คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การเลือกกินอาหารของมารดาในช่วง 1000 วันแรกของชีวิตทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันเราทราบถึงความสำคัญของช่วงชีวิต 1000 วันแรกนับแต่การกำเนิดทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งทารกเจริญเติบโตขึ้นจนอายุ 2 ปี ในช่วงเวลาเหล่านี้ การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมจะเป็นผลดีแก่การเจริญเติบโต พัฒนาการของทารก และป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนในมารดา มีการศึกษาพบว่ามารดาในระยะตั้งครรภ์เลือกกินอาหารตามที่จะจัดหาได้ ตามความอยากรสชาติอาหาร และบางส่วนก็เลือกที่จะปรับเปลี่ยนอาหารให้มีความเหมาะสมในการบำรุงครรภ์หรือบำรุงทารก แต่ส่วนใหญ่อาหารที่มารดารับประทานมักมีปริมาณเกินความจำเป็น ขณะที่มีคุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ครบถ้วน ทำให้มารดามีความเสี่ยงต่อการที่จะมีน้ำหนักระหว่างการตั้งครรภ์เกินกว่าที่ควรจะเป็น และมารดาก็ยังขาดความรู้เรื่องน้ำหนักที่เหมาะสมที่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงที่พอเหมาะในระหว่างการตั้งครรภ์1 นอกจากนี้ มารดายังคงกินอาหารที่บำรุงเพิ่มขึ้นในระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งอาจจะเหมาะสมหากมารดาได้รับสารอาหารและพลังงานที่พอเหมาะกับการผลิตและสร้างน้ำนม แต่หากมารดารับประทานอาหารที่เพิ่มขึ้นโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจก็จะเป็นความเสี่ยงต่อทั้งตัวของทารกที่อาจจะขาดสารอาหารที่จำเป็นและมารดาที่จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรเป็นพี่เลี้ยงที่จะให้คำปรึกษาให้มารดามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ให้ดี เพื่อช่วยให้การเริ่มต้นของช่วงชีวิตของทารกใน 1000 วันแรกเป็นช่วงชีวิตที่มีความสมบูรณ์แลเอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกสูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Kavle JA, Mehanna S, Khan G, Hassan M, Saleh G, Engmann C. Program considerations for integration of nutrition and family planning: Beliefs around maternal diet and breastfeeding within the context of the nutrition transition in Egypt. Matern Child Nutr 2018;14.

 

ความตั้งใจที่จะมีลูกส่งผลต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ส่วนใหญ่ทราบกันดีแล้วว่า หากมารดามีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โอกาสที่มารดาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสูงและยาวนานกว่าในมารดากลุ่มนี้ เนื่องจากความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เสมือนเป็นด่านแรกที่จะต้องผ่านในมารดาที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะความตั้งใจนี้ จะนำไปสู่ความสนใจ ใส่ใจ หาข้อมูล ขอคำปรึกษา และหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติของมารดาที่จะมีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มีการศึกษาพบว่า ความตั้งใจที่จะมีบุตรของบิดาและมารดา อายุ และการศึกษามีผลต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา1 ดังนั้น หากพบว่ามารดามีการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมหรือไม่มีความตั้งใจ ปราศจากการวางแผน มารดาที่อายุน้อย หรือการศึกษาระดับมัธยมหรือต่ำกว่า จึงอาจนับเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการที่มารดาจะขาดความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรต้องใส่ใจและเอาใจใส่กับมารดาและครอบครัวในกลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อสร้างหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติของมารดาให้มีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ เพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้มีแก่มารดาและทารกได้สูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Keddem S, Frasso R, Dichter M, Hanlon A. The Association Between Pregnancy Intention and Breastfeeding. J Hum Lact 2018;34:97-105.

การให้ลูกกินนมจากเต้ากับการปั๊มนมป้อนให้ลูกมีผลดีแตกต่างกันหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในสมัยก่อน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นก็คือการให้นมแม่จากเต้านมของมารดา แต่ปัจจุบัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีความหมายรวมไปถึงการปั๊มนมแม่และป้อนนมแม่ให้แก่ลูกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีผลต่อความเฉลียวฉลาดของทารกที่มากกว่าทารกที่กินนมผง กลไกที่จะส่งผลต่อความเฉลียวฉลาดนั้น เชื่อว่าเกิดจากการกระตุ้นการพัฒนาการของทารกผ่านการสัมผัส การโอบกอด และการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมารดาและทารกขณะที่ลูกได้ดูดกินนมแม่จากเต้านม หากการปั๊มนมและป้อนนมให้แก่ทารกมีการป้อนนมอย่างเดียวขาดการโอบกอด การสัมผัส และปฏิสัมพันธ์กันระหว่างแม่กับลูก คำถามที่มีข้อสงสัยคือ ทารกที่กินนมแม่จากน้ำนมที่ปั๊มนมจะยังคงมีความเฉลียวฉลาดเหมือนกับทารกที่กินนมจากเต้านมแม่โดยตรงหรือไม่ มีความพยายามที่จะทำการศึกษาถึงเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ปัญหาของระยะเวลาที่ปั๊มนมและให้นมลูกไม่แน่นอน ผลการประเมินจึงยังไม่สามารถสรุปได้1 แต่จากข้อมูลในปัจจุบัน หากสามารถให้นมแม่จากเต้าได้ ผลต่อความเฉลียวฉลาดของทารกย่อมน่าจะดีกว่า และการให้นมแม่ที่ได้จากการปั๊มนมก็น่าจะดีกว่าการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก การทำความเข้าใจกับมารดาและครอบครัวในเรื่องเหล่านี้จึงมีความจำเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Keim SA, Smith K, Boone KM, Oza-Frank R. Cognitive Testing of the Brief Breastfeeding and Milk Expression Recall Survey. Breastfeed Med 2018;13:60-6.

การป้อนนมผงหลังคลอดมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โดยทั่วไปวิธีการคลอดบุตรจะมีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน การผ่าตัดคลอดมักทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้าและมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม หากมีการเอาใจใส่ให้มารดาที่ผ่าตัดคลอดสามารถเริ่มนมแม่ได้เร็วใกล้เคียงกับมารดาที่คลอดบุตรทางช่องคลอด อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน อุปสรรคอีกอย่างที่พบว่ามีความสำคัญต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คือ การให้ลูกกินนมผงตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด สิ่งนี้ส่งผลในการลดการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ดังนั้น นโยบายการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องน่าจะมีบทบาทในการปกป้องและป้องกันการให้นมผงแก่ทารกในระยะแรกหลังคลอดได้ ซึ่งโรงพยาบาลที่ปฏิบัติตามนโยบายสายสัมพันธ์แม่ลูกได้ก็จะมีโอกาสที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จมากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Kiani SN, Rich KM, Herkert D, Safon C, Perez-Escamilla R. Delivery mode and breastfeeding outcomes among new mothers in Nicaragua. Matern Child Nutr 2018;14.

แม่เครียดเริ่มการเลี้ยงลูกและให้ลูกกินนมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ความเครียดมีผลต่อการตัดสินใจหลาย ๆ อย่างของมารดารวมทั้งในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม่ที่มีความเครียดมากมักมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม มีการศึกษาถึงภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดแก่มารดาในช่วงหนึ่งปีก่อนการคลอดบุตรและติดตามผลว่ามีผลกระทบต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และส่งผลทำให้หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ระยะเวลาหนึ่งเดือนหลังคลอดหรือไม่ พบว่า มารดาที่มีปัจจัยใหญ่อย่างน้อยหนึ่งอย่างในช่วงหนึ่งปีก่อนการคลอดบุตรจะมีผลทำให้การเริ่มการให้ลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอดน้อยลง และเมื่อติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่หนึ่งเดือนพบว่า มารดาที่มีความเครียดดังกล่าวหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่ามารดาที่ไม่มีความเครียด1 การที่บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ในการคัดกรองความเสี่ยงของมารดาที่จะหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควร โดยให้ความสนใจและใส่ใจในมารดากลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาและหาทางออกที่เหมาะสมให้มารดาสามารถยังคงให้นมแม่ต่อเนื่องไปได้ตามระยะเวลาที่ควรเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kitsantas P, Gaffney KF, Nirmalraj L, Sari M. The influence of maternal life stressors on breastfeeding outcomes: a US population-based study. J Matern Fetal Neonatal Med 2018:1-5.