมออก มารดาอาจมีประวัติมีอาการเจ็บหัวนมหลังการอาบน้ำ หรือเมื่อมีอากาศเย็น โดยอาจพบร่วมกับการมีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (lupus erythematosus) โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) โรคหนังแข็ง (scleroderma) และตรวจพบหัวนมมารดามีสีซีดขณะที่มีอาการเจ็บหัวนมที่เกิดขึ้นหลังจากทารกคายหัวนม สาเหตุจะเกิดจาก Raynaud’s phenomenon ซึ่งเกิดจากการหดตัวของเส้นเลือดที่หัวนม ทำให้เกิดการเจ็บหัวนมจากการขาดเลือด อย่างไรก็ตาม ในการให้การวินิจฉัยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรต้องระลึกไว้เสมอว่า การบาดเจ็บของเต้านมจากการเข้าเต้าที่ไม่ดีและสาเหตุอื่นที่ทำให้มารดามีอาการเจ็บหัวนมสามารถเกิดร่วมกันได้ นอกจากนี้ อาการผิดปกติของผิวหนังบริเวณหัวนมสามารถมีความผิดปกติที่คล้ายคลึงกับผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ได้แก่ หัวนมและเต้านมอาจจะเกิดคัน แสบ มีตุ่มน้ำ และการอักเสบตามแนวของเส้นประสาทที่เกิดจากงูสวัด (Herpes zoster)  ผิวหนังอักเสบ (eczema) ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้ (allergic dermatitis) หรือความผิดปกติของผิวหนังอื่น ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บหัวนมได้เช่นกัน

การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจสังเกตมารดาขณะให้นมลูก โดยจากการซักประวัติเมื่อสอบถามมารดาว่าลักษณะของการเจ็บหัวนมของมารดาเป็นอย่างไร หากมารดาเจ็บตอนเริ่มให้นมและค่อย ๆ น้อยลงเมื่อทารกกินนมได้ หรือเมื่อเปลี่ยนท่าให้นมแล้วดีขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการอ้าปากอมหัวนมและลานนมหรือการเข้าเต้าของทารก แต่หากมารดาเจ็บขณะตอนทารกดูดนมและอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นสุดการให้นม โดยที่ลักษณะของอาการเจ็บหัวนมที่มารดาบ่งบอกเป็นอาการแสบร้อนหรือปวดจี๊ด สาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากการติดเชื้อรา Candida albicans มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่เป็นตัวทำนายการเจ็บหัวนมของมารดา ได้แก่ การมีการบาดเจ็บที่หัวนมและการตรวจพบเชื้อราที่เต้านมมารดา ที่ทารกหรือในน้ำนมโดยจะมีค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์เท่ากับ 1.87 (95%CI 1.10-3.16) และ 2.30 (95%CI 1.19-4.43) ตามลำดับ2

เอกสารอ้างอิง

2.         Amir LH, Donath SM, Garland SM, et al. Does Candida and/or Staphylococcus play a role in nipple and breast pain in lactation? A cohort study in Melbourne, Australia. BMJ Open 2013;3.

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจสังเกตมารดาขณะให้นมลูก

การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก เป็นสิ่งสำคัญในการตรวจหาสาเหตุของการเจ็บหัวนม ดังนั้น “แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรตรวจสังเกตมารดาขณะให้นมลูกเสมอก่อนที่จะให้การวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บหัวนม” โดยการสังเกตมารดาให้นมลูกจะทำเพื่อประเมินว่ามารดาให้ทารกอมหัวนมและลานนมหรือทำการเข้าเต้า และให้ทารกดูดกินนมอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการเจ็บหัวนมของมารดา ได้แก่ การจัดท่าให้นมลูกไม่เหมาะสม โดยการตรวจสังเกตการให้นมควรทำการสังเกตจนสิ้นสุดการให้นมโดยใช้แบบสังเกตการให้นมลูก (Breastfeed Observation Aid) ตรวจสอบวิธีการเข้าเต้าของทารก การอ้าปากอมหัวนมและลานนมและการดูดกลืนนม สังเกตว่ามารดาหยุดให้นมทารกหรือทารกหยุดกินนมด้วยตนเอง และสังเกตลักษณะหัวนมว่าเป็นอย่างไรหลังจากสิ้นสุดการให้นม โดยหัวนมดูผิดรูปผิดร่างหรือถูกบีบ แดงหรือมีสีขาวเป็นเส้นหรือไม่