คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกช่วยความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                     นอกจากการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่จะช่วยเรื่องความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การเริ่มให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดโดยเฉพาะภายในหนึ่งชั่วโมงแรกยังช่วยความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย เนื่องจากการเริ่มให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนโพรแลกตินที่มีผลต่อการสร้างน้ำนมได้ดี กระตุ้นออกซิโตซินที่จะช่วยในการหลั่งของน้ำนม และการหดรัดตัวของมดลูกซึ่งลดการเสียเลือดหลังคลอด ซึ่งหากมีการเริ่มให้นมลูกช้า โดยเฉพาะให้ช้ากว่า 6 ชั่วโมงแรกหลังคลอดจะมีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1,2 ดังนั้น กระบวนการเหล่านี้จึงควรให้การสนับสนุนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง
1. Wu X, Gao X, Sha T, et al. Modifiable Individual Factors Associated with Breastfeeding: A Cohort Study in China. Int J Environ Res Public Health 2019;16.
2. Chaves RG, Lamounier JA, Cesar CC. Factors associated with duration of breastfeeding. J Pediatr (Rio J) 2007;83:241-6.

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             เป็นที่ทราบกันดีว่าการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด (skin-to-skin contact) จะช่วยให้ทารกเริ่มการกินนมแม่ในระยะแรก  ซึ่งหากมารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีก็จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้  การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อยังช่วยให้สายสัมพันธ์ของมารดาและทารกดีขึ้น1,2 มีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 1-4 เดือนหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสูงขึ้นด้วย3

เอกสารอ้างอิง

  1. Srivastava S, Gupta A, Bhatnagar A, Dutta S. Effect of very early skin to skin contact on success at breastfeeding and preventing early hypothermia in neonates. Indian J Public Health 2014;58:22-6.
  2. Mahmood I, Jamal M, Khan N. Effect of mother-infant early skin-to-skin contact on breastfeeding status: a randomized controlled trial. J Coll Physicians Surg Pak 2011;21:601-5.
  3. Chiou ST, Chen LC, Yeh H, Wu SR, Chien LY. Early skin-to-skin contact, rooming-in, and breastfeeding: a comparison of the 2004 and 2011 National Surveys in Taiwan. Birth 2014;41:33-8.

การเจ็บหัวนมและเต้านมทำให้มารดาหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   การเจ็บหัวนมจะพบได้ในมารดาที่เริ่มให้นมลูกใหม่ ๆ แต่อาการจะดีขึ้นและหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ หากมีอาการเกิน 1 สัปดาห์ ควรตรวจหาความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บหัวนม มีการศึกษาพบว่า การไม่มีอาการเจ็บหัวนมจะสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ขณะที่การเจ็บหัวนมจะมีผลต่อการสร้างน้ำนมที่ลดลง2     มารดาที่มีอาการเจ็บเต้านมจะสัมพันธ์กับการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก3-5 และมีความสัมพันธ์กับการเริ่มการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรือขวดนมมากขึ้น6 แต่สิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะยาว7,8 สาเหตุของการเจ็บหัวนมมักเกิดจากการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม การจัดที่ให้นมลูกที่ไม่ถูกต้อง ทารกมีภาวะลิ้นติด และความผิดปกติในการดูดนมของทารก9 ซึ่งการให้ความรู้ สอนให้มารดาปฏิบัติ และการสังเกตมารดาขณะให้นมลูกจะช่วยบอกถึงสาเหตุ ลดความกลัวและความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บหัวนมและเต้านมได้10 นอกจากนี้ การที่มารดามีหัวนมแตกและเต้านมอักเสบยังเป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย11

เอกสารอ้างอิง

  1. Hegazi MA, Allebdi M, Almohammadi M, Alnafie A, Al-Hazmi L, Alyoubi S. Factors associated with exclusive breastfeeding in relation to knowledge, attitude and practice of breastfeeding mothers in Rabigh community, Western Saudi Arabia. World J Pediatr 2019.
  2. McClellan HL, Hepworth AR, Kent JC, et al. Breastfeeding frequency, milk volume, and duration in mother-infant dyads with persistent nipple pain. Breastfeed Med 2012;7:275-81.
  3. Kvist LJ, Larsson BW, Hall-Lord ML. A grounded theory study of Swedish women’s experiences of inflammatory symptoms of the breast during breast feeding. Midwifery 2006;22:137-46.
  4. Walker M. Conquering common breast-feeding problems. J Perinat Neonatal Nurs 2008;22:267-74.
  5. McClellan HL, Hepworth AR, Garbin CP, et al. Nipple pain during breastfeeding with or without visible trauma. J Hum Lact 2012;28:511-21.
  6. Indraccolo U, Bracalente M, Di Iorio R, Indraccolo SR. Pain and breastfeeding: a prospective observational study. Clin Exp Obstet Gynecol 2012;39:454-7.
  7. Hector D, King L, Webb K, Heywood P. Factors affecting breastfeeding practices: applying a conceptual framework. N S W Public Health Bull 2005;16:52-5.
  8. DiGirolamo A, Thompson N, Martorell R, Fein S, Grummer-Strawn L. Intention or experience? Predictors of continued breastfeeding. Health Educ Behav 2005;32:208-26.
  9. Tait P. Nipple pain in breastfeeding women: causes, treatment, and prevention strategies. J Midwifery Womens Health 2000;45:212-5.
  10. Thorley V. Latch and the fear response: overcoming an obstacle to successful breastfeeding. Breastfeed Rev 2005;13:9-11.
  11. Colombo L, Crippa BL, Consonni D, et al. Breastfeeding Determinants in Healthy Term Newborns. Nutrients 2018;10.

 

ความยาวหัวนมมีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 เป็นที่ทราบกันดีว่า การที่มารดามีหัวนมบอดมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ความยาวของหัวนมที่สั้นยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยพบว่าหัวนมของมารดาที่สั้นกว่า 7 มิลลิเมตรในขณะหลังคลอดจะมีโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จน้อยกว่า1 อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบความยาวหัวนมสั้นในขณะฝากครรภ์ในระยะแรก ความยาวของหัวนมอาจจะเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 2 มิลลิเมตรเมื่อใกล้ระยะคลอด2  การช่วยเหลือโดยใช้อุปกรณ์ดึงหัวนม (nipple puller) ในมารดาที่มีหัวนมสั้นตั้งแต่ระยะฝากครรภ์ไตรมาสที่สองสามารถเพิ่มความยาวหัวนมได้ประมาณ 4 มิลลิเมตรเมื่อถึงระยะหลังคลอดโดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนการคลอดก่อนกำหนด3 และการช่วยเหลือโดยการใช้ประทุมแก้วในมารดาที่มีความยาวหัวนมสั้นกว่า 7 มิลลิเมตรในระหว่างการตั้งครรภ์พบว่ามีความปลอดภัยและช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น4 สำหรับมารดาที่มีหัวนมบอดในระดับที่ 1 และ 2 (หัวนมบอดระดับที่ 1 หมายถึง หัวนมที่ยุบเข้าไป แต่สามารถใช้มือช่วยถึงหัวนมออกมาได้ ส่วนหัวนมบอดระดับที่ 2 หมายถึง หัวนมจะยุบลงไป ยากที่จะดึงออกมา และหากดึงออกมาได้ สักครู่หนึ่งหัวนมจะกลับยุบลงไปเหมือนเดิม) การผ่าตัดแก้ไขโดยใช้เทคนิคที่ช่วยให้หัวนมยืดออกและมีการบาดเจ็บน้อยสามารถช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น โดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง5

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Paritakul P, Ketsuwan S, Wongin S. Nipple length and its relation to success in breastfeeding. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 1:S1-4.
  2. Thanaboonyawat I, Chanprapaph P, Lattalapkul J, Rongluen S. Pilot study of normal development of nipples during pregnancy. J Hum Lact 2013;29:480-3.
  3. Baiya N, Ketsuwan S, Thana S, Puapompong P. Outcome of nipple puller use during antenatal care in short nipple pregnant women: a randomized controlled trial. Thai J Obstet Gynaecol 2018;26:96-102.
  4. Chanprapaph P, Luttarapakul J, Siribariruck S, Boonyawanichkul S. Outcome of non-protractile nipple correction with breast cups in pregnant women: a randomized controlled trial. Breastfeed Med 2013;8:408-12.
  5. Feng R, Li W, Yu B, Zhou Y. A Modified Inverted Nipple Correction Technique That Preserves Breastfeeding. Aesthet Surg J 2019;39:NP165-NP75.

 

 

การใช้ยาแก้ปวดและยาระงับความรู้สึกมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การใช้ยาแก้ปวดรวมถึงยาระงับความรู้สึก แม้ว่าจะสามารถช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้ แต่จะพบผลเสียที่เกิดกับทารกในการเริ่มต้นการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาพบว่า ในระหว่างการคลอด การที่มารดาได้รับการให้การระงับความรู้สึกด้วยวิธี epidural anesthesia มีความเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นเป็น 1.26 เท่า1 มีผลต่อการให้นมลูกของมารดาในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอดและมีโอกาสที่มารดาจะหยุดการให้นมแม่ใน 24 สัปดาห์แรกสูงกว่า2 ขณะที่การให้ยาแก้ปวดเชื่อว่ามีผลต่อพฤติกรรมทารกในการดูดนม3 โดยทำให้ทารกง่วงซึม เริ่มการดูดนมได้ช้า นอกจากนี้ วิธีระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดคลอดยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยมารดาที่ใช้วิธีระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดคลอดโดยการดมสลบ (general anesthesia) จะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้ากว่ามารดาที่ใช้วิธีระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (spinal anesthesia)4 ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดที่ไม่เหมาะสม และควรใช้วิธีการลดความเจ็บปวดจากวิธีทางเลือกอื่น ๆ ก่อนการเลือกที่จะใช้วิธีลดความเจ็บปวดโดยใช้ยา

เอกสารอ้างอิง

  1. Dozier AM, Howard CR, Brownell EA, et al. Labor Epidural Anesthesia, Obstetric Factors and Breastfeeding Cessation. Matern Child Health J 2012.
  2. Torvaldsen S, Roberts CL, Simpson JM, Thompson JF, Ellwood DA. Intrapartum epidural analgesia and breastfeeding: a prospective cohort study. Int Breastfeed J 2006;1:24.
  3. Szabo AL. Review article: Intrapartum neuraxial analgesia and breastfeeding outcomes: limitations of current knowledge. Anesth Analg 2013;116:399-405.
  4. Kocaoz FS, Destegul D, Kocaoz S. Comparison of the breastfeeding outcomes and self-efficacy in the early postpartum period of women who had given birth by cesarean under general or spinal anesthesia. J Matern Fetal Neonatal Med 2019:1-5.