รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การผ่าตัดคลอดมีผลเสียทั้งมารดาและทารกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยลกระทบจากการผ่าตัดคลอดที่มีต่อทารก ได้แก่ ทารกจะมีความเสี่ยงสูงในการที่จะไม่ได้กินนมแม่หรือได้กินนมแม่ในช่วงสั้น ๆ โดยทารกที่ผ่าตัดคลอดจะมีปัญหาเรื่องการหายใจมากกว่า ทารกอาจจะต้องการการดูดเสมหะ ซึ่งทำให้ทารกเจ็บปากและลำคอซึ่งมีผลต่อการดูดนมแม่ ทารกได้รับยาทำให้ง่วงจากยาระงับความรู้สึกและยาแก้ปวดที่มารดาได้รับ ทารกจะได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อน้อยกว่า และทารกมีโอกาสสูงกว่าที่จะย้ายไปหออภิบาลทารกแรกเกิด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อระหว่างทารกด้วยกันเอง และต้องจำกัดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การช่วยเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ผ่าตัดคลอด จะเริ่มเมื่อมารดาและทารกส่งสัญญาณว่ามีความพร้อม โดยการเริ่มต้นมารดาไม่จำเป็นลุกนั่ง โอบกอดหรือต้องขยับเปลี่ยนท่าในการให้นมลูกได้ แต่จะเป็นทารกที่จะค้นหาเต้านมและเริ่มดูดนมเอง การปฏิบัตินี้สามารถทำได้นานตราบเท่าที่มีบุคลากรทางการแพทย์เฝ้าดูอยู่ แม้มารดาจะยังง่วงซึมจะฤทธิ์ของยาดมสลบก็ตาม บุคลากรควรช่วยให้มารดาอยู่ในท่าที่สบายในการให้นมลูก การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำอาจจะต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้สามารถจัดท่าทารกเข้าเต้าได้ ท่าที่ใช้สำหรับการให้นมอาจใช้ท่านอนตะแคงข้าง (side-lying) บนเตียง ท่านี้จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการปวดในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ และมารดายังสามารถทำได้แม้มารดาต้องนอนราบหลังจากให้ยาระงับความรู้สึกเข้าไขสันหลัง การจัดท่านี้มารดาควรจะต้องใช้หมอนช่วยพิงด้านหลังและรองใต้หัวเข่าขณะที่อยู่ในท่านอนตะแคงข้าง หรือมารดาอาจใช้ท่านั่งเอนหลัง (laid back) โดยทารกอยู่บนตัวมารดา สำหรับท่านอนหงายสามารถทำได้ แต่ไม่ควรให้ทารกกดทับบริเวณแผลผ่าตัด1
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การมีแนวทางปฏิบัติที่กำหนดต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่ในระยะคลอดและในระยะแรกหลังคลอดอาจรบกวนการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ได้แก่ การให้งดน้ำงดอาหารนานเกินไป ทำให้มารดาอ่อนเพลีย หมดแรงที่จะให้การดูแลทารก การให้ยาแก้ปวดจนทำให้มารดาและทารกง่วงซึม การตัดฝีเย็บโดยไม่จำเป็น ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น มารดาลุกนั่งลำบาก การขาดการให้กำลังใจหรือสนับสนุนจากสามีหรือคนใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยในการสนับสนุนให้มารดาให้นมลูกและช่วยดูแลมารดาและลูกในช่วงที่มารดาฟื้นตัวใหม่ๆ ในระยะหลังคลอด การแยกมารดาและทารกหลังคลอด การห่อทารกจนแน่นเกินไปหลังคลอด การให้น้ำเกลือ การติดเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจทารก และการทำหัตถการอื่นที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ ความวิตกกังวลเรื่องมารดาเหนื่อย1 มารดาไม่ต้องการอุ้มลูก ห้องคลอดยุ่ง ขาดบุคลากรที่จะเฝ้าดูแลมารดาและทารก สิ่งเหล่านี้ล้วนควรมีการปรับทัศนคติที่เหมาะสม และควรสร้างแนวทางการปฏิบัติที่เอื้อต่อการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ซึ่งจะเป็นการสร้างการดูแลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2
เอกสารอ้างอิง
Habib FA. Monitoring the practice and progress of initiation of breastfeeding within half an hour to one hour after birth, in the labor room of king khalid university hospital. J Family Community Med 2003;10:41-6.
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การมีแนวทางปฏิบัติที่กำหนดให้มีการอาบน้ำให้ทารกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้นเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม และอาจเป็นอุปสรรคในการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อได้ การมีการกำหนดการปฏิบัติเช่นนี้ อาจทำให้ทารกต้องแยกจากมารดาในระยะแรกหลังคลอด ทั้ง ๆ ที่ควรให้เวลาให้มารดาได้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อโดยปราศจากการรบกวน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทและช่วยในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในระยะแรกหลังคลอดนั้น ควรชะลอการอาบน้ำไว้ก่อน รอให้ไขของทารกที่อยู่บนผิวได้เคลือบ หล่อลื่น และช่วยรักษาอุณหภูมิของทารกจะเป็นประโยชน์มากกว่า ดังนั้น แนะนำให้มีการเช็ดตัวทารกให้แห้งสำหรับระยะแรกหลังคลอดก็เพียงพอ1
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การบังคับให้มารดานอนอยู่บนเตียงระหว่างหลังคลอดพบว่าอาจเป็นอุปสรรคในการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อได้ เนื่องจากมารดาบางคนต้องการที่จะนั่งเอนหลังกอดทารกไว้กับอกหรือเปลี่ยนท่าทางเพื่อความสบายตัวจะถูกจำกัดโดยการให้นอนอยู่บนเตียง โดยเฉพาะหากเป็นเตียงชั่วคราวที่ใช้สำหรับการย้ายเตียง จะแคบ นอนหรือนั่งไม่สบาย และอาจสร้างความเครียดให้เกิดกับมารดา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 สำหรับการลุกเดินของมารดาสามารถทำได้ แต่ควรระมัดระวังเรื่องอาการหน้ามืดที่พบบ่อยได้หลังคลอด ดังนั้นการลุกเดินควรมีญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ช่วยดูแลในช่วงแรก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการหน้ามืดชองมารดา
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)