คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

นมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมในมารดา

                รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรี และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้ มีคำอธิบายถึงกลไกที่ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านม1  ดังนี้

  • เกิดจากการที่ขณะมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่มีการตกไข่ ทำให้ลดความโอกาสหรือระยะเวลาในการได้รับฮอร์โมนเพศของสตรีลง
  • เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเต้านมที่พัฒนาไปสู่ระยะที่สมบูรณ์ในขณะที่ให้นมแม่
  • เกิดจากการลดการได้รับสารพิษจำพวก organochlorine ในระหว่างที่มารดาให้นมแม่
  • เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของ growth factor เบต้าที่มีผลในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง

                จากงานวิจัยที่เป็นการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่า การให้ลูกนมกินนมแม่ช่วยลดมะเร็งเต้านมได้ โดยมารดาเคยให้ลูกกินนมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้ถึงราวร้อยละ 10-15 ขณะที่มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้ราวร้อยละ 28-501,2 ซึ่งระยะเวลาที่ให้นมลูกยิ่งนานยิ่งลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น โดยบางรายงานพบว่าหากมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานมากกว่าหกเดือนจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ดีกว่า3,4 อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่เคยให้นมลูกไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดก็มีผลในการป้องกันมะเร็งเต้านมได้2 

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhou Y, Chen J, Li Q, Huang W, Lan H, Jiang H. Association between breastfeeding and breast cancer risk: evidence from a meta-analysis. Breastfeed Med 2015;10:175-82.
  2. Unar-Munguia M, Torres-Mejia G, Colchero MA, Gonzalez de Cosio T. Breastfeeding Mode and Risk of Breast Cancer: A Dose-Response Meta-Analysis. J Hum Lact 2017;33:422-34.
  3. Gonzalez-Jimenez E, Garcia PA, Aguilar MJ, Padilla CA, Alvarez J. Breastfeeding and the prevention of breast cancer: a retrospective review of clinical histories. J Clin Nurs 2014;23:2397-403.
  4. Nagata C, Mizoue T, Tanaka K, et al. Breastfeeding and breast cancer risk: an evaluation based on a systematic review of epidemiologic evidence among the Japanese population. Jpn J Clin Oncol 2012;42:124-30.

 

นมแม่ช่วยป้องกันมะเร็งรังไข่ในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                มะเร็งรังไข่นั้นแม้ไม่ได้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในสตรี แต่มะเร็งรังไข่ก็ยังพบเป็นหนึ่งในห้าของมะเร็งที่พบบ่อยในสตรี ซึ่งเมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ส่วนใหญ่ต้องทำการผ่าตัดทั้งมดลูกและรังไข่ออก ซึ่งมีผลต่อการเจริญพันธุ์และสภาพจิตใจของสตรีเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อผ่าตัดรังไข่ออกไปแล้วสตรีจะเข้าสู่วัยทองหากยังมีอายุน้อย หนึ่งในวิธีป้องกันลดการเกิดมะเร็งรังไข่ในสตรี คือ การมีบุตรและให้บุตรกินนมแม่ มีการศึกษาพบว่ามารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 และยิ่งระยะเวลาที่ให้นมแม่นานจะสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ได้มากขึ้น1,2

เอกสารอ้างอิง

  1. Li DP, Du C, Zhang ZM, et al. Breastfeeding and Ovarian Cancer Risk: a Systematic Review and Meta-analysis of 40 Epidemiological Studies. Asian Pac J Cancer Prev 2014;15:4829-37.
  2. Luan NN, Wu QJ, Gong TT, Vogtmann E, Wang YL, Lin B. Breastfeeding and ovarian cancer risk: a meta-analysis of epidemiologic studies. Am J Clin Nutr 2013;98:1020-31.

 

นมแม่ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  โรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ กลุ่มโรคที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก และเส้นเลือดในสมองอุดตันทำให้สมองขาดเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์และอัมพาตที่ส่งผลทำให้เกิดความพิการหรือลดคุณภาพชีวิต โรคเหล่านี้พบมากขึ้นในปัจจุบันเช่นเดียวกับโรคหัวใจและมีปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกัน มีการศึกษาพบว่า การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่จะช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้ โดยมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 23 เมื่อเข้าสู่วัยหลังหมดประจำเดือน1 นอกจากนี้ ยิ่งมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน จะยิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Jacobson LT, Hade EM, Collins TC, et al. Breastfeeding History and Risk of Stroke Among Parous Postmenopausal Women in the Women’s Health Initiative. J Am Heart Assoc 2018;7:e008739.

 

นมแม่ช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจในมารดา

                รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจตามมาได้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการกินและการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยจะกินขนมขบเคี้ยวที่มีปริมาณเกลือและไขมันสูง ออกกำลังกายน้อยหรือไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งสุดท้ายก็ก่อให้เกิดโรคหัวใจและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบสูงขึ้น ในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนซึ่งส่งผลเสียต่อค่าระดับน้ำตาลและไขมันในกระแสเลือด แต่ถือเป็นโชคดีเมื่อถึงระยะหลังคลอด การให้นมลูกจะทำให้เกิดการตั้งค่าของระดับน้ำตาลและไขมันในร่างกายมารดาใหม่ตาม “ทฤษฎีการตั้งค่าใหม่ (reset theory)” ซึ่งจะตั้งค่าของน้ำตาลและไขมันที่ส่งผลดีต่อมารดา โดยจะมีผลในการป้องกันการเกิดเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง และโรคหัวใจในอนาคต1 นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อมารดาเข้าสู่วัยทอง มารดาที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานกว่าจะพบการเกิดความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจน้อยกว่า2

เอกสารอ้างอิง

  1. Stuebe AM, Rich-Edwards JW. The reset hypothesis: lactation and maternal metabolism. Am J Perinatol 2009;26:81-8.
  2. Schwarz EB, Ray RM, Stuebe AM, et al. Duration of lactation and risk factors for maternal cardiovascular disease. Obstet Gynecol 2009;113:974-82.

 

นมแม่ช่วยป้องกันการเกิดเบาหวานในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            นอกจากการให้ลูกได้กินนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดเบาหวานในทารกทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 แล้ว1,2 การให้ลูกกินนมแม่ยังช่วยป้องกันการเกิดเบาหวานในมารดาด้วย มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกกินนมแม่ยิ่งนานยิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ลง 0.68 เท่า (95%CI 0.57-0.82)3 โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 12 เดือนในช่วงชีวิตจะลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 4-124 สำหรับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 1-3 เดือนจะลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 505 และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีผลในมารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ โดยจะทำให้ระดับไขมันและน้ำตาลดีขึ้นขณะที่ให้นมแม่ในระยะ 3 เดือนแรกหลังคลอด6 นอกจากนี้ในสตรีวัยทองที่มีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นานกว่าจะพบการเกิดเบาหวานลดลง7

เอกสารอ้างอิง

  1. Patelarou E, Girvalaki C, Brokalaki H, Patelarou A, Androulaki Z, Vardavas C. Current evidence on the associations of breastfeeding, infant formula, and cow’s milk introduction with type 1 diabetes mellitus: a systematic review. Nutr Rev 2012;70:509-19.
  2. Pereira PF, Alfenas Rde C, Araujo RM. Does breastfeeding influence the risk of developing diabetes mellitus in children? A review of current evidence. J Pediatr (Rio J) 2014;90:7-15.
  3. Aune D, Norat T, Romundstad P, Vatten LJ. Breastfeeding and the maternal risk of type 2 diabetes: a systematic review and dose-response meta-analysis of cohort studies. Nutr Metab Cardiovasc Dis 2014;24:107-15.
  4. Stuebe AM, Rich-Edwards JW, Willett WC, Manson JE, Michels KB. Duration of lactation and incidence of type 2 diabetes. JAMA 2005;294:2601-10.
  5. Schwarz EB, Brown JS, Creasman JM, et al. Lactation and maternal risk of type 2 diabetes: a population-based study. Am J Med 2010;123:863 e1-6.
  6. Much D, Beyerlein A, Rossbauer M, Hummel S, Ziegler AG. Beneficial effects of breastfeeding in women with gestational diabetes mellitus. Mol Metab 2014;3:284-92.
  7. Schwarz EB, Ray RM, Stuebe AM, et al. Duration of lactation and risk factors for maternal cardiovascular disease. Obstet Gynecol 2009;113:974-82.