รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อการอย่างเดียวมีต่ออัตราและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาที่มีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานพบว่า จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่ามารดาที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้น แล้วปัจจัยอะไรที่มีผลต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาในประเทศบราซิลถึงปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน ขณะที่ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหรือสัมพันธ์กับความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้น ได้แก่ มารดาที่ไม่มีคู่ครองอยู่ด้วย มารดาที่ต้องกลับไปทำงานเพื่อหารายได้ และมารดาที่สูบบุหรี่1 จากข้อมูลเหล่านี้ บุคลากรทางการแพทย์อาจในปัจจัยที่เกี่ยวข้องไปใช้ในการประเมินความเสี่ยงของมารดาที่จะมีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้น ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Fernandes RC, Hofelmann DA. Intention to breastfeed among
pregnant women: association with work, smoking, and previous breastfeeding
experience. Cien Saude Colet 2020;25:1061-72.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
แม้ว่าอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีหลายอย่าง ได้แก่ การให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การให้ทารกกินน้ำ การเจ็บหัวนม การเจ็บป่วยของมารดาและทารก และการกลับไปทำงานของมารดา แต่ปัจจัยที่จะช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องก็คือ การให้คำปรึกษาของบุคลากรทางการแพทย์1 ซึ่งหากมีการให้คำปรึกษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคที่ต้องเผชิญและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ ดังนั้น การจัดการอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพและทักษะในการให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีการจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในการให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Gasparin VA, Strada JKR, Moraes BA, Betti T, Pitilin EB,
Santo L. Factors associated with the maintenance of exclusive breastfeeding in
the late postpartum. Rev Gaucha Enferm 2020;41:e20190060.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
แม้ว่านมแม่จะมีประโยชน์และเหมาะสมที่สุดในการเป็นอาหารสำหรับทารก แต่กระบวนการที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีความสำคัญ การพูดเชิญชวนหรือชักจูงให้มารดาสนใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยบุคลากรทางการแพทย์ยังมีความจำเป็น เปรียบเสมือนการขายของ แม้จะมีสินค้าที่ดีแต่หากขาดการโฆษณาเชิญชวนถึงคุณภาพหรือคุณประโยชน์ที่จะได้จากการใช้สินค้านั้น ความสนใจของคนที่จะตัดสินในการเลือกใช้สินค้านั้นก็อาจจะน้อยลง มีการศึกษาถึงการพูดเชิญชวนสั้น ๆ ให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่ามีผลในการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ ผลของการศึกษาพบว่า การพูดเชิญชวนหรือชักจูงให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเพิ่มระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1 ดังนั้น การใส่ใจกับการพูดเพียงเล็กน้อยของบุคลากรทางการแพทย์ก็อาจช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
1. Franco-Antonio C, Calderon-Garcia
JF, Santano-Mogena E, Rico-Martin S, Cordovilla-Guardia S. Effectiveness of a
brief motivational intervention to increase the breastfeeding duration in the
first 6 months postpartum: Randomized controlled trial. J Adv Nurs
2020;76:888-902.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของมารดาและทารกในหลาย ๆ ด้าน โดยสำหรับทารกจะช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ นอกเหนือจากนี้ การกินนมแม่ยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในด้านการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ ลดการเกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืด และยังมีการศึกษาที่พบว่า การที่ทารกกินนมแม่โดยเฉพาะการกินหัวน้ำนม (colostrum) จะช่วยป้องกันการเกิดการแพ้อาหารได้ในทารกที่มีความเสี่ยงสูงที่มีผื่นแพ้ในวัยทารก (infantile eczema) ได้1 ดังนั้น ในมารดาที่มีอาการแพ้แล้ววิตกกังวลว่า ทารกจะมีอาการแพ้เหมือนกับมารดาหรือไม่ การให้คำปรึกษาโดยการแนะนำให้ทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม น่าจะส่งผลดีต่อทารกและอาจช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาลงได้
เอกสารอ้างอิง
1. Matsumoto N, Yorifuji T, Nakamura K, Ikeda M,
Tsukahara H, Doi H. Breastfeeding and risk of food allergy: A nationwide birth
cohort in Japan. Allergol Int 2020;69:91-7.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)