คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การทำแอปเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่บนมือถือช่วยให้ทารกได้กินนมแม่เพิ่มขึ้นไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เรื่องการทำ application ของความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่บนมือถือเป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจากการใช้มือถือในปัจจุบันแทบจะเป็นปัจจัยที่ 5 ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหรือสิ่งที่ต้องไว้เป็นวัตถุประสงค์ที่จะส่งข้อมูล ช่วยจดจำ เตือน หรือหาแนวทางในการแก้ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบเป็นสิ่งที่ผู้ที่จะพิจารณาทำ application จำเป็นต้องให้ความสนใจ เพราะหากข้อมูลที่มีอยู่ใน application ไม่แตกต่างจากข้อมูลที่มารดาได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ให้ข้อมูลอยู่แล้วในระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด หรือหลังคลอด ผลของการมี application นั้น ๆ ก็อาจไม่มีความแตกต่างกัน1 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อุตส่าห์ตั้งใจที่จะทำ application ให้เกิดประโยชน์โดยการลงทั้งเงิน คน และแรงงานไปแล้ว แต่กลับไม่ได้ช่วยให้ทารกได้กินนมแม่มากขึ้น ดังนั้น การพิจารณาตั้งวัตถุประสงค์ของการใช้ application ให้ชัดเจน โดยมีการทบทวนว่าการจัดการข้อมูลใดที่จะใส่ไว้ใน application บ้าง ควรมีการวิเคราะห์ วางแผน ติดตามผล และปรับปรุง เพื่อให้มีการพัฒนาการใช้ application ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าในการลงทุน

เอกสารอ้างอิง

1.        Lewkowitz AK, Lopez JD, Carter EB, et al. Impact of a novel smartphone application on low-income women’s breastfeeding rates: a randomized controlled trial. American Journal of Obstetrics and Gynecology 2020;222:S38-S9.

บทความเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบัน มารดามีการหาความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งมารดามักจะเข้าไปดูข้อมูลหรือบทความที่เขียนเกี่ยวกับปัญหาหรืออุปสรรคที่มารดาประสบอยู่ หรือเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นในกรณีที่มารดามีประสบการณ์ร่วมเหมือน ๆ กับเรื่องราวที่เขียนไว้ในบทความดังกล่าว1 โดยที่บทความหรือเรื่องที่มารดาได้อ่านหรือได้ร่วมแบ่งกันข้อมูลกับข้อมูลที่มีอยู่ออนไลน์จะส่งผลต่อการตัดสินใจปฏิบัติตามเรื่องที่พบนั้น ๆ ของทั้งตัวมารดาเองและผู้ที่ได้มาอ่านเพิ่มเติมได้ แม้ว่าการแบ่งปันข้อมูลในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น่าจะเกิดประโยชน์ แต่ความถูกต้องของข้อมูลก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้น การสอนให้มารดาสามารถเลือกวิเคราะห์ และนำข้อมูลที่หาได้มาใช้ได้อย่างเหมาะสมจึงมีความจำเป็นที่ไม่ควรละเลย โดยควรมีการให้คำปรึกษาในเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะหลังคลอดก่อนที่มารดาจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน

เอกสารอ้างอิง

1.        Lebron CN, St George SM, Eckembrecher DG, Alvarez LM. “Am I doing this wrong?” Breastfeeding mothers’ use of an online forum. Matern Child Nutr 2020;16:e12890.

ทารกที่กินนมแม่จะชอบกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีการศึกษาว่าทารกที่กินนมแม่จะมีลักษณะการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า เนื่องจากรสชาติของนมแม่ที่ทารกกินจะมีความหลากหลายตามลักษณะของอาหารที่แม่รับประทาน ซึ่งจะทำให้ทารกที่กินนมแม่มีความคุ้นเคยกับความหลากหลายของชนิดของอาหารมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะลองและยอมรับกับการรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติมากกว่า1  ซึ่งการที่ทารกที่กินนมแม่มีลักษณะของการกินเช่นนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Eshriqui I, Folchetti LD, Valente AMM, de Almeida-Pititto B, Ferreira SRG. Breastfeeding duration is associated with offspring’s adherence to prudent dietary pattern in adulthood: results from the Nutritionist’s Health Study. J Dev Orig Health Dis 2020;11:136-45.

สุขภาพที่ดีขึ้นอยู่กับการดูแลเรื่องอาหารใน 1000 วันแรก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีการศึกษาถึงอาหารในช่วง 1000 วันแรกของทารกพบว่ามีความสัมพันธ์กับสุขภาพเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น1 สำหรับอาหารที่สำคัญในระยะแรกเกิด คือ นมแม่ ซึ่งจะพบว่ามีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคอ้วน และกลุ่มอาการเมตาบอลิก โดยมีความสอดคล้องกันและอธิบายส่วนหนึ่งจากกลไกคือ ลักษณะอาหารที่เหมาะสมสำหรับทารกตั้งแต่ในระยะแรกจะสร้างโปรแกรมการเผาพลาญอาหารที่ดีที่จะมีผลต่อเนื่องไปเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น นอกจากนี้ ด้วยกลไกการควบคุมการรับประทานอาหารที่เกิดจากการควบคุมการดูดนมแม่ตามที่ทารกหิวในทารกที่กินนมแม่ จะส่งผลดีในการป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

1.        Eshriqui I, Folchetti LD, Valente AMM, de Almeida-Pititto B, Ferreira SRG. Breastfeeding duration is associated with offspring’s adherence to prudent dietary pattern in adulthood: results from the Nutritionist’s Health Study. J Dev Orig Health Dis 2020;11:136-45.

ปัจจัยอะไรที่มีความสำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวคือการมีการให้น้ำหรืออาหารอื่นแก่ทารกก่อนทารกอายุหกเดือน โดยอาหารอื่นที่มีการให้ได้แก่ น้ำ น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร น้ำข้าวต้ม ชา กล้วย เป็นต้น ซึ่งการที่จะทำให้มารดาเข้าใจในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจแก่มารดาตั้งแต่ในระยะการฝากครรภ์ และมีกระบวนการส่งเสริมที่จะทำให้มารดาเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างต่อเนื่องในระยะของการคลอดและระยะหลังคลอด แต่หากมารดาไม่ได้มีการฝากครรภ์ กระบวนการที่จะทำให้มารดามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะหลังคลอด คือ การที่บุคลากรทางการแพทย์ให้คำปรึกษากับมารดาและครอบครัว ซึ่งมีการศึกษาพบว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะหลังคลอด1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรจัดให้มีระบบที่ชัดเจนและเอื้อให้มีการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวแก่มารดาทุกราย เพื่อช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

เอกสารอ้างอิง

1.        Gasparin VA, Strada JKR, Moraes BA, Betti T, Pitilin EB, Santo L. Factors associated with the maintenance of exclusive breastfeeding in the late postpartum. Rev Gaucha Enferm 2020;41:e20190060.