คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

คำถามเกี่ยวกับโควิด 19 กับการตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นก่อนว่า โควิด 19 เป็นโรคที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในช่วงปลายปี 2562 โดยเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อ คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย โดยส่วนน้อยที่พบมีอาการรุนแรงที่มีภาวะปอดอักเสบที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการติดเชื้อสามารถแพร่ระบาดไปได้รวดเร็ว เนื่องจากการแพร่เชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ทั้งจากคนที่มีอาการน้อยและไม่มีอาการ ทำให้มีคนที่ติดเชื้อจำนวนมาก เกิดคนที่มีอาการรุนแรงมากพร้อม ๆ กัน จนเกิดการขาดแคลนอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การดูแลได้อย่างเหมาะสม จึงเกิดการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อได้มาก และเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดใหม่ ดังนั้นข้อมูลรายละเอียดบางอย่างจึงยังมีจำกัด แนวทางการดูแลหรือให้คำปรึกษาจึงเป็นแนวทางที่เกิดจากข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบัน ณ ตอนนี้เท่านั้น

            คำถามที่มีข้อสงสัยกันในเรื่องแรก คือ

หากสตรีตั้งครรภ์เกิดการติดเชื้อโควิด 19 จะเป็นอย่างไร?

คำตอบคือ สตรีตั้งครรภ์หากมีการติดเชื้อจะมีอาการเหมือนกับคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ การติดเชื้อไม่ได้พบว่าทำให้สตรีตั้งครรภ์มีอาการที่รุนแรงกว่า อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สตรีตั้งครรภ์ หากมารดาเกิดภาวะปอดอักเสบย่อมเกิดความเสี่ยงหรืออันตรายแก่ทารกได้ เนื่องจากในกรณีที่มารดาหายใจหอบเหนื่อย ออกซิเจนที่แลกเปลี่ยนที่ปอดจะลดลง ดังนั้น หากไม่มีการแก้ไขหรือใส่ท่อช่วยหายใจ ทารกที่อยู่ในครรภ์อาจเกิดภาวะการขาดออกซิเจนได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน จะเกิดอันตรายแก่ทารก โดยอาจเกิดการแท้ง การคลอดก่อนกำหนดได้1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davanzo R, Moro G, Sandri F, Agosti M, Moretti C, Mosca F. Breastfeeding and Coronavirus Disease-2019. Ad interim indications of the Italian Society of Neonatology endorsed by the Union of European Neonatal & Perinatal Societies. Matern Child Nutr 2020:e13010.

ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่บอกถึงความเสี่ยงในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประสบการณ์ในการคลอดบุตรและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญต่อผลของการตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ในมารดาที่เป็นเบาหวานพบว่า มารดาที่มีประสบการณ์ในการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบมีการแท้งน้อยกว่า ทารกคลอดครบกำหนดมากกว่า และพบมีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เร็วมากกว่าด้วย1 จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์ของมารดาเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจใช้ในการบอกถึงความเสี่ยงของผลของการตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยหากมารดาขาดประสบการณ์ บุคลากรทางการแพทย์ควรถือว่ามารดามีความเสี่ยงและมีโอกาสที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า ซึ่งต้องการการเอาใจใส่ ติดตาม และให้คำปรึกษา เพื่อช่วยสนับสนุนให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มสูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

1.            Cordero L, Stenger MR, Blaney SD, Finneran MM, Nankervis CA. Prior breastfeeding experience and infant feeding at discharge among women with pregestational diabetes mellitus. J Neonatal Perinatal Med 2020.

การให้ความรู้ออนไลน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็น ซึ่งนอกจากเป็นการปรับให้บุคลากรมีความรู้ที่ทันสมัยแล้ว ยังช่วยในเรื่องทัศนคติของบุคลากรที่จะส่งผลดีต่อเรื่องที่อบรมนั้น ๆ  ซึ่งการจัดให้ความรู้แก่บุคลากรในรูปแบบออนไลน์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีการแนะนำให้มีการรักษาระยะห่างทางสังคม มีการศึกษาในประเทศอิตาลีที่ทำการศึกษาถึงการจัดให้ความรู้เรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ออนไลน์แก่บุคลากรทางการแพทย์พบว่า ความรู้ของบุคลากรจะลดลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป และการจัดให้ความรู้จะส่งผลดีต่อทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น การจัดอบรมให้ความรู้ออนไลน์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต้องมีการวางแผนการจัดเป็นระยะ ๆ  เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องและการมีทัศนคติที่ดีต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Colaceci S, Zambri F, D’Amore C, et al. Long-Term Effectiveness of an e-Learning Program in Improving Health Care Professionals’ Attitudes and Practices on Breastfeeding: A 1-Year Follow-Up Study. Breastfeed Med 2020.

การให้ความรู้แก่มารดาช่วยให้มารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ความรู้ในเรื่องการดูแลทารกและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและส่งผลต่อความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า การให้ความรู้แก่มารดาจะส่งผลต่อการรับรู้ และช่วยให้มารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น โดยที่ไม่พบว่าการให้ความรู้แก่มารดามีผลต่อการทำหัตถการในระหว่างการคลอด หรือวิธีการคลอด1 และเป็นที่ทราบกันดีว่า หากมารดามีความมั่นในใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะส่งผลดีต่อการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดระบบให้มีการให้ความรู้แก่มารดาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจัดระบบให้เป็นงานประจำ

เอกสารอ้างอิง

  1. Citak Bilgin N, Ak B, Ayhan F, Kocyigit F, Yorgun S, Topcuoglu MA. Effect of childbirth education on the perceptions of childbirth and breastfeeding self-efficacy and the obstetric outcomes of nulliparous women(*,**,**). Health Care Women Int 2020;41:188-204.

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะที่พบได้บ่อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ ฮอร์โมน บทบาท และภาระหน้าที่ต่าง ๆ ของมารดา ซึ่งจะพบมากขึ้นในมารดาที่อายุมาก และได้รับการผ่าตัดคลอด โดยหากพบภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะสัมพันธ์กับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ จากการที่มารดาหยุดการให้นมลูกก่อนเวลาอันควรนทางกลับกัน หากมารดาเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตั้งแต่ในระยะแรก จะพบภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดากลุ่มนี้น้อย ซึ่งแสดงถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลในการช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดาได้1 อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ควรเอาใจใส่กับมารดาที่มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพื่อให้คำปรึกษารวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนการช่วยเหลือจากสามีและครอบครัว การสังเกต การให้การวินิจฉัยและให้การดูแลมารดาที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ตั้งแต่ในระยะแรก นอกจากจะช่วยลดระยะเวลาในการให้การดูแลรักษา ยังอาจจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Chiu HC, Wang HY, Hsiao JC, et al. Early breastfeeding is associated with low risk of postpartum depression in Taiwanese women. J Obstet Gynaecol 2020;40:160-6.