คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

นมแม่ช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะแทรกซ้อนของมารดาที่พบได้บ่อย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของทั้งร่างกายและระบบฮอร์โมนในระยะหลังคลอด ได้แก่ ร่างกายมารดาที่เคยเต่งตึงกลับมีหน้าท้องที่หย่อนยาน สีผิวหนังที่มีความเข้มขึ้นทั้งบริเวณหัวนมและหน้าท้อง อาจมีหน้าท้องลายในมารดาบางคน การที่ต้องดูแลทารกตลอดเวลา ระดับฮอร์โมนที่ลดลงอย่างมากในช่วงหลังคลอด ร่วมกับมีการหลั่งเมลาโทนินที่เป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับจากการกระตุ้นของออกซิโตซิน ซึ่งหากเมลาโทนินมีระดับที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้  การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่สามารถลดการเกิดการซึมเศร้าหลังคลอด โดยมีการศึกษาพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ในช่วงสามเดือนหลังคลอด1 ความชุกของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดพบในมารดาที่ให้นมแม่ร้อยละ 2.5 ขณะที่พบร้อยละ 19.4 ในมารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่2 และยังพบความสัมพันธ์ผกผันระหว่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย นั่นคือในมารดาที่พบภาวะซึมเศร้าจะส่งผลทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงได้3

เอกสารอ้างอิง

  1. Figueiredo B, Canario C, Field T. Breastfeeding is negatively affected by prenatal depression and reduces postpartum depression. Psychol Med 2014;44:927-36.
  2. Tashakori A, Behbahani AZ, Irani RD. Comparison Of Prevalence Of Postpartum Depression Symptoms Between Breastfeeding Mothers And Non-breastfeeding Mothers. Iran J Psychiatry 2012;7:61-5.
  3. Webber E, Benedict J. Postpartum depression: A multi-disciplinary approach to screening, management and breastfeeding support. Arch Psychiatr Nurs 2019;33:284-9.

นมแม่ช่วยน้ำหนักมารดาลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  โดยทั่วไปสตรีมักวิตกกังวลเรื่องอ้วน ซึ่งจากค่านิยมในการบำรุงโดยให้มารดาเพิ่มการรับประทานอาหาร ซึ่งมักรับประทานอาหารเกินกว่าความต้องการของร่างกายระหว่างการตั้งครรภ์ สิ่งที่พบคือน้ำหนักขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์มากกว่าปกติ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความวิตกกังวลเรื่องอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินที่จะพบเมื่อมารดาคลอดบุตรไปแล้ว การควบคุมอาหารให้ได้ครบหมู่และมีปริมาณที่พอดีในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดจะช่วยป้องกันมารดาที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนหลังคลอดได้ นอกจากนี้ การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยให้มารดามีน้ำหนักลดลงได้ดี โดยหลังคลอดเมื่อมารดาให้นมลูกจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และพบว่ามารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรีต่อวัน1 ซึ่งผลของน้ำหนักที่ลดลงของมารดาจะเห็นได้ชัดที่หกเดือนและที่หนึ่งปีครึ่งหลังคลอด1,2

เอกสารอ้างอิง

  1. Dieterich CM, Felice JP, O’Sullivan E, Rasmussen KM. Breastfeeding and Health Outcomes for the Mother-Infant Dyad. Pediatric Clinics of North America 2013;60:31-48.
  2. Baker JL, Gamborg M, Heitmann BL, Lissner L, Sorensen TI, Rasmussen KM. Breastfeeding reduces postpartum weight retention. Am J Clin Nutr 2008;88:1543-51.

 

นมแม่ช่วยลดมดลูกเข้าอู่ได้ดีขึ้น

                รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   การเข้าอู่ของมดลูก คือการที่มดลูกที่ขยายตัวจากการตั้งครรภ์ที่จะมีขนาดที่ใหญ่ คลำได้จากหน้าท้อง จะมีการหดตัวกลับเข้าสู่ขนาดใกล้เคียงกับก่อนการตั้งครรภ์ และอยู่ในช่องกระดูกอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะไม่สามารถคลำได้จากทางหน้าท้อง การที่มดลูกลดขนาดลงและกลับเข้าสู่ตำแหน่งในอุ้งเชิงกรานก็จะเปรียบเทียบเป็นลักษณะที่คนโบราณเรียกกระบวนการนี้ว่า การเข้าอู่ กลไกนี้ต้องอาศัยการทำงานของฮอร์โมนออกซิโตซิน ดังนั้นการอธิบายกลไกนี้จะมีลักษณะเดียวกับการป้องกันการตกเลือดหลังคลอด คือการที่ทารกได้ดูดนมแม่ จะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ซึ่งฮอร์โมนออกซิโตซินนี้จะมีบทบาทในการช่วยให้มดลูกหดตัวดี ซึ่งการหดรัดตัวที่ดีของมดลูกจะช่วยให้กลไกการหดรัดตัวของมดลูกกลับสู่ขนาดใกล้เคียงกับก่อนการตั้งครรภ์ทำได้ดี1

เอกสารอ้างอิง

  1. Dieterich CM, Felice JP, O’Sullivan E, Rasmussen KM. Breastfeeding and Health Outcomes for the Mother-Infant Dyad. Pediatric Clinics of North America 2013;60:31-48.

 

นมแม่ช่วยลดการตกเลือดหลังคลอดของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การที่ทารกได้ดูดนมแม่ จะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ซึ่งฮอร์โมนออกซิโตซินนี้จะมีบทบาทในการช่วยให้มดลูกหดตัวดี ซึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงกลไกนี้อาจสังเกตุได้ขณะที่ลูกดูดนม มารดาจะรู้สึกปวดเกร็งที่ท้องน้อย นั่นก็เป็นอาการที่แสดงถึงผลของการให้ลูกดูดนมที่ช่วยให้มดลูกหดรัดตัวได้ การหดรัดตัวที่ดีของมดลูกจะลดความเสี่ยงในการเกิดลดการเสียเลือดและการตกเลือดหลังคลอด1 ซึ่งปัจจุบันยังพบว่า การตกเลือดหลังคลอดยังเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของมารดา

เอกสารอ้างอิง

  1. Dieterich CM, Felice JP, O’Sullivan E, Rasmussen KM. Breastfeeding and Health Outcomes for the Mother-Infant Dyad. Pediatric Clinics of North America 2013;60:31-48.

นมแม่ช่วยลดความเจ็บปวดจากการเจาะเลือด

อ่านเพิ่มเติม นมแม่ช่วยลดความเจ็บปวดจากการเจาะเลือด