คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การให้มารดาอยู่กับทารก 24 ชั่วโมงหลังคลอดช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การให้มารดาอยู่กับทารก 24 ชั่วโมงหลังคลอดช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเป็นข้อหนึ่งในเกณฑ์บันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาถึงความคุ้มค่าในการให้มารดาอยู่กับทารก 24 ชั่วโมงหลังคลอดกับการแยกดูแลมารดาและทารกพบว่า การให้มารดาอยู่กับทารก 24 ชั่วโมงหลังคลอดลดค่าใช้จ่ายในการดูแลทารกปีละราว 500 ล้านดอลล่าร์1 ซึ่งจะเห็นว่านอกจากการให้มารดาอยู่กับทารก 24 ชั่วโมงหลังคลอดจะมีประโยชน์ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ยังเป็นแนวทางการดูแลรักษาที่มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

เอกสารอ้างอิง

  1. Avram CM, Yieh L, Dukhovny D, Caughey AB. A Cost-Effectiveness Analysis of Rooming-in and Breastfeeding in Neonatal Opioid Withdrawal. Am J Perinatol 2020;37:1-7.

การให้คำปรึกษามารดาบ่อยช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

        มีคำถามว่า หลังคลอดควรมีการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่บ่อยแค่ไหน มีการศึกษาในประเทศสเปนที่ช่วยตอบคำถามนี้ โดยมีการเปรียบเทียบการให้คำปรึกษาในมารดาครรภ์แรกหลังคลอด 1-4 ครั้ง แล้วประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในวันที่สามหลังคลอด ผลการศึกษาพบว่า การให้คำปรึกษา 1 ครั้ง, 2 ครั้ง, 3 ครั้ง และ 4 ครั้งไม่ได้เพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด1 ซึ่งการที่ผลเป็นเช่นนี้ อาจจะเกิดจากเมื่อมารดามีความรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากการให้คำปรึกษาในครั้งแรกแล้ว การเพิ่มจำนวนครั้งของการให้คำปรึกษา อาจไม่เกิดผลที่จะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วนมแม่ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะแสดงถึงการเน้นถึงรูปแบบ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของการให้คำปรึกษาน่าจะสำคัญมากกว่าจำนวนครั้งของการให้คำปรึกษา

เอกสารอ้างอิง

  1. Asmiraha R, Alasiry E, Nontji W. The relationship between the frequency of breastfeeding counseling with the adequacy of breastfeeding to the newborn babies. Enferm Clin 2020;30 Suppl 2:186-9.

 

 

ประสบการณ์มีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การที่มารดามีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน จะช่วยให้มารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งมารดาที่คลอดบุตรครบกำหนดและคลอดบุตรก่อนกำหนด1 ความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะส่งผลให้มารดามีกำลังใจและเอาชนะอุปสรรคที่มีระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งการที่มารดาจะมีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นจะมีพื้นฐานมาจากการมีความรู้ ทัศนคติ และมีทักษะที่จะให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการที่มารดาจะมีทักษะ ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นปัจจัยหนึ่งที่สัมพันธ์กับการมีทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ การสอนและอบรมให้มารดามีทักษะยังมีส่วนในการสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรจัดให้มีระบบการอบรมหรือสอนมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอดในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Asadi G, Aslani A, Nayebinia AS, Fathnezhad-Kazemi A. Explaining breastfeeding experiences and assessing factors affecting breastfeeding self-efficacy in mothers of premature infants: a mixed method study protocol. Reprod Health 2020;17:42.

 

การสร้างค่านิยมนมแม่ในสังคม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การสนับสนุนให้เกิดค่านิยมนมแม่ของคนในสังคมมีความสำคัญต่อการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ในปัจจุบันค่านิยมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะดีขึ้น แต่ในส่วนหนึ่งยังมีค่านิยมการเลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งยังมีความเชื่อว่านมผงดัดแปลงสำหรับทารกสามารถใช้แทนนมแม่ได้(1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมารดาจำเป็นต้องกลับไปทำงาน การสื่อสารอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงให้สังคมมีความเข้าใจประโยชน์ของนมแม่และความเสี่ยงหรืออันตรายจากการที่ทารกไม่ได้กินนมแม่ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและทราบถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของการให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกมีความจำเป็น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นปัจจัยที่ต้องอาศัยพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับนมแม่ของคนในสังคมที่ไม่เพียงเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องช่วยเป็นผู้นำในการรณรงค์ ยังต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันสร้าง เพราะสังคมไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ทุกคนคงต้องช่วยกันในบทบาทของตนเอง เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงของสังคมนมแม่ อนาคตที่เข้มแข็งและมีสุขภาพดีของบุคลากรที่กินนมแม่ที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
1. Ares G, Girona A, Rodriguez R, et al. Social representations of breastfeeding and infant formula: An exploratory study with mothers and health professionals to inform policy making. Appetite 2020;151:104683.

 

ย่า ยายมีความสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ในสังคมไทยยังมีการเป็นครอบครัวที่ขยายหรือครอบครัวใหญ่ที่จะพบกลุ่มคนในครอบครัวที่มีหลายลำดับอายุ การที่มีผู้ใหญ่อยู่ในครอบครัวจึงมีผลต่อการตัดสินใจและการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่ปู่ย่าตายาย โดยเฉพาะย่าและยายผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรคำนึงถึง1 และเป็นการหาแนวร่วมที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่อยู่ใกล้ชิดกับมารดาในครอบครัวที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Angelo BHB, Pontes CM, Sette GCS, Leal LP. Knowledge, attitudes and practices of grandmothers related to breastfeeding: a meta-synthesis. Rev Lat Am Enfermagem 2020;28:e3214.