คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

ยาที่ใช้ในระหว่างการคลอดบุตรเป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีข้อสงสัยหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ระหว่างที่มารดาไปคลอดบุตร ได้รับยาหลากหลายชนิด ยาที่มารดาได้รับระหว่างการคลอดบุตรมีผลเสียต่อการรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ สิ่งที่พบคือ การใช้ยากลุ่มมอร์ฟีน จะมีการใช้ยาบ่อยในระหว่างการคลอดบุตรและพบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้จะทราบว่ายามอร์ฟืนจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่แพทย์ยังขาดความตระหนักถึงผลเสียนี้ และไม่ได้มีการให้คำปรึกษาถึงทางเลือกในการลดความเจ็บครรภ์ระหว่างการคลอด ซึ่งจะช่วยลดการใช้ยามอร์ฟีนลงด้วย สำหรับยาอื่น ๆ ที่พบว่ามีการใช้บ่อย ๆ ด้วย ได้แก่ ออกซิโตซิน, lidocaine, ketoprofen และ diclofenac ไม่พบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น การสื่อสารที่เหมาะสมในเรื่องยาที่จะให้แก่มารดาและการสร้างความตระหนักในการใช้ยาให้แก่แพทย์จึงเป็นสิ่งที่ควรมีการให้ความสำคัญ เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Silveira MPT, Possignollo J, Miranda VIA, et al. Breastfeeding and risk classification of medications used during hospitalization for delivery: 2015 Pelotas Birth Cohort. Rev Bras Epidemiol 2020;23:e200026.

ใครมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมีคำถามถึงว่า “ใครมีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก?” อาจมีคำตอบหลายคำตอบที่ตอบมา ได้แก่ แพทย์ผู้ดูแลการคลอด พยาบาลผู้ช่วยในการดูแลการคลอด หรืออาจจะมีตำตอบว่าเป็นตัวมารดาเอง แน่นอนว่าคำตอบที่ตอบมามีส่วนถูกทั้งสิ้น แต่มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก คือ พยาบาลผู้ช่วยในการดูแลการคลอด1 เนื่องจากจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับมารดาในระยะคลอดและหลังคลอดในช่วงแรกด้วย ดังนั้น การที่อัตราการเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกในประเทศไทยยังมีอัตราที่ต่ำ ควรเน้นที่จะมีการทำความเข้าใจ และช่วยพยาบาลในการลดหรือแก้ปัญหาอุปสรรคที่จะขัดขวางการดำเนินการช่วยเหลือให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก ซึ่งการช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุด จะช่วยให้อัตราการเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกเพิ่มขึ้นได้ดี

เอกสารอ้างอิง

1.        Silva LAT, Fonseca VM, Oliveira MIC, Silva KSD, Ramos EG, Gama S. Professional who attended childbirth and breastfeeding in the first hour of life. Rev Bras Enferm 2020;73:e20180448.

โอเมก้า 3 ช่วยในความเฉลียวฉลาดของทารก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สมองของทารกจะมีการพัฒนาการมากในช่วงเริ่มแรกของชีวิตโดยตั้งต้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์จนถึงใน 1000 วันแรก การที่ทารกได้รับโอเมก้า 3 อย่างเหมาะสมจะช่วยพัฒนาการด้านความฉลาด ด้านภาษา และด้านจิตสังคม (psychosocial) ซึ่งอธิบายได้จากโอเมก้า 3 จะช่วยในการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทที่จะส่งต่อสารสื่อประสาทให้มีความรวดเร็วขึ้น การส่งสื่อสารประสาทที่มีความรวดเร็วจะช่วยให้มีการพัฒนาการที่ดี ทารกที่ได้รับโอเมก้า 3 ไม่เพียงพอจะมีความเสี่ยงที่จะมีการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทที่ขาดตอนหรือไม่สมบูรณ์  ทำให้การสื่อสารประสาทผิดเพี้ยนไป โดยจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มอาการออทิสติก (autism spectrum disorders) และทารกที่ขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่สุก (attention deficit and hyperactivity disorder) ซึ่งความเสี่ยงนี้ยังพบเพิ่มขึ้นในทารกที่คลอดก่อนกำหนด1 ดังนั้น การจัดให้มารดาได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอในระหว่างการตั้งครรภ์และช่วงให้นมบุตรจึงมีความสำคัญที่จะช่วยในเรื่องความเฉลียวฉลาดของทารก

 เอกสารอ้างอิง

1.        Politano CA, Lopez-Berroa J. Omega-3 Fatty Acids and Fecundation, Pregnancy and Breastfeeding. Rev Bras Ginecol Obstet 2020;42:160-4.

โอเมก้า 3 ช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดผลเสียที่มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตของทารก โดยสิ่งที่จะตามมากับการเกิดการคลอดก่อนกำหนด คือการใช้ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขจำนวนมาก ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ การใช้พื้นที่ที่จัดเป็นหอทารกป่วยวิกฤตเพื่อการดูแลและเลี้ยงดูทารกจนฟื้นตัวและพ้นจากอันตรายที่เกิดขึ้นจากการคลอดก่อนกำหนด มีการศึกษาพบว่าการเสริมโอเมก้า 3 จะช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจอธิบายได้จากการที่โอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มต่าง ๆ การมีปริมาณโอเมก้า 3 ที่เหมาะสมก็น่าจะช่วยให้เยื่อหุ้มทารกที่ได้แก่ ถุงน้ำคร่ำมีความแข็งแรง ไม่เกิดการแตกก่อนเวลาอันควร และโอเมก้า 3 ยังช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของทารก ซึ่งอาจมีผลในการลดการคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อได้  นอกจากนี้ โอเมก้า 3 ยังช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดในรกเป็นปกติในกลุ่มมารดาที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด1

เอกสารอ้างอิง

1.        Politano CA, Lopez-Berroa J. Omega-3 Fatty Acids and Fecundation, Pregnancy and Breastfeeding. Rev Bras Ginecol Obstet 2020;42:160-4.

โอเมก้า 3 ช่วยในการตั้งครรภ์

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โอเมก้า 3 จะเป็นกรดไขมันในกลุ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสายยาว ซึ่งอาจจะแบ่งย่อยเป็น 2 ชนิด ได้แก่ EPA (eicosapentaenoic acid) และ DHA (docosahexaenoic acid) โดยที่โอเมก้า 3 จะพบมากในปลา ในการรับประทานอาหารปกติมักมีโอกาสที่จะได้รับโอเมก้า 3 ไม่เพียงพอ การเสริมโอเมก้า 3 จึงอาจจำเป็น ซึ่งมีการศึกษาพบว่าในมารดาที่มีบุตรยาก การเสริมโอเมก้า 3 จะช่วยในเรื่องคุณภาพของไข่และการพัฒนาการของตัวอ่อนในระหว่างการทำเด็กหลอดแก้ว ทำให้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์และเพิ่มการเกิดมีชีพ (คือการเกิดทารกที่มีชีวิตหรือทารกมีสัญญาณชีพหลังการเกิด) ซึ่งจะทำให้มารดามีโอกาสที่จะได้ลูกตามความต้องการสูงขึ้น นอกจากนี้ การเสริมโอเมก้า 3 ในผู้ชาย จะช่วยในกระบวนการการสร้างน้ำเชื้อให้ดีขึ้นด้วย1

เอกสารอ้างอิง

1.        Politano CA, Lopez-Berroa J. Omega-3 Fatty Acids and Fecundation, Pregnancy and Breastfeeding. Rev Bras Ginecol Obstet 2020;42:160-4.