รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ฝีที่เต้านมเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หากอาการเต้านมอักเสบไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ฝีคือน้ำหนองที่รวมกันเป็นกลุ่มหากเกิดฝีที่เต้านม ผิวหนังเหนือบริเวณฝีอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นคล้ำหรือช้ำเลือดช้ำหนอง
การรักษาจำเป็นต้องได้รับการระบายหนองที่อยู่ในฝีออกโดยการใช้เข็มขนาดใหญ่ต่อหลอดฉีดยาเจาะแล้วดูดออก1 โดยบุคลากรทางการแพทย์อาจทำการดูดออกทุกวันจนกว่าหนองจะหมด เพื่อให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้ผลดีขึ้น ยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้แก่ cloxacillin หรือ dicloxacillin ที่ใช้รักษาเต้านมอักเสบแต่ระยะเวลาในการให้ยานานกว่าขึ้นอยู่กับขนาดของฝีและการหายของแผล ในระหว่างการรักษามารดาสามารถคงการให้นมลูกต่อได้1 หากตำแหน่งของฝีหรือการเจาะดูดอยู่ห่างจากหัวนมและไม่รบกวนการเข้าเต้า แต่หากตำแหน่งการเจาะดูดฝีอยู่ใกล้หัวนม ระหว่างนี้มารดาอาจใช้การบีบน้ำนมออกเพื่อคงการสร้างน้ำนม และสามารถกลับมาให้นมทารกได้ใหม่เมื่อแผลเริ่มหาย โดยมารดาสามารถจะให้นมลูกได้ตามปกติในเต้านมอีกข้าง ซึ่งควรเน้นย้ำให้มีการดูแลรักษาเต้านมอักเสบอย่างเหมาะสมจะป้องกันการเกิดฝีที่เต้านมที่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
หนังสืออ้างอิง
Spencer JP. Management of mastitis in breastfeeding women. Am Fam Physician 2008;78:727-31.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? การใช้ยาในการรักษาเต้านมอักเสบหลังคลอด ยาที่ใช้แบ่งเป็น
-ยาที่ใช้ต้านอักเสบจะช่วยลดอาการอักเสบของเต้านม โดยอาจใช้ยา ibuprofen หรืออาจใช้ยาแก้ปวดเป็นทางเลือกในการบรรเทาอาการ ได้แก่ พาราเซตามอล
-ยาปฏิชีวนะมีข้อบ่งชี้ในการให้ดังนี้
มารดามีไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง1
มีหลักฐานว่ามีการติดเชื้อ เช่น เห็นการติดเชื้อที่หัวนมแตกหรือมีน้ำหนอง หรือตรวจเพาะเชื้อพบ
อาการของมารดาไม่ดีขึ้นหลังการให้นมอย่างมีประสิทธิภาพหรือบีบนมออกบ่อยๆ ตลอด 24 ชั่วโมง1
สภาพของมารดาแย่ลง
เชื้อโรคส่วนใหญ่ที่เป็นสาเหตุของการอักเสบของเต้านมมักเป็นเชื้อโรคที่อยู่บริเวณผิวหนัง ได้แก่ Staphylococcus aureus 2 ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ ได้แก่ cloxacillin หรือ dicloxacillin รับประทานต่อเนื่องกัน 10-14 วัน เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะและชนิดของยาที่เหมาะสมยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม2
หนังสืออ้างอิง
Cabou A, Babineau S, St Anna L. Clinical inquiry: what’s the best way to relieve mastitis in breastfeeding mothers? J Fam Pract 2011;60:551-2.
Jahanfar S, Ng CJ, Teng CL. Antibiotics for mastitis in breastfeeding women. Cochrane Database Syst Rev 2013;2:CD005458.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? การรักษาท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบ สิ่งที่สำคัญที่เป็นหลักในการรักษาที่มารดาต้องปฏิบัติ ได้แก่ การระบายน้ำนมออกจากเต้านมโดยการให้ทารกดูดนมบ่อยๆ และต่อเนื่อง1 หากไม่ได้ทำ ท่อน้ำนมอักเสบอาจลุกลามเป็นเต้านมอักเสบและลุกลามต่อไปเป็นฝีหรือหนอง รสชาติของนมมารดาที่มีเต้านมอักเสบจะมีรสอูมามิและรสเค็มเพิ่มขึ้น2 ซึ่งจะคล้ายกับรสชาติของหัวน้ำนมที่ทารกเคยได้รับมาก่อน ดังนั้นมารดาไม่ควรวิตกกังวลเรื่องการให้นมหรือรสชาติน้ำนม บุคลากรทางการแพทย์ควรตรวจสอบว่ามารดานำทารกเข้าเต้าได้ดีหรือไม่ และแนะนำให้มารดาให้นมด้านที่มีเต้านมอักเสบก่อน หากไม่มีอาการปวดมากเกินไป การนวดอย่างนุ่มนวลบริเวณที่มีท่อน้ำนมอุดตันหรือบริเวณที่ปวด โดยนวดไล่ไปถึงบริเวณหัวนมก่อนหรือระหว่างการให้นมลูกจะช่วยน้ำนมไม่อุดตัน การเลือกให้มารดาให้นมด้านที่เต้านมอักเสบก่อนเพื่อช่วยระบายน้ำนมจากเต้านมข้างที่อักเสบซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้เต้านมด้านที่อักเสบยังคงสร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้มารดาใส่เสื้อผ้าหลวมๆ โดยเฉพาะชุดชั้นในไม่ควรแน่นจนเกินไป และมารดาควรพักผ่อนไปพร้อมกับทารกเพื่อที่จะมีเรี่ยวแรงให้นมลูกได้บ่อย ควรดื่มน้ำจำนวนมาก หากมารดาเป็นลูกจ้าง ควรลาป่วยพักงานเพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมเต็มที่ เพื่อ ?ให้มารดาได้พัก แต่ไม่ควรพักการให้นม?
หากมารดาและทารกให้นมลูกได้ไม่บ่อย ควรแนะนำให้มารดาบีบหรือปั๊มน้ำนมออกแล้วป้อนให้ทารก เพราะหากน้ำนมไม่ได้ถูกบีบหรือปั๊มออก การสร้างน้ำนมจะหยุด เต้านมจะปวดมากขึ้นและอาจทำให้เกิดเป็นฝีหนองได้
หนังสืออ้างอิง
Cabou A, Babineau S, St Anna L. Clinical inquiry: what’s the best way to relieve mastitis in breastfeeding mothers? J Fam Pract 2011;60:551-2.
Yoshida M, Shinohara H, Sugiyama T, Kumagai M, Muto H, Kodama H. Taste of milk from inflamed breasts of breastfeeding mothers with mastitis evaluated using a taste sensor. Breastfeed Med 2014;9:92-7.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? อาการของมารดาที่มีท่อน้ำนมอุดตันจะคลำได้ก้อนที่เต้านม ผิวหนังในตำแหน่งที่เหนือก้อนจะแดง อาจจะกดเจ็บบริเวณก้อน โดยปกติมารดาจะไม่มีไข้หรือยังไม่มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว สำหรับอาการของมารดาที่มีอาการเต้านมอักเสบ อาการจะมีลักษณะเบื้องต้นคล้ายกัน แต่จะมีอาการรุนแรงกว่า โดยจะมีอาการแดงหรือปวดบริเวณที่มีเต้านมอักเสบ มีไข้หรือไข้ร่วมกับอาการหนาวสั่น เหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัวหรือกดเจ็บบริเวณที่เป็นเต้านมอักเสบ1 ,2 โดยอาการของเต้านมอักเสบจะเหมือนกันทั้งเต้านมอักเสบชนิดไม่มีการติดเชื้อและชนิดที่มีการติดเชื้อ
เมื่อมารดามีท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบ ควรสังเกตว่าสาเหตุการเกิดท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบ โดยการสังเกตมารดาขณะให้นมลูก โดยดูตำแหน่งของการวางนิ้วมือหรือกดเต้านมที่อาจไม่เหมาะสมและทำให้การขัดขวางการไหลของน้ำนม สังเกตว่าหากท่อน้ำนมอุดตันหรือมีเต้านมอักเสบบริเวณด้านล่างของเต้านม อาจเกิดจากการที่เต้านมน้ำหนักมาก การพยุงหรือยกเต้านมขึ้นขณะให้นมลูกอาจจะช่วยให้น้ำนมในท่อน้ำนมส่วนล่างไหลได้ดีขึ้น ร่วมกับการสอบถามความถี่ของการให้นมลูกและมารดาให้นมลูกตามความต้องการของทารกหรือไม่ และสอบถามเกี่ยวกับการกดรัดจากเสื้อผ้าที่แน่นเกินไป โดยเฉพาะชุดชั้นในที่ใส่เวลากลางคืน หรือการบาดเจ็บจากการกดหรือกระแทกบริเวณเต้านมเพื่อทำการแก้ไขสาเหตุของการเกิดท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบและป้องกันการเป็นซ้ำ
หนังสืออ้างอิง
Tang L, Lee AH, Qiu L, Binns CW. Mastitis in Chinese breastfeeding mothers: a prospective cohort study. Breastfeed Med 2014;9:35-8.
Kvist LJ. Re-examination of old truths: replication of a study to measure the incidence of lactational mastitis in breastfeeding women. Int Breastfeed J 2013;8:2.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ?การที่มีน้ำนมจะขังอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเต้านม มักเกิดจากภาวะ ?ท่อน้ำนมอุดตัน? เมื่อมีน้ำนมขังอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเต้านม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการอักเสบของเต้านม โดยในช่วงแรกจะเป็นการอักเสบของเต้านมชนิดที่ไม่มีการติดเชื้อ (non-infective mastitis) ซึ่งต่อมาจะตามมาด้วยการอักเสบของเต้านมชนิดที่มีการติดเชื้อ (infective mastitis)
อุบัติการณ์ของเต้านมอักเสบพบร้อยละ 10-33 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการวินิจฉัย1-3 ท่อน้ำนมอุดตันและเต้านมอักเสบเกิดได้จากการจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสมหรือการให้นมไม่บ่อยพอ4 เกิดการขังของน้ำนมและเกิดการอุดตัน อาจเป็นจากการที่ทารกตื่นไม่ดี การพลาดการสังเกตอาการแสดงที่บ่งบอกว่าทารกหิว หรือมารดายุ่ง การให้นมจากส่วนใดส่วนหนึ่งของเต้านมได้ไม่เต็มที่ และเกิดจากมีแรงกดบนเต้านม ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากเสื้อผ้าที่แน่นเกินไป การนอนทับบนเต้านม แรงกดจากนิ้วมือที่กดบนเต้านมไม่เหมาะสม หรือการบาดเจ็บของเต้านม2 ,3 นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเต้านมอักเสบ ได้แก่ หัวนมแตก การใช้เครื่องปั๊มนมที่ออกแรงปั๊มด้วยมือ5 การใช้ยาปฏิชีวนะ การที่น้ำนมมาช้า การแยกมารดาและทารก การใช้ครีมทาหัวนมหรือการใช้ยาฆ่าเชื้อรา และประวัติการมีเต้านมอักเสบในครรภ์ก่อน6
หนังสืออ้างอิง
Kvist LJ. Re-examination of old truths: replication of a study to measure the incidence of lactational mastitis in breastfeeding women. Int Breastfeed J 2013;8:2.
Tang L, Lee AH, Qiu L, Binns CW. Mastitis in Chinese breastfeeding mothers: a prospective cohort study. Breastfeed Med 2014;9:35-8.
Amir LH, Forster DA, Lumley J, McLachlan H. A descriptive study of mastitis in Australian breastfeeding women: incidence and determinants. BMC Public Health 2007;7:62.
Jahanfar S, Ng CJ, Teng CL. Antibiotics for mastitis in breastfeeding women. Cochrane Database Syst Rev 2013;2:CD005458.
Foxman B, D’Arcy H, Gillespie B, Bobo JK, Schwartz K. Lactation mastitis: occurrence and medical management among 946 breastfeeding women in the United States. Am J Epidemiol 2002;155:103-14.
Mediano P, Fernandez L, Rodriguez JM, Marin M. Case-control study of risk factors for infectious mastitis in Spanish breastfeeding women. BMC Pregnancy Childbirth 2014;14:195.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)