คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

ระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญต่อการป้องกันการท้องเสียในทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะป้องกันการเกิดท้องเสียในทารกที่จะเป็นอันตรายและทำให้เกิดการเสียชีวิตของทารกได้ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาถึงผลของระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อการป้องกันการเกิดท้องเสียจากการติดเชื้อโดยเปรียบเทียบการกินนมแม่ของทารกที่ 3 เดือน 6 เดือน และ 6 ถึง 12 เดือน พบว่า ทารกที่หยุดนมแม่เร็วจะพบมีท้องเสียจากการติดเชื้อสูงกว่าทารกที่หยุดการกินนมแม่ช้า เท่ากับว่าทารกที่กินนมแม่นานกว่าจะมีท้องเสียจากการติดเชื้อที่ต่ำกว่า ซึ่งแสดงถึงผลของระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดท้องเสียจากการติดเชื้อที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่า ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะพบมีท้องเสียจากการติดเชื้อสูงกว่าทารกที่กินนมแม่ด้วย โดยผลสรุปจากการศึกษานี้พบว่าทั้งรูปแบบของการให้อาหารสำหรับทารกแรกเกิด และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อความสามารถในการป้องกันการเกิดท้องเสียจากการติดเชื้อของทารก1

เอกสารอ้างอิง

1.            Diallo AF, McGlothen-Bell K, Lucas R, et al. Feeding modes, duration, and diarrhea in infancy: Continued evidence of the protective effects of breastfeeding. Public Health Nurs 2020;37:155-60.

ความรู้และทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ความรู้ถึงเหตุผลความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญในการที่มารดาจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเห็นว่าในมารดาที่ไม่มีมีการฝากครรภ์หรือขาดการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำกว่า โดยที่อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเห็นได้จากมารดาที่เคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีอัตราความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สูงกว่า และยังพบความสำคัญของทั้งสองปัจจัยนี้การศึกษาในประเทศเนปาล ซึ่งจะพบความแตกต่างของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างกลุ่มที่มีความรู้และทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และกลุ่มที่ขาดความรู้และทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรจัดระบบหรือโปรแกรมเพื่อปิดช่องว่างของการขาดความรู้และทักษะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

1.            Dharel D, Dhungana R, Basnet S, et al. Breastfeeding practices within the first six months of age in mid-western and eastern regions of Nepal: a health facility-based cross-sectional study. BMC Pregnancy Childbirth 2020;20:59.

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในการป้องกันการติดเชื้อ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อให้กับทารก โดยการส่งการมีภูมิคุ้มกันผ่านการส่งต่อการรู้จักเชื้อระหว่างเม็ดเลือดขาวในน้ำนมและเม็ดเลือดขาวในลำไส้ทารก ซึ่งผลในการป้องกันการติดเชื้อในแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน โดยพบว่าการที่ทารกเคยได้กินนมแม่ก็จะช่วยลดการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียและการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างในช่วงวัยทารกจนถึงสองปี และหากทารกกินนมแม่เป็นหลักแล้ว จะยังช่วยการลดการติดเชื้อที่ทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบ นอกจากนี้ระยะเวลาของการกินนมแม่ยังมีความสำคัญ โดยพบว่าในทารกที่กินนมแม่ในช่วงระยะเวลาสั้นจะป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียและการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างในช่วงวัยทารกจนถึงสองปี แต่ไม่ช่วยในการป้องกันการเกิดผิวหนังอักเสบ การติดเชื้อทางเดินหายใจ และการติดเชื้ออื่น ๆ1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davisse-Paturet C, Adel-Patient K, Forhan A, et al. Breastfeeding initiation or duration and longitudinal patterns of infections up to 2 years and skin rash and respiratory symptoms up to 8 years in the EDEN mother-child cohort. Matern Child Nutr 2020:e12935.

การช่วยสนับสนุนของสามีช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หลังคลอดมารดาจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย ฮอร์โมน และบทบาทในครอบครัว ซึ่งมารดาต้องมีการปรับตัว ในมารดาที่ปรับตัวไม่ได้ จะเกิดความเครียด และอาจมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในทางตรงกันข้าม หากมารดาปรับตัวได้หรือได้รับความช่วยเหลือจากสามีหรือบุคคลในครอบครัวในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาเหล่านี้จะพบภาวะซึมเศร้าหรือภาวะเครียดน้อยกว่า และมีผลลัพธ์ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีกว่าด้วย1 ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สามีและคนในครอบครัวให้มีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและระลึกถึงความสำคัญในจุดนี้อย่างสม่ำเสมอเมื่อจัดการอบรมหรือให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.            Davidson EL, Ollerton RL. Partner behaviours improving breastfeeding outcomes: An integrative review. Women Birth 2020;33:e15-e23.

แจกจ่ายนมผงแก่มารดา ระวังผิดกฎหมาย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 บุคคลหรือส่วนราชการใด ๆ ที่มีความประสงค์จะขอรับบริจาคนมผงหรือเงินเพื่อการจัดซื้อนมผงเพื่อไปแจกจ่ายให้กับมารดาต้องระวังว่าอาจทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 โดยหากทำผิดในมาตรา 18 (3) บทลงโทษคือปรับไม่เกินสามแสนบาท และหากทำผิดในมาตรา 23 บทลงโทษคือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท เนื่องจากในกรณีที่มารดาติดเชื้อโควิด 19 องค์การอนามัยโลกและองค์กรทางด้านสุขภาพอีกหลายสถาบันยังคงแนะนำให้มารดาให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งจากหลักฐานในปัจจุบัน ไม่พบเชื้อในน้ำนม และทารกจะได้ประโยชน์มากกว่าจากการกินนมแม่เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ทารกกินนมผง นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโควิด 19 ยังอาจส่งต่อผ่านน้ำนมไปสู่ทารกด้วย โดยอาจพิจารณาการให้นมจากเต้านมโดยตรงหรือการป้อนนมแม่ที่ได้จากการบีบหรือปั๊มนมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของมารดา ครอบครัว และทีมแพทย์ ซึ่งในทางปฏิบัติแนะนำให้มารดาหรือผู้ที่ป้อนนมแม่ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ดังนั้น หากไม่มีข้อบ่งชี้อื่น ๆ การให้นมผงแก่ทารกก็ไม่มีความจำเป็น

เมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นมผงแก่ทารกแล้ว การแจกนมผงแก่มารดาหรือการรับบริจาคเงินเพื่อไปซื้อนมผงมาบริจาคให้แก่มารดา หากผู้ที่ให้นมผงหรือบริจาคเป็นตัวแทนหรือมีความเชื่อมโยงกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายนมผง ก็จะมีความผิดตามบทลงโทษที่กล่าวไว้ข้างต้น1

สำหรับอันตรายที่อาจเกิดได้จากการบริจาคนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ได้แก่

  • นมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ได้รับจำนวนมากแจกจ่ายให้กับทารกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ อาจสร้างปัญหาในการเก็บรักษา การดูแล และการทำลายบรรจุภัณฑ์
  • นมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ได้อาจเป็นการโฆษณาสินค้า เนื่องจากมารดาที่ได้รับอาจเข้าใจว่าเป็นยี่ห้อที่ได้รับการแนะนำ
  • การบริจาคนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ไม่เหมาะสมและหมดอายุอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ทารก
  • การแจกจ่ายนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่มากเกินไปและไม่มีการควบคุมจะทำให้เกิดการใช้อย่างเกินความจำเป็นและบั่นทอนความมั่นใจของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

            นอกจากนี้ ยังอาจเกิดปัญหาเพิ่มเติม ได้แก่

  • ในบางครั้ง นมผงที่ได้รับบริจาคการขาดคำอธิบายวิธีการใช้และการเตรียมนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่เหมาะสมในภาษาไทย ทำให้มารดามีโอกาสที่จะมีความผิดพลาดในการเตรียมนมผงสำหรับทารก ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้
  • การใช้ขวดนม จุกนม ซึ่งจำเป็นอาศัยการทำความสะอาดที่เหมาะทำได้ยากและอาจทำให้ทารกติดนมผงดัดแปลงสำหรับทารกได้

เอกสารอ้างอิง

1.        ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือจุฬา (ebook); 2563.