คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

รูปแบบของการจัดการให้นมแม่สำหรับทารกแรกเกิด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ทารกแรกเกิดปกติควรได้รับโอกาสที่จะกินนมแม่ทันทีหลังคลอด ซึ่งโดยทั่วไปทารกปกติที่ไม่ได้รับยาที่จะมีผลกระทบต่อทารกในระหว่างการคลอดจะตื่นตัวมากที่สุดในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ  การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่ในระยะแรกหลังคลอดจะมีช่วงเวลาที่ทารกตื่นตัว ซึ่งจะตามมาด้วยช่วงเวลาของที่ทารกง่วงหลับ แม้ว่าทารกแรกเกิดจำนวนมากจะเริ่มกินนมแม่ได้ภายใน 60 นาทีแรกของการคลอด แต่ก็ไม่ใช่ว่าทารกปกติทุกคนจะสามารถทำได้เช่นนั้น ทารกบางคนอาจเพียงแค่เคล้าเคลียบริเวณหัวนม แต่ยังไม่มีการอมหัวนมและลานนมเพื่อที่จะดูดนมจนกระทั่งต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่งหลังจากนั้น  ซึ่งตามที่ได้บรรยายไว้ก่อนหน้านี้มีหลายการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปิดโอกาสให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อที่มีต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

การให้ทารกคายหัวนมออกจากปากในระหว่างที่ให้นม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมารดาต้องการให้ทารกคายหัวนมออกจากปากในระหว่างที่ให้นม มารดาสามารถหยุดแรงดูดของทารกที่สร้างขึ้นโดยการดูดนม โดยใช้นิ้วกดที่เต้านมที่รอยต่อของริมฝีปากของทารก หรือโดยการใช้นิ้วที่สะอาดสอดเข้าไปที่มุมของปากของทารก ทารกก็จะคายหัวนมและลานนมออกจากปากอย่างนุ่มนวลโดยวิธีนี้สามารถช่วยป้องกันอาการเจ็บหัวนมได้ และลักษณะของหัวนมที่ทารกคายออกมาควรจะเหมือนกับก่อนการให้นมคือ มีลักษณะกลมไม่เปลี่ยนรูปหรือแบน1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

วิธีที่ดีที่สุดในการประเมินประสิทธิภาพของการดูดนมของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โดยทั่วไป มารดาจะมีปริมาณไขมันในนมและปริมาณน้ำนมรวมที่ผันแปรตลอดทั้งวัน  ขณะที่ทารกอาจจะมีระยะเวลาในการกินนมในแต่ละครั้งที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่า รูปแบบการดูดนมของทารกและการไหลของน้ำนมของมารดายังมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ด้วย ดังนั้น ในกรณีที่พบว่าทารกกินนมนานหรือสั้นมากอาจบ่งบอกถึงปัญหาและควรได้รับการประเมิน โดยวิธีที่ดีที่สุดในการประเมินประสิทธิภาพของการดูดนมของทารกคือ “การสังเกตการให้นม”  ซึ่งต้องดูว่าทารกเข้าเต้าและดูดนมเป็นอย่างไร ฟังเสียงการกลืนนมของทารก และประเมินว่ามารดารู้สึกสบายเต้าตลอดเวลาที่ให้นมและทารกรู้สึกอิ่มเอมหลังจากป้อนนม1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

รูปแบบการกินนมและลักษณะที่บ่งบอกว่าทารกอิ่ม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

รูปแบบของการกินนมของทารกจะมีความหลากหลายและแตกต่างกันมาก ทารกบางคนจะดูดนมเร็วและบางคนจะดูดนมช้า แต่สิ่งสำคัญคือ ทารกต้องดูดนมนานพอที่จะได้รับน้ำนมส่วนหลัง ซึ่งน้ำนมจะมีปริมาณไขมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในทุกครั้งที่ทารกดูดนม มีน้ำนมไหล หรือมีน้ำนมพุ่ง

เมื่อทารกกินนมจนอิ่ม มักจะส่งสัญญาณโดยปล่อยหรือคายเต้านมเองตามธรรมชาติจากการประกบอมหัวนมและลานนมจนแน่นขณะกินนม หรืออาจสังเกตเห็นทารกหลับโดยอมหัวนมไว้ในปาก หรือพบว่าทารกหยุดการดูดและกลืนน้ำนมเมื่อกินนมจนเกลี้ยงเต้า สำหรับในกรณีที่ต้องการดูว่าทารกกินนมจนเกลี้ยงเต้าแล้ว ทารกจะสนใจกินนมจากเต้านมอีกข้างหรือไม่ ทำโดยการจับให้ทารกเรอเพื่อช่วยระบายลมที่ทารกดูดไปพร้อมกับการกินนมก่อน แล้วเสนอให้ทารกดูดนมจากเต้านมอีกข้าง ซึ่งบางครั้งทารกอาจดูดนมจากเต้านมข้างเดียวก็เพียงพอแล้ว และเมื่อทารกกินนมจนเกลี้ยงเต้าจากการดูดนมในครั้งก่อน ควรสลับการให้นมเป็นเต้านมอีกข้างในการเริ่มต้นการให้นมในครั้งต่อไป1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

มารดาควรให้นมลูกบ่อยและนานแค่ไหน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การให้นมลูกควรทำในลักษณะที่ “ให้ทารกนำ”คือ การให้นมทารกจะให้เมื่อทารกมีอาการหิว และจะหยุดให้นมทารกเมื่อทารกอิ่ม การให้นมแม่ “ตามความต้องการ” ทำให้มารดาต้องมีการสังเกตว่า ลักษณะอย่างไรหรือเมื่อใดที่ทารกหิว การร้องไห้เป็นแม้จะเป็นสัญญาณของความหิว แต่จะเป็นสิ่งที่บอกถึงอาการหิวเมื่อทารกเกิดอาการหิวมากแล้ว แนะนำให้มารดาเริ่มการให้นมแม่เพื่อตอบสนองต่ออาการหิวของทารกตั้งแต่ในระยะแรก โดยไม่ควรรอจนทารกร้องไห้

สิ่งที่จะบ่งบอกอาการหิวของทารกตั้งแต่ในระยะแรก1 ได้แก่

  • ทารกมีอาการตื่นตัว
  • การที่ทารกเอามือหรือนิ้วเข้าปาก
  • การที่ทารกจะมีปฏิกิริยาตองสนองอัตโนมัติต่อการกระตุ้นริมฝีปากบน โดยการอ้าปากและหันหน้าหาเต้านม
  • การที่ทารกมีการขยับหรือมีการเคลื่อนไหวของปาก

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.