รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในผู้ใหญ่1 จะแบ่งชนิดของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ตามความรุนแรงของการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากจากน้อยไปมาก ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยจะมีรายละเอียดตามแต่ละหัวข้อ ดังนี้
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่ไม่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายมาก (non-hyperandrogenic PCOS) จะประกอบด้วย
การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่มีการตกไข่ (ovulatory PCOS) จะประกอบด้วย
การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายมาก (hyperandrogenic PCOS) จะประกอบด้วย
การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่แบบดั้งเดิม (classic PCOS) จะประกอบด้วย
การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง
เอกสารอ้างอิง
Escobar-Morreale HF. Polycystic ovary syndrome: definition, aetiology, diagnosis and treatment. Nat Rev Endocrinol 2018;14:270-84.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ต้องอาศัยจากประวัติอาการและอาการแสดง การตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การวินิจฉัยในวัยรุ่นยังมีความแตกต่างจากเกณฑ์ในการวินิจฉัยในผู้ใหญ่ เนื่องจากอาการและลักษณะที่ตรวจพบบางอย่างที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ในผู้ใหญ่สามารถพบได้บ่อยในวัยรุ่นปกติ จึงต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนในเกณฑ์การวินิจฉัยในวัยรุ่น เช่น ความผิดปกติของประจำเดือน การมีหน้ามันหรือมีสิว และการตรวจพบการมีถุงน้ำจำนวนมากที่รังไข่ ซึ่งสามารถพบได้ในวัยรุ่นปกติ ดังนั้น เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในวัยรุ่น1,2 จะใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัยในสองหัวข้อหลัก ได้แก่
การมีลักษณะของประจำเดือนที่ผิดปกติที่ไม่สอดคล้องกับอายุและมีความต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน 1-2 ปี
การมีลักษณะที่บ่งถึงการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากที่ชัดเจน คือ การมีสิวอักเสบ (acne vulgaris) หรือมีขนดก และการตรวจพบฮอร์โมน testosterone สูงอย่างต่อเนื่องตลอด
เอกสารอ้างอิง
Ramezani Tehrani F, Amiri M. Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents: Challenges in Diagnosis and Treatment. Int J Endocrinol Metab 2019;17:e91554.
Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การตรวจรังไข่ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ลักษณะที่บ่งถึงกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะพบรังไข่มีถุงน้ำจำนวนมากโดยที่ไม่พบ dominant follicle ซึ่งจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 มิลลิลิตร หรือตรวจไม่พบ corpus luteum จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด แต่ลักษณะเหล่านี้อาจพบได้ในวัยรุ่นที่ปกติด้วย จึงไม่ใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในวัยรุ่น1
การตรวจพบฮอร์โมนเพศชายสูง ทำได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะตรวจค่าระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ได้แก่ total testosterone และ free testosterone ซึ่งค่า free testosterone จะช่วยในการวินิจฉัยได้หากค่า total testosterone ไม่สูง
เอกสารอ้างอิง
Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การมีบุตรยาก การที่สตรีที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะส่งผลทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติจากการที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้การตกไข่ผิดปกติหรือไม่มีการตกไข่ ซึ่งทำให้การมีบุตรยาก
การมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การที่รังไข่ทำงานผิดปกติ ไม่มีการตกไข่ จะส่งผลต่อการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกของสตรีได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (endometrial hyperplasia) ซึ่งหากไม่มีการปรับสมดุลย์จากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สร้างจาก corpus luteum จากการตกไข่ จะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้1
เอกสารอ้างอิง
Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การมีสิว (acne) ลักษณะของการมีสิวที่บ่งถึงการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากจะเป็นสิวลักษณะที่มีการอุดตัน หรือสิวอักเสบ (acne vulgaris) โดยพบมากกว่า 10 จุดขึ้นไปบนใบหน้า1 ,2
การมีประจำเดือนผิดปกติ โดยลักษณะที่ผิดปกติของประจำเดือนที่แสดงการไม่มีไข่ตก ได้แก่ การมีประจำเดือนมาห่าง (oligomenorrhea) คือมีประจำเดือนมาน้อยกว่าปีละ 9 ครั้ง หรือการมีประจำเดือนขาด (amenorrhea) คือมีประจำเดือนขาดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีแรกของการมีประจำเดือนจะพบมีความผิดปกติของประจำเดือนได้บ่อย ดังนั้น ในวัยรุ่นลักษณะของประจำเดือนที่ผิดปกติที่ทำให้สงสัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ควรจะมีความผิดปกติของประจำเดือนที่ต่อเนื่องนานสองปี หรือนานหนึ่งปีหากมีอาการร่วมอย่างอื่นที่บ่งถึงกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่
เอกสารอ้างอิง
Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.
Ibanez L, Oberfield SE, Witchel S, et al. An International Consortium Update: Pathophysiology, Diagnosis, and Treatment of Polycystic Ovarian Syndrome in Adolescence. Horm Res Paediatr 2017;88:371-95.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)