คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การบีบน้ำนมด้วยมือ

แนะนำขั้นตอนและเทคนืคการบีบน้ำนมด้วยมือ พร้อมแสดงตัวอย่าง

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยลดการเสียชีวิตของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อมีหลายอย่าง ได้แก่ ช่วยในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยป้องกันทารกตัวเย็น (hypothermia) ช่วยให้ทารกอบอุ่น/ลดการใช้พลังงานของทารกซึ่งจะช่วยป้องกันทารกเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก นอกจากนี้ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อยังช่วยลดการเกิดการเสียชีวิตของทารกเฉียบพลันโดยไม่ได้คาดหวัง (sudden unexpected infant death หรือ SUID) ร้อยละ 15 (OR 0.85, 95%CI 0.77-0.94)1 ในช่วง 6 วันแรกหลังคลอด ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวถึงประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Bartick M, Boisvert ME, Philipp BL, Feldman-Winter L. Trends in Breastfeeding Interventions, Skin-to-Skin Care, and Sudden Infant Death in the First 6 Days after Birth. J Pediatr 2020;218:11-5.

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดการเกิดมะเร็งรังไข่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีหลากหลายทั้งประโยชน์ที่มีต่อมารดาและทารก โดยประโยชน์ในข้อหนึ่งที่มีต่อมารดา ได้แก่ การลดการเกิดมะเร็งรังไข่ ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นตัวแปรอิสระที่มีผลในการลดการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยจากการศึกษาพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถลดการเกิดมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามได้ร้อยละ 24 ซึ่งชนิดของมะเร็งรังไข่ที่มีผลได้แก่ มะเร็งรังไข่ชนิด serous และ endometrioid และพบว่า การที่มารดาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หนึ่งครั้งนาน 1-3 เดือนจะช่วยลดการเกิดมะเร็งรังไข่ร้อยละ 18 ขณะที่หากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นนานกว่า 12 เดือนจะช่วยลดการเกิดมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 และในมารดาที่เพิ่งให้นมบุตรจะส่งผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ในอนาคตได้เป็นระยะเวลา 10 ปี1 จากผลการศึกษานี้จะให้ภาพที่ชัดเจนของการลดการเกิดมะเร็งรังไข่ที่เป็นมะเร็งในอันดับต้น ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของสตรีในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Babic A, Sasamoto N, Rosner BA, et al. Association Between Breastfeeding and Ovarian Cancer Risk. JAMA Oncol 2020:e200421.

การเจ็บแผลผ่าตัดคลอดทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาที่ผ่าตัดคลอดจะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า และพบว่ามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่โรงพยาบาลลดลง โดยหากประเมินการเจ็บแผลผ่าตัดคลอดเป็นคะแนน (pain score) จะพบว่า เมื่อคะแนนการเจ็บแผลผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น 1 คะแนนจะสัมพันธ์กับการลดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 21 และพบว่ามารดาที่มีการเจ็บแผลผ่าตัดคลอดมากจะสัมพันธ์กับการนอนโรงพยาบาลที่นานขึ้น โดยหากพบมารดามีคะแนนการเจ็บแผลผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น 1 คะแนน จะพบว่าทำให้มีการนอนโรงพยาบาลนานขึ้น 7.98 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังพบว่ามารดาที่มีการเจ็บแผลผ่าตัดคลอดมากจะสัมพันธ์กับการพบภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเพิ่มขึ้นด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. Babazade R, Vadhera RB, Krishnamurthy P, et al. Acute postcesarean pain is associated with in-hospital exclusive breastfeeding, length of stay and post-partum depression. J Clin Anesth 2020;62:109697.

 

การจัดพี่เลี้ยงนมแม่ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การจัดระบบพี่เลี้ยงนมแม่เพื่อให้คำปรึกษาในกรณีมารดามีปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพในการจัดระบบพี่เลี้ยงนมแม่ โดยเปรียบเทียบผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มที่มีและไม่มีการจัดระบบพี่เลี้ยงนมแม่ ผลการศึกษาพบว่า ผลการประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มที่มีการจัดระบบพี่เลี้ยงนมแม่ดีกว่าการไม่มีการจัดระบบพี่เลี้ยงนมแม่อย่างมีนัยสำคัญที่ในระยะหลังคลอดที่ 1, 2 และ 3 เดือน1 ดังนั้น การจัดระบบพี่เลี้ยงนมแม่เป็นหนึ่งในระบบการจัดการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่โรงพยาบาลที่มีความพร้อมควรดำเนินการจัดระบบพี่เลี้ยงนมแม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้การดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Azimi N, Nasiri A. The effect of peer counseling on breastfeeding behavior of primiparous mothers: A randomized controlled field trial. Public Health Nurs 2020.