คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีดังนี้

  • ทำให้ทารกและมารดารู้สึกสงบ และช่วยให้จังหวะการหายใจและการเต้นของหัวใจทารกสม่ำเสมอ
  • ช่วยให้ทารกได้รับความอบอุ่นจากความร้อนของร่างกายของมารดา ป้องกันการเกิดอาการตัวเย็น (hypothermia) ในทารกได้1
  • ช่วยในการปรับเมตาบอรึซึ่มของน้ำตาลในเลือดของทางทารกให้คงที่
  • ช่วยให้ก่อเกิดการมีกลุ่มของแบคทีเรียในลำไส้ทารกจากมารดาที่ให้การสัมผัสแรกกับทารก ไม่ใช่จากแพทย์หรือพยาบาล
  • ลดความเจ็บปวดของทารก การให้ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาช่วยลดความเจ็บปวดของทารกจากการเจาะเลือดที่ปลายเท้าได้2
  • ลดการร้องกวนของทารก ซึ่งจะลดความเครียดและการใช้พลังงานของทารกด้วย
  • ช่วยให้สายสัมพันธ์ของมารดาและทารกดีขึ้น3 ทำให้ทารกตื่นตัวในหนึ่งถึงสองชั่วโมงแรก จากนั้นโดยปกติทารกจะหลับนาน
  • ช่วยให้ทารกเริ่มการกินนมแม่ในระยะแรกดีขึ้น1,4 ให้โอกาสทารกได้เข้าหาเต้านมและดูดนมด้วยตนเอง ซึ่งทารกจะสามารถเข้าหาเต้านมได้จากสีของหัวนมและกลิ่นของน้ำนม โดยการเข้าเต้าลักษณะนี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าการแยกทารกออกไปในช่วงแรกหลังคลอด
  • ช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และช่วยเพิ่มระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5 นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย6 อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม7

             จะเห็นว่า การให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์ที่หลากหลาย รวมทั้งช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Srivastava S, Gupta A, Bhatnagar A, Dutta S. Effect of very early skin to skin contact on success at breastfeeding and preventing early hypothermia in neonates. Indian J Public Health 2014;58:22-6.
  2. Marin Gabriel MA, del Rey Hurtado de Mendoza B, Jimenez Figueroa L, et al. Analgesia with breastfeeding in addition to skin-to-skin contact during heel prick. Arch Dis Child Fetal Neonatal Ed 2013;98:F499-503.
  3. Widstrom AM, Wahlberg V, Matthiesen AS, et al. Short-term effects of early suckling and touch of the nipple on maternal behaviour. Early Hum Dev 1990;21:153-63.
  4. Mahmood I, Jamal M, Khan N. Effect of mother-infant early skin-to-skin contact on breastfeeding status: a randomized controlled trial. J Coll Physicians Surg Pak 2011;21:601-5.
  5. Karimi FZ, Sadeghi R, Maleki-Saghooni N, Khadivzadeh T. The effect of mother-infant skin to skin contact on success and duration of first breastfeeding: A systematic review and meta-analysis. Taiwan J Obstet Gynecol 2019;58:1-9.
  6. Karimi FZ, Miri HH, Khadivzadeh T, Maleki-Saghooni N. The Effect of Mother-Infant Skin to Skin Contact Immediately after Birth on Exclusive Breastfeeding: A Systematic Review and Meta-Analysis. J Turk Ger Gynecol Assoc 2019.
  7. Hemachandra A, Puapornpong P, Ketsuwan S, Imchit C. Effect of early skin-to-skin contact to breast milk volume and breastfeeding jaundice at 48 hours after delivery. J Med Assoc Thai 2016;99 (Suppl.8):s63-9.

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในครรภ์แฝดทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ในมารดาครรภ์แฝดที่คลอดปกติ หลังทารกคนแรกคลอด การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อสามารถทำได้ทันที หากทารกมีความพร้อม หรือการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้ออาจทำโดยสามีหรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ที่ช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้มารดาในระหว่างการคลอดไปก่อน จนกระทั่งมารดาเบ่งคลอดทารกคนที่สองแล้ว จึงจัดให้ ทารกทั้งสองคนได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อโดยมารดาได้พร้อมกัน สำหรับมารดาที่ผ่าตัดคลอด หากมารดาได้รับยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง มารดามีสติ รู้สึกตัวดี สามารถให้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเช่นเดียวกับมารดาที่คลอดปกติ แต่หากมารดาได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกโดยยาดมสลบ อาจต้องมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจากสามีหรือสมาชิกในครอบครัวไปก่อน จนกระทั่งมารดาเริ่มมีสติ และรู้สึกตัว โดยการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในครรภ์แฝดทั้งสองคนสามารถทำได้ตั้งแต่มารดาอยู่ในห้องพักพื้นของห้องผ่าตัดได้เลย1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

ทำไมต้องให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อนานอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อต้องการการปฏิบัติเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจาก ในชั่วโมงแรกหลังการเกิด ทารกจะมีพัฒนาการจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยต้องมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามสัญชาตญาณตามธรรมชาติเป็นลำดับใน 9 ขั้นตอน1 ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 ร้องไห้ขณะเกิด (birth cry) ทารกจะร้องไห้เมื่อแรกคลอด ซึ่งทำให้เกิดการขยายและนำอากาศเข้าสู่ปอด
  • ขั้นตอนที่ 2 ผ่อนคลาย (relaxation) หลังทารกหยุดร้องไห้ ทารกจะผ่อนคลาย ไม่มีขยับแขนขาหรือขยับปาก จะสังเกตเห็นทารกสงบนิ่งอยู่บนอกมารดา
  • ขั้นตอนที่ 3 ตื่นตัว (awakening) เมื่อถึงระยะนี้ ทารกจะมีการขยับศีรษะและไหล่ โดยทารกจะเข้าสู่ระยะนี้ราว 3 นาทีหลังจากเกิด อาจสังเกตเห็นทารกลืมตา ขยับปาก ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะและหัวไหล่
  • ขั้นตอนที่ 4 ขยับหรือเคลื่อนไหว (activity) ทารกจะมีการขยับปากหรือแสดงลักษณะของการดูดชัดเจนขึ้น รวมทั้งหากมีการสัมผัสบริเวณแก้มหรือริมฝีปาก ทารกจะหันเข้าหาและแสดงอาการดูดให้เห็น (rooting reflex) ระยะนี้จะเริ่มราว 8 นาทีหลังการเกิด
  • ขั้นตอนที่ 5 พัก (resting) เป็นระยะที่ทารกจะหยุดหรือพักจากการขยับหรือเคลื่อนไหว ซึ่งระยะพักจะพบสลับกับการที่ทารกขยับ ดูด หรือเคลื่อนไหวได้ตลอดช่วงที่ทารกอยู่บนอกมารดา
  • ขั้นตอนที่ 6 คืบคลาน (crawling) ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปหาเต้านมและหัวนม ระยะนี้จะเริ่มราว 35 นาทีหลังการเกิด
  • ขั้นตอนที่ 7 คุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม (familiarization) ทารกจะเริ่มมีการสัมผัส เลีย หรืออมหัวนม ซึ่งเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม พร้อมกับเป็นการส่งสัญญาณให้เต้านมมารดามีความพร้อมที่จะหลั่งน้ำนม ระยะนี้จะเริ่มราว 45 นาทีหลังการเกิด และทารกจะอยู่ในระยะนี้ราว 20 นาทีหรือมากกว่านั้น
  • ขั้นตอนที่ 8 ดูดนม (suckling) ระยะนี้ทารกจะเริ่มประกบปาก อมหัวนมและลานนม พร้อมกับดูดนม โดยจะเริ่มราว 1 ชั่วโมงหลังการเกิด แต่ในมารดาที่ได้รับการให้ยาแก้ปวดหรือยาระงับความรู้สึก อาจส่งผลให้ระยะนี้เกิดช้าลงได้
  • ขั้นตอนที่ 9 หลับ (sleep) หลังจากกิจกรรมต่าง ๆ ทารกจะง่วงหลับ ซึ่งจะพบทารกง่วงหลับราว 1 ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงหลังการเกิด

          จะเห็นว่า การที่ทารกจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 8 คือการดูดนมนั้น ทารกต้องใช้เวลาปรับตัวราว 1 ชั่วโมง จึงจะถึงกระบวนการในขั้นตอนที่จะมีความพร้อมในการดูดนม บางคนจึงถือว่าช่วงเวลาในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงเรียกเวลาในช่วงนี้ว่า “ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ (sacred hour)” ที่ไม่ควรมีกระบวนการอื่นใดมีรบกวน หากถูกรบกวน จะทำให้กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาที่นานขึ้น มีผลทำให้การเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดขึ้นช้าลง นอกจากนี้ การให้ความสำคัญแก่ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ในชั่วโมงแรกหลังคลอดยังมีประโยชน์ต่อมารดา โดยสามารถช่วยลดโดยสามารถช่วยลดการปวดแผลระหว่างการเย็บแผลที่เกิดจากการคลอด2 และลดการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของมารดาจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการคลอดบุตรได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Abdollahpour S, Bolbolhaghighi N, Khosravi A. Effect of the Sacred Hour on Postnatal Depression in Traumatic Childbirth: a Randomized Controlled Trial. J Caring Sci 2019;8:69-74.
  2. Mbalinda S, Hjelmstedt A, Nissen E, Odongkara BM, Waiswa P, Svensson K. Experience of perceived barriers and enablers of safe uninterrupted skin-to-skin contact during the first hour after birth in Uganda. Midwifery 2018;67:95-102.

 

 

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ควรเริ่มเมื่อไรดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อสามารถทำได้ทันทีเมื่อพร้อมหลังการคลอดและเช็ดตัวทารกให้แห้งแล้ว ทารกไม่จำเป็นต้องอาบน้ำหลังการคลอด1 ควรชะลอการชั่งน้ำหนัก วัดขนาดตัวทารก การให้ยาฆ่าเชื้อป้ายตาทารก การฉีดวิตามินเคและวัคซีนให้กับทารกจนกระทั่งทารกเริ่มการดูดนมครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว การอุ้มทารกมาไว้ที่หน้าอกมารดาทำโดยต้องไม่ห่อตัวทารกและมารดาต้องเปิดเสื้อผ้าในบริเวณที่สัมผัสให้เพียงพอ สำหรับการที่จะคลุมผ้าเพื่อความอบอุ่น จะคลุมทั้งทารกและมารดาไปพร้อมกัน ให้สัมผัสมารดาและทารกเนื้อแนบเนื้อ ซึ่งคลุมผ้านี้จะคล้ายกับการให้ลูกอย่างในถุงหน้าท้องของจิงโจ้ที่เรียก Kangaroo care ซึ่งหากสามารถให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้ออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมงจะช่วยในการเจริญเติบโตและการกินนมแม่ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย2,3 การที่ทารกได้สัมผัสผิวของมารดาจะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสและช่วยกลไกออกซิโตซินได้ ขั้นตอนนี้ให้ความสำคัญของการให้ทารกได้สัมผัสกับหน้าอกของมารดาพร้อมกับการสังเกตความพร้อมของทารกในการกินนมแม่ โดยให้ วางทารกให้ผิวสัมผัสแนบชิดกับมารดาทันทีหลังคลอดนานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง” หรือนานกว่านั้น และกระตุ้นให้มารดาสังเกตความพร้อมในการกินนมแม่ของลูก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ควรสังเกตมารดาและทารก และดูแลให้ช่วงเวลานี้ทารกได้ใช้เวลาอยู่บนหน้าอกมารดาอย่างสงบ ปราศจากการรบกวน ร่วมกับอาจเสนอความช่วยเหลือในบางกรณีหากมีความจำเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Morton J, Hall JY, Pessl M. Five steps to improve bedside breastfeeding care. Nurs Womens Health 2013;17:478-88.
  2. Gathwala G, Singh B, Singh J. Effect of Kangaroo Mother Care on physical growth, breastfeeding and its acceptability. Trop Doct 2010;40:199-202.
  3. Flacking R, Ewald U, Wallin L. Positive effect of kangaroo mother care on long-term breastfeeding in very preterm infants. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2011;40:190-7.

 

การตัดสายสะดือทารกที่คลอด ควรตัดเมื่อไหร่ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในสมัยก่อนที่ยังขาดการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและใช้ข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ การตัดสายสะดือทารกจะทำหลังการคลอดทารกทันที หากไม่มีภาวะเร่งด่วนอื่น ๆ แต่เมื่อมีการศึกษามากขึ้นพบว่า การชะลอการตัดสายสะดือ โดยให้มีการรัดหรือตัดสายสะดือหลังคลอดทารกราว 30 วินาทีถึง 2 นาที และจัดทำระดับตัวของทารกอยู่ต่ำกว่าระดับรก จะทำให้เลือดที่อยู่ในรกไหลเข้าสู่ตัวทารก ทารกได้รับเลือดเพิ่มขึ้นและช่วยในการสะสมของธาตุเหล็กด้วย1,2 ซึ่งจะมีประโยชน์ โดยช่วยลดการเกิดภาวะซีดของทารก และความวิตกกังวลของมารดาในเรื่องการขาดธาตุเหล็กจากการให้ลูกกินนมแม่3,4

เอกสารอ้างอิง

  1. McAdams RM. Time to implement delayed cord clamping. Obstet Gynecol 2014;123:549-52.
  2. Garofalo M, Abenhaim HA. Early versus delayed cord clamping in term and preterm births: a review. J Obstet Gynaecol Can 2012;34:525-31.
  3. Kc A, Rana N, Malqvist M, Jarawka Ranneberg L, Subedi K, Andersson O. Effects of Delayed Umbilical Cord Clamping vs Early Clamping on Anemia in Infants at 8 and 12 Months: A Randomized Clinical Trial. JAMA Pediatr 2017;171:264-70.
  4. Alzaree F, Elbohoty A, Abdellatif M. Early Versus Delayed Umbilical Cord Clamping on Physiologic Anemia of the Term Newborn Infant. Open Access Maced J Med Sci 2018;6:1399-404.