คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

ผลของโรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การที่มารดามีโรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์จะทำให้มารดามีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์สูงขึ้น ได้แก่ การมีความดันโลหิตสูง การมีภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดยากจากทารกแรกเกิดตัวโต การคลอดก่อนกำหนด การคลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ทำให้มารดามีโอกาสผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น พบการตกเลือดหลังคลอดสูงขึ้น และหากทารกมีการบาดเจ็บจากการคลอด มีภาวะหายใจเร็ว หรือมีภาวะน้ำตาลต่ำ จะเพิ่มโอกาสที่ทารกจำเป็นต้องแยกจากมารดาไปอยู่ที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต ทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า มีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่สั้นกว่า1-3 นอกจากนี้ การที่มารดามีโรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์จะส่งผลการมาของน้ำนม โดยพบความเสี่ยงของการมีน้ำนมมาช้าเพิ่มขึ้น4

              ในมารดาที่ความจำเป็นต้องใช้ยาฉีดและ/หรือยารับประทานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลของมารดาในระยะแรกหลังคลอดสามารถให้ทารกกินนมแม่ได้ แต่ในรายที่มีการใช้ยากลุ่ม sulfonylurea อาจต้องมีการติดตามระดับน้ำตาลในทารก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ โดยการให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อ เริ่มให้นมแม่แก่ทารกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ให้บ่อย ๆ และให้นมแม่แก่ทารกในช่วงกลางคืนจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในทารกได้5,6

เอกสารอ้างอิง

  1. Schoen S, Sichert-Hellert W, Hummel S, Ziegler AG, Kersting M. Breastfeeding duration in families with type 1 diabetes compared to non-affected families: results from BABYDIAB and DONALD studies in Germany. Breastfeed Med 2008;3:171-5.
  2. Finkelstein SA, Keely E, Feig DS, Tu X, Yasseen AS, 3rd, Walker M. Breastfeeding in women with diabetes: lower rates despite greater rewards. A population-based study. Diabet Med 2013;30:1094-101.
  3. Rasmussen B, Nankervis A, Skouteris H, et al. Factors associated with breastfeeding to 3 months postpartum among women with type 1 and type 2 diabetes mellitus: An exploratory study. Women Birth 2019.
  4. De Bortoli J, Amir LH. Is onset of lactation delayed in women with diabetes in pregnancy? A systematic review. Diabet Med 2016;33:17-24.
  5. Dalsgaard BT, Rodrigo-Domingo M, Kronborg H, Haslund H. Breastfeeding and skin-to-skin contact as non-pharmacological prevention of neonatal hypoglycemia in infants born to women with gestational diabetes; a Danish quasi-experimental study. Sex Reprod Healthc 2019;19:1-8.
  6. Ringholm L, Roskjaer AB, Engberg S, et al. Breastfeeding at night is rarely followed by hypoglycaemia in women with type 1 diabetes using carbohydrate counting and flexible insulin therapy. Diabetologia 2019;62:387-98.

 

การดูแลรักษาเบาหวานที่มีมาก่อนการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                รูปแบบในการดูแลรักษา จะประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินชีวิต กับการใช้ยาในการรักษา โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินชีวิตจะคล้ายคลึงกับที่ได้บรรยายไว้ในหัวข้อโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่สำหรับการใช้ยาในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะใช้อินซูลินเป็นหลักในการรักษา ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีการใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งจะมีการใช้ทั้งกลุ่ม biguanide ร่วมกับ sulfonylurea และ/หรือร่วมกับอินซูลิน และควรมีการตรวจประเมินการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การตรวจตา และการตรวจการทำงานของไต โดยในระหว่างการตั้งครรภ์ควรปรับเปลี่ยนยาเป็นยาฉีด ซึ่งการใช้อินซูลินจะเป็นทางเลือกแรกในการรักษา ระดับน้ำตาลที่ควบคุมจะใช้ระดับเดียวกับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ยกเว้นในรายที่เป็นโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ต้องการการให้คำปรึกษาที่จำเพาะ1,2

เอกสารอ้างอิง

  1. Fullerton B, Jeitler K, Seitz M, Horvath K, Berghold A, Siebenhofer A. Intensive glucose control versus conventional glucose control for type 1 diabetes mellitus. Cochrane Database Syst Rev 2014:CD009122.
  2. American Diabetes A. 6. Glycemic Targets: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S66-S76.

เป้าหมายของการรักษาเบาหวานที่มีมาก่อนการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การดูแลรักษา เป้าหมายคือ การควบคุมน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดรวมถึงภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ความเข้มงวดของการควบคุมระดับน้ำตาลจะมีความแตกต่างกันในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งจะมีความเข้มงวดในการควบคุมระดับน้ำตาลมากกว่าในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยจะประเมินจากค่า HbA1c ในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรจะมีการควบคุมให้อยู่ที่ร้อยละ 6.5  ขณะที่ในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ควรจะมีการควบคุมให้ค่า HbA1c อยู่ที่ร้อยละ 71,2

เอกสารอ้างอิง

  1. Fullerton B, Jeitler K, Seitz M, Horvath K, Berghold A, Siebenhofer A. Intensive glucose control versus conventional glucose control for type 1 diabetes mellitus. Cochrane Database Syst Rev 2014:CD009122.
  2. American Diabetes A. 6. Glycemic Targets: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S66-S76.

 

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวานที่มีมาก่อนการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวานที่มีมาก่อนการตั้งครรภ์1 มีดังนี้

  • ค่าระดับน้ำตาลในพลาสม่าสูงเท่ากับหรือมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ 0 มิลลิโมลต่อลิตร (mmol/L) หลังการงดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • ค่าระดับน้ำตาลในพลาสม่าที่สองชั่วโมงหลังการรับประทานน้ำตาล 75 กรัมทดสอบค่าความทนต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test หรือ OGTT) เท่ากับหรือมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ 1 มิลลิโมลต่อลิตร (mmol/L)
  • ค่าการตรวจ HbA1c เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 5 หรือ 48 มิลลิโมลต่อโมล (mmol/mol)

            เมื่อได้ทำการวินิจฉัยโรคเบาหวานแล้ว การแยกโรคระหว่างโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 จะอาศัยจากประวัติ อาการและอาการแสดงทางคลินิก ซึ่งจะบ่งบอกถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ สำหรับกรณีที่สงสัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แนะนำให้มีการตรวจยืนยันด้วยแอนติบอดี โดยแอนติบอดีที่ใช้ตรวจวินิจฉัยบ่อย ได้แก่ islet cell antibody และ glutamic acid decarboxylase antibody (GAD-65 Ab)

เอกสารอ้างอิง

  1. American Diabetes A. 2. Classification and Diagnosis of Diabetes: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S14-S31.

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus)

   สาเหตุเกิดจากมีความผิดปกติของการหลั่งอินซูลินจากเซลล์ตับอ่อนร่วมกับมีความต้านทานของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ซึ่งเป็นผลให้ต้องใช้ปริมาณอินซูลินที่มากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ โดยเมื่อความผิดปกติเพิ่มขึ้น ร่างกายไม่สามารถจะควบคุมระดับน้ำตาลได้ จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการ ได้แก่ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน ตามัว น้ำหนักลด โดยมักไม่พบอาการนำที่รุนแรงในโรคเบาหวานชนิดที่ 21

เอกสารอ้างอิง

  1. American Diabetes A. 2. Classification and Diagnosis of Diabetes: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S14-S31.