รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่มารดามีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังจะทำให้มารดามีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์สูงขึ้น ได้แก่ การมีเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ การมีภาวะครรภ์เป็นพิษเสริมร่วมกับโรคความดันโลหิตสูงที่มีอยู่เดิม ทำให้มารดามีโอกาสผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น พบการตกเลือดหลังคลอดสูงขึ้น และหากมารดาภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูงมากร่วมด้วย อาจพบภาวะความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension) การทำงานของไตที่ผิดปกติหรือล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โดยหากมีความรุนแรงอาจทำให้มารดาเสียชีวิตได้ สำหรับผลที่เกิดกับทารกพบการคลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ทารกจำเป็นต้องแยกจากมารดาไปอยู่ที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต และความพิการของทารกเพิ่มขึ้น ได้แก่ การมีความผิดปกติของหัวใจ การมีท่อเปิดของท่อทางเดินปัสสาวะต่ำ (hypospadias) และการมีหลอดอาหารอุดตัน (esophageal atresia)1
ภาวะแทรกซ้อนที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดจะส่งผลทำให้มารดามีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้า และมีโอกาสที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร สำหรับยาที่เลือกใช้ในระยะหลังคลอดในช่วงให้นมบุตร สามารถเลือกใช้ยาได้หลากหลายกลุ่ม โดยการเลือกใช้และข้อควรระมัดระวังในการใช้ดังรายละเอียดที่เขียนบรรยายไว้แล้วในหัวข้อมารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความดันโลหิตสูงที่ต้องใช้ยารับประทานต่อเนื่องหลังคลอด
เอกสารอ้างอิง
ACOG Practice Bulletin No. 203: Chronic Hypertension in Pregnancy. Obstet Gynecol 2019;133:e26-e50.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง สาเหตุ ส่วนใหญ่ร้อยละ 86-89 ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (essential hypertension) ที่เหลือเกิดตามโรคเรื้อรัง (secondary) อื่น ๆ1 ได้แก่ โรคไต โรคจากความผิดปกติของฮอร์โมน และโรคที่ทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน กลุ่มอาการเมตาบอลิกอื่น และพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม
การวินิจฉัยจากการตรวจพบความดันโลหิต systolic เท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิต diastolic เท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอทจากการวัดความดันโลหิตอย่างน้อยสองครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ซึ่งตรวจพบก่อนการตั้งครรภ์ หรือในกรณีที่ตรวจพบครั้งแรกในระหว่างการตั้งครรภ์ จะให้การวินิจฉัยหลังติดตามมารดาแล้วพบมีความดันโลหิตสูงหลังคลอดตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป1
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association หรือ AHA) และวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Cardiology หรือ ACC) ได้ปรับเปลี่ยนการให้การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง โดยรวมเอาบุคคลที่มีความดันโลหิต systolic 130-139 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิต diastolic 80-89 มิลลิเมตรปรอท และแนะนำให้มีการดูแลรักษาความดันโลหิตสูงในกลุ่มนี้ด้วย แต่สำหรับในมารดาที่ตั้งครรภ์ยังขาดข้อมูลที่แสดงถึงผลประโยชน์ต่อมารดาและทารกที่ชัดเจนของการให้การดูแลรักษามารดาในกลุ่มนี้1 ,2
แนวทางการดูแลรักษาคือ ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการควบคุมความดันโลหิตจะใช้ยาเป็นหลักในการรักษา โดยยาที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกในระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ labetalol และ nifedipine กรณีที่ยาในทางเลือกแรกใช้ไม่ได้ผล แนะนำให้เลือกใช้ยา methyldopa หรือ hydrochlorothiazide เป็นทางเลือกที่สอง แต่ไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการเกิดความพิการของทารก การทำงานของไตของทารกผิดปกติหรือเสียหาย และการเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยได้ และ atenolol ที่พบมีความสัมพันธ์กับทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (fetal growth restriction)2
เอกสารอ้างอิง
ACOG Practice Bulletin No. 203: Chronic Hypertension in Pregnancy. Obstet Gynecol 2019;133:e26-e50.
Battarbee AN, Sinkey RG, Harper LM, Oparil S, Tita ATN. Chronic Hypertension in Pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำโดยการตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง อธิบายจากการทารกที่ขาดสารอาหารตั้งแต่ในครรภ์ หรือไม่ได้กินนมแม่ จะทำให้เกิดภาวะเครียด (stress) ในทารก ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์มาก ส่งผลต่อความดันโลหิต และทำลายระบบการทำงานของฮอร์โมนออกซิโตซินและตัวรับฮอร์โมนออกซิโตซินที่ทำงานปรับสมดุลกัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง1 โรคอ้วน และกลุ่มอาการเมตาบอลิกอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าทารกที่มีมารดามีโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำจากการตั้งครรภ์จะมีพัฒนาการของการเคลื่อนไหว (motor development) ที่อายุ 14 ปีต่ำกว่า มีความสามารถด้านความฉลาดหรือการเรียนรู้ต่ำกว่า และมีความผิดปกติทางจิตสูงกว่า2
เอกสารอ้างอิง
Vargas-Martinez F, Schanler RJ, Abrams SA, et al. Oxytocin, a main breastfeeding hormone, prevents hypertension acquired in utero: A therapeutics preview. Biochim Biophys Acta Gen Subj 2017;1861:3071-84.
Battarbee AN, Sinkey RG, Harper LM, Oparil S, Tita ATN. Chronic Hypertension in Pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษและโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ เมื่อมารดาอายุมากขึ้น จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น โดยพบความเสี่ยงที่จะเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 5 เท่า และความเสี่ยงจากการมีโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า ยังไม่ทราบ สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของการเกิดความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อน แต่มีการศึกษาพบว่าหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี มารดามีโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำโดยการตั้งครรภ์จะพบมีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการตีบแคบของเส้นเลือด ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรแนะนำให้มารดาลดปัจจัยเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้มีความเหมาะสม ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ งดอาหารที่มีเกลือในปริมาณที่มากหรือเค็มเกินไป เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย งดการสูบบุหรี่ ในมารดาที่อายุน้อยหรือยังมีความต้องการจะมีบุตร จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปเพิ่มขึ้น การพิจารณาให้แอสไพรินแก่มารดาที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย จะเกิดประโยชน์โดยลดการเกิดโรคนี้ได้1
เอกสารอ้างอิง
ACOG Practice Bulletin No. 202: Gestational Hypertension and Preeclampsia. Obstet Gynecol 2019;133:e1-e25.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่มีโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมาก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดทารกน้ำหนักตัวน้อย โดยภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ จะทำให้ทารกต้องย้ายไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต1 การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า และเสี่ยงต่อการเริ่มนมผงดัดแปลงสำหรับทารก หากไม่มีการให้คำปรึกษาหรือดูแลให้มารดามีความพร้อมในการให้นมทารกเมื่อทารกสามารถกินนมแม่ได้ สำหรับการดูแลในระยะหลังคลอด หากมารดามีความดันโลหิตสูงมาก การดูแลรักษาและการใช้ยาจะเหมือนกับการดูแลรักษามารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่จำเป็นต้องได้รับยาต่อเนื่อง โดยผลของการใช้ยาในแต่ละตัวต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รายละเอียดมีอยู่ในหัวข้อภาวะครรภ์เป็นพิษแล้ว
เอกสารอ้างอิง
Cordero L, Valentine CJ, Samuels P, Giannone PJ, Nankervis CA. Breastfeeding in women with severe preeclampsia. Breastfeed Med 2012;7:457-63.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)