รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การดูแลรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้น เป้าประสงค์เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นจากการที่มารดามีโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับทารก ได้แก่ ทารกแรกเกิดตัวโต การคลอดทารกยากจากการติดไหล่ (shoulder dystocia) การบาดเจ็บของทารกระหว่างการคลอด (birth trauma) เช่น การมีกระดูกหักบริเวณไหปลาร้า หรือการมีการบาดเจ็บของข่ายประสาทบริเวณต้นแขน (brachial plexus injury) การเสียชีวิตของทารกแรกคลอด สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับมารดา ได้แก่ การผ่าตัดคลอด การตกเลือดหลังคลอด และภาวะครรภ์เป็นพิษ ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมระดับน้ำตาลในมารดาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ โดยระดับน้ำตาลที่แนะนำสำหรับมารดาเพื่อที่จะลดการเกิดทารกแรกเกิดตัวโต คือ ระดับน้ำตาลก่อนมื้ออาหารควรจะต่ำกว่า 95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารที่ 1 ชั่วโมงควรจะต่ำกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารที่ 1 ชั่วโมงควรจะต่ำกว่า 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร1
เอกสารอ้างอิง
Committee on Practice B-O. ACOG Practice Bulletin No. 190: Gestational Diabetes Mellitus. Obstet Gynecol 2018;131:e49-e64.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การวินิจฉัย นิยมทำเป็นสองขั้นตอน ได้แก่ การตรวจคัดกรองด้วยการรับประทานน้ำตาล 50 กรัมแล้วทำการตรวจค่าน้ำตาลในพลาสม่า (glucose challenge test หรือ GCT) ค่าการตรวจคัดกรองที่ถือว่าเป็นบวกเมื่อมีค่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป และตรวจวินิจฉัยต่อด้วยการตรวจทดสอบค่าความทนต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test หรือ OGTT) หลังรับประทานน้ำตาล 100 กรัม โดยใช้เกณฑ์ของกลุ่มข้อมูลเบาหวานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Diabetes Data Group) ซึ่งกำหนดค่าน้ำตาลในพลาสม่าก่อนการกินน้ำตาลเท่ากับ 105 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และค่าน้ำตาลในพลาสม่าหลังกินน้ำตาลที่ชั่วโมงที่ 1,2 และ 3 เท่ากับ 190,165 และ 145 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ตามลำดับ โดยหากค่าผิดปกติตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไปถือว่า การทดสอบเป็นบวกคือเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม มีบางข้อแนะนำที่ให้ใช้ค่าผิดปกติเพียง 1 ค่าให้ถือว่าการทดสอบเป็นบวก ซึ่งการใช้เกณฑ์นี้ยังมีจำกัดเฉพาะในบางแห่ง1
เอกสารอ้างอิง
Committee on Practice B-O. ACOG Practice Bulletin No. 190: Gestational Diabetes Mellitus. Obstet Gynecol 2018;131:e49-e64.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การทราบปัจจัยเสี่ยงในมารดาต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะทำให้การวางแผนการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
• การมีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวานโดยเฉพาะญาติที่มีความใกล้ชิด (first-degree relatives)
• ประวัติการเสียชีวิตของทารกในช่วงแรกคลอด
• ประวัติคลอดทารกที่มีความพิการ
• ประวัติการคลอดทารกแรกเกิดตัวโต (macrosomia) ซึ่งหมายถึงทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม
• มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มอาการเมตาบอลิก กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (polycystic ovarian syndrome)
• มารดาอายุมาก
• เชื้อชาติเอเชียนอเมริกัน
• อ้วน
• การมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์มากเกินไป
• การตรวจพบมีน้ำตาลในปัสสาวะ ตรวจพบค่า Hb A1c สูงตั้งแต่ร้อยละ 5.7 ขึ้นไป
• ตรวจพบค่า High-density lipoprotein cholesterol (HDL) ต่ำกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือค่าไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) มากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร(1,2)
เอกสารอ้างอิง
1. Gibson KS, Waters TP, Catalano PM. Maternal weight gain in women who develop gestational diabetes mellitus. Obstet Gynecol 2012;119:560-5.
2. Committee on Practice B-O. ACOG Practice Bulletin No. 190: Gestational Diabetes Mellitus. Obstet Gynecol 2018;131:e49-e64.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ร่างกายมีความผิดปกติในการนำแป้งและน้ำตาลมาใช้ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกหรือเป็นรายใหม่ในขณะตั้งครรภ์ จะถือว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์1 สาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีการเพิ่มระดับของฮอร์โมนหลายตัวที่จะมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งพบมีผลมากในช่วงของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สองและสาม โดยหากมารดามีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติในการนำแป้งและน้ำตาลมาใช้ จะทำให้พบระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้
เอกสารอ้างอิง
Jirakittidul P, Panichyawat N, Chotrungrote B, Mala A. Prevalence and associated factors of breastfeeding in women with gestational diabetes in a University Hospital in Thailand. Int Breastfeed J 2019;14:34.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบันมีการพบอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นสูงขึ้น ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคอ้วนนี้คู่ขนานไปกับอุบัติการณ์การเกิดเบาหวาน โดยพฤติกรรมการกินและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ได้แก่ รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้น ขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายลดลง ดังนั้น เบาหวานจึงเป็นอีกโรคหนึ่งที่มีแนวโน้มจะมีอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร1
โรคเบาหวานที่พบในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร แบ่งเป็น
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus)
โรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ (pre-existing diabetes mellitus)
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus)
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus)
เอกสารอ้างอิง
Guariguata L, Linnenkamp U, Beagley J, Whiting DR, Cho NH. Global estimates of the prevalence of hyperglycaemia in pregnancy. Diabetes Res Clin Pract 2014;103:176-85.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)