คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การเตรียมมารดาตั้งแต่ในระยะก่อนคลอดเพื่อช่วยการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              มารดาควรได้รับการเตรียมตัวในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะก่อนการคลอด เพื่อให้มารดามีความรู้ความเข้าใจ และมีความพร้อมที่จะเริ่มนมแม่ได้ทันทีหลังคลอด ซึ่งการเตรียมความพร้อมให้กับมารดาในระยะก่อนคลอด มีกระบวนการจัดการดังนี้

  1. ควรมีการอภิปรายแผนการดูแลระหว่างการคลอดกับมารดาและครอบครัวเมื่อการตั้งครรภ์ใกล้กำหนดคลอด เพื่อลดความวิตกกังวล หลีกเลี่ยงการชักนำการคลอดหรือการผ่าตัดคลอดโดยขาดข้อบ่งชี้
  2. ควรมีการจัดการแนะนำห้องคลอดและทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ที่ห้องคลอดเพื่อสร้างความคุ้นเคย จัดบริการทางเลือกให้สามีสามารถเข้าร่วมขณะดูแลการคลอดได้โดยการผ่านการอบรมระยะสั้น และจัดบริการการให้คำปรึกษาหรือโทรศัพท์สอบถาม หากมีอาการสงสัยว่าเจ็บครรภ์คลอด
  3. ควรมีการสอนสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด1 ได้แก่ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และการเริ่มให้ทารกดูดนมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Pereira CR, Fonseca Vde M, Couto de Oliveira MI, Souza IE, Reis de Mello R. Assessment of factors that interfere on breastfeeding within the first hour of life. Rev Bras Epidemiol 2013;16:525-34.

การเริ่มให้ลูกกินนมแม่กับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การเริ่มต้นที่ดีจะทำให้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น คำพูดนี้เป็นจริงรวมทั้งในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย  การช่วยให้มารดาได้เริ่มให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด หากทำได้ดีและสามารถเริ่มการให้นมลูกได้ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นได้ เนื่องจากการเริ่มให้ลูกดูดนมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะกระตุ้นโพรแลกตินที่มีปริมาณสูงในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งหากร่วมกับการให้นมมากกว่า 8 ครั้งต่อวันจะทำให้ระดับโพรแลกตินที่เป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการสร้างน้ำนมคงมีระดับที่สูงและเป็นผลดีต่อการสร้างน้ำนม แต่หากมารดาเริ่มให้นมลูกช้ากว่า 6 ชั่วโมงแรกหลังคลอดมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1  สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรมีการบริหารจัดการการดูแลระหว่างการคลอดและหลังคลอดเพื่อเอื้อให้มารดาสามารถเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีและเร็ว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Chaves RG, Lamounier JA, Cesar CC. Factors associated with duration of breastfeeding. J Pediatr (Rio J) 2007;83:241-6.

 

การให้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยมารดาเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ (skin-to-skin contact) ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดเป็นประโยชน์ต่อทารกในหลาย ๆ  ด้าน  จากการศึกษาพบว่าการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยกระตุ้นการหลั่งออกซิโตซินและเป็นผลดีต่อการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก1 การหลั่งออกซิโตซินจะช่วยในการสร้างความผูกผันระหว่างมารดาและทารก ซึ่งจะช่วยลดการทอดทิ้งทารก และการหลั่งออกซิโตซินยังช่วยกระบวนการเกิดการไหลของน้ำนมจากเต้านมของมารดาได้ดีขึ้น นอกจากนี้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อยังมีผลดีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 1-4 เดือนหลังคลอดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและเพิ่มระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ2

เอกสารอ้างอิง

  1. Singh K, Khan SM, Carvajal-Aguirre L, Brodish P, Amouzou A, Moran A. The importance of skin-to-skin contact for early initiation of breastfeeding in Nigeria and Bangladesh. J Glob Health 2017;7:020505.
  2. Moore ER, Bergman N, Anderson GC, Medley N. Early skin-to-skin contact for mothers and their healthy newborn infants. Cochrane Database Syst Rev 2016;11:CD003519.

 

 

ผลของการใช้ยาแก้ปวดและยาระงับความรู้สึกต่อการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การใช้ยาแก้ปวดและยาระงับความรู้สึกในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดของมารดา ผลของการให้ยาแก้ปวดและยาระงับความรู้สึกจะมีต่อทารกโดยทำให้ทารกง่วงซึม ไม่พร้อมที่จะดูดนมในระยะแรกหลังคลอด การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า และส่งผลทำให้น้ำนมมาช้า1 นอกจากนี้ วิธีระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดคลอดยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยมารดาที่ใช้วิธีระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดคลอดโดยการดมสลบ (general anesthesia) จะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้ากว่ามารดาที่ใช้วิธีระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (spinal anesthesia)2 ดังนั้น หากมารดาสามารถคลอดปกติทางช่องคลอดได้จะเป็นผลดีต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Lind JN, Perrine CG, Li R. Relationship between use of labor pain medications and delayed onset of lactation. J Hum Lact 2014;30:167-73.
  2. Kocaoz FS, Destegul D, Kocaoz S. Comparison of the breastfeeding outcomes and self-efficacy in the early postpartum period of women who had given birth by cesarean under general or spinal anesthesia. J Matern Fetal Neonatal Med 2019:1-5.

 

การดูแลระหว่างคลอดมีผลอย่างไรต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กระบวนการการดูแลระหว่างการคลอด หากดูแลอย่างเหมาะสม จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งได้แก่ การให้อาหารว่างและน้ำกับมารดาในช่วงการคลอดระยะเริ่มต้น การให้อิสระกับมารดาในการเคลื่อนไหวในระหว่างการรอคลอด และการให้การสนับสนุนด้านจิตใจและอารมณ์กับมารดาระหว่างการคลอด ส่งผลทำให้มารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เร็วกว่า เนื่องจากช่วยลดความเครียดและความอ่อนเพลียในระหว่างการรอคลอดซึ่งมีผลทำให้น้ำนมมาช้าด้วย1-3 ขณะที่การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับมารดาที่นัดผ่าตัดคลอด การให้คาร์โบไฮเดรตชนิดน้ำรับประทานก่อนผ่าตัดจะช่วยให้มารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เร็วกว่าการงดน้ำงดอาหาร4

เอกสารอ้างอิง

  1. Grajeda R, Perez-Escamilla R. Stress during labor and delivery is associated with delayed onset of lactation among urban Guatemalan women. J Nutr 2002;132:3055-60.
  2. Dewey KG, Nommsen-Rivers LA, Heinig MJ, Cohen RJ. Risk factors for suboptimal infant breastfeeding behavior, delayed onset of lactation, and excess neonatal weight loss. Pediatrics 2003;112:607-19.
  3. Chapman DJ, Perez-Escamilla R. Identification of risk factors for delayed onset of lactation. J Am Diet Assoc 1999;99:450-4; quiz 5-6.
  4. Fard RK, Tabassi Z, Qorbani M, Hosseini S. The Effect of Preoperative Oral Carbohydrate on Breastfeeding After Cesarean Section: A Double-Blind, Randomized Controlled Clinical Trial. J Diet Suppl 2018;15:445-51.