คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

ขั้นตอนในการนำทารกเข้าเต้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ขั้นตอนในการนำทารกเข้าเต้า เริ่มจากกระตุ้น รูทติ้งรีเฟล็กซ์(rooting reflex) โดยการสัมผัสริมฝีปากบนของทารกด้วยหัวนมของมารดา จากนั้น เคลื่อนทารกเข้าหาเต้านมขณะที่ทารกอ้าปากกว้างเพื่อที่จะอมหัวนมและลานนม1

หากทารกมีการเข้าเต้าได้ดีหรือถูกต้อง จะสังเกตเห็น

  • ริมฝีปากของทารกจะปลิ้นออก
  • ปากของทารกจะอ้ากว้าง
  • คางของทารกจะชิดเต้านม
  • มองเห็นลานนมของมารดาเหนือริมฝีปากบนมากกว่าด้านล่างของริมฝีปากล่างหากมารดามีลานนมขนาดใหญ่ โดยลักษณะการเข้าเต้าลักษณะนี้จะเรียกว่า “การเข้าเต้าแบบไม่สมมาตร (asymmetrical latch)”

แสดงดังรูปที่ 1-5 ตามลำดับ

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

กลไกการทำงานภายในช่องปากขณะทารกเข้าเต้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ตำแหน่งการทำงานของลิ้นขณะที่ทารกเข้าเต้ามีความสำคัญ ซึ่งขณะที่ทารกเข้าเต้านั้น การวางตำแหน่งที่เหมาะสมของลิ้นของทารกจะต้องมีการกดหัวนมและลานนมเข้ากับเพดานแข็งในปากทารก จากนั้นการมีการขยับลงบริเวณด้านหลังของลิ้นและเพดานอ่อนทำให้เกิดสุญญากาศ โดยความดันภายในช่องปากที่ลดลงนี้ จะส่งผลให้น้ำนมจากลานนมไหลเข้าไปในปากทารก ซึ่งจะไปกระตุ้นการดูดและการกลืนในรูปแบบที่เป็นจังหวะของทารก

อย่างไรก็ตาม มารดาควรมีการประเมินการเข้าเต้าว่าปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมก่อนอนุญาตให้มารดากลับบ้าน สำหรับการให้ความช่วยเหลือมารดาในการเรียนรู้วิธีการเข้าเต้าอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันปัญหาและประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

หมายเหตุ: ควรทำการสังเกตการให้นมบุตรทุกครั้งก่อนเข้าไปขัดจังหวะและแนะนำการรักษา เพราะมารดาและทารกอาจทำได้ดีอยู่แล้วและอาจต้องการเพียงกำลังใจเท่านั้น1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

อะไรคือการเข้าเต้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

วิธีที่ทารกประกบปากแนบสนิทกับเต้านมโดยอมหัวนมและลานนมเข้าไปในปาก เรียกว่า “การเข้าเต้า” หรือ “การคาบและอมหัวนมและลานนม” ของทารก ซึ่งการเข้าเต้าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหาในระยะเริ่มต้นที่นำไปสู่การหย่านมก่อนวัยอันควร

ทารกปกติที่คลอดครบกำหนดจะเกิดมาพร้อมกับมีพฤติกรรมและปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติหลายอย่าง รวมถึงปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติที่จะกระตุ้นให้ทารกอ้าปากและหันเข้าหาเต้านมเมื่อหิวที่เรียกว่า “รูทติ้งรีเฟล็กซ์ (rooting reflex)”  การแตะเบา ๆ ที่ตรงกลางของริมฝีปากบนของทารกจะช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัตินี้  เมื่อมารดานำทารกเข้าเต้า มารดาควรจัดทิศทางหัวนมให้เล็งมุ่งไปที่เพดานปากของทารกขณะที่ทารกอ้าปากกว้าง เมื่อนั้นทารกจะยื่นลิ้นลงไปข้างหน้าเหนือเหงือกล่างเพื่อช่วยดึงหัวนมเข้าปาก จะทำให้เกิดการประกบปากแนบชิดกับเต้านม และอมหัวนมและลานนมอย่างเหมาะสม ทารกที่กำลังร้องไห้จำเป็นต้องมีการปลอบให้ทารกสงบลงก่อน เนื่องจากโดยปกติลิ้นจะยกขึ้นระหว่างร้องไห้แต่ขณะที่ทารกจะทำการเข้าเต้าและดูดนมแม่ ลิ้นของทารกจะต้องขยับลงและยื่นไปข้างหน้า และเมื่อทารกเข้าเต้าได้อย่างถูกต้องริมฝีปากของทารกที่ประกบกับเต้านมจะปลิ้นออกเหนือบริเวณลานนม 1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ท่านอนตะแคงข้างให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การจัดท่านอนตะแคงข้างให้นมลูก ทำโดยจัดให้มารดาและทารกนอนเคียงข้างกัน ตะแคงตัวเข้าหากันโดยให้แขนท่อนล่างของมารดายื่นออกมาหรืออาจใช้ประคองตัวทารก ท่านี้มารดาสามารถพักผ่อนไปพร้อมกับการให้นมลูกได้ และยังเหมาะสำหรับมารดาที่ผ่าตัดคลอด เพราะทารกจะไม่ไปกดทับบริเวณแผลผ่าตัดขณะกินนม

การให้นมทารกในท่านั่งที่ใช้บ่อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ท่าอุ้มขวางตัก

ทารกนอนอยู่บนตักของมารดา ศีรษะของทารกวางอยู่บนแขนท่อนล่างของมารดาหรืออยู่ในมือของมารดาข้างที่ให้นม ศีรษะของทารกไม่ควรอยู่ตรงข้อพับแขนของมารดาเพราะจะทำให้ตำแหน่งทารกอยู่ทางด้านข้างมากเกินไป ทำให้ทารกต้องก้มศีรษะไปข้างหน้าและไม่สามารถเอาคางและลิ้นเข้าไปใต้หัวนมได้1

ท่าอุ้มขวางตักประยุกต์

            ทารกนอนอยู่บนตักของแม่ แขนที่ประคองลำตัวและคอทารกจะเป็นด้านตรงข้ามกับเต้านมที่ทารกกินและคอตรงข้ามของแม่ การใช้ท่านี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับทารกแรกเกิดและทารกตัวเล็กมาก โดยจะทำให้แม่ควบคุมศีรษะและคอของทารกได้ดีกว่าท่าอุ้มขวางตัก1

ท่าอุ้มฟุตบอล

ในท่านี้ทารกและมารดาจะอยู่ในท่านั่ง โดยทารกนั่งหันหน้าเข้าหามารดา ขาของทารกจะอยู่ใต้แขนมารดา มือของมารดาจะรองรับหลังและคอของทารก ท่านี้จะทำให้มารดาให้นมได้สะดวกในกรณีที่มารดามีการผ่าตัดคลอด เนื่องจากน้ำหนักของทารกจะไม่กดทับบริเวณแผลผ่าตัด และในทารกที่ง่วงนอนการให้นมท่านี้อาจช่วยให้ทารกตื่นตัวและกินนมได้ดีขึ้นจากการที่ลำตัวทารกอยู่ในท่าตั้งตรงมากขึ้น1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.