เรื่องทั้งหมดโดย OB-GYN

หลังคลอดแล้วควรรับประทานยาแผนโบราณดีไหม?

หลังคลอดแล้วควรรับประทานยาแผนโบราณดีไหม?

 

การกลับเข้าอู่ของมดลูกเป็นกลไกธรรมชาติ ปัจจุบันมียาช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อป้องกันการตกเลือดและยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อที่ดีอยู่แล้วหากจำเป็น ดังนั้นการรับประทานยาแผนโบราณจึงไม่จำเป็น แต่หากต้องการรับประทานควรระมัดระวังในกรณีที่เป็นยาดองเหล้า เพราะแอลกอฮอล์ในยาดองเหล้าจะผ่านทางน้ำนมขณะให้นมบุตรได้

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

 

เมื่อเต้านมคัด…จะทำอย่างไรดี?

 

? ? ? ? ?เต้านมคัดเป็นปัญหาที่คุณแม่ทุกคนต้องประสบพบเจอหลังคลอด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวด ไม่สบายตัว มีไข้ และให้นมได้ไม่ดี การแนะนำการปฏิบัติจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใหญ่ในครอบครัวและเพื่อนผู้มีประสบการณ์มีความเห็นที่แตกต่างและหลากหลายทำให้คุณแม่ยากที่จะตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตัวที่เหมาะสมอย่างไรเพื่อจะทำให้รู้สึกสบายตัวและให้นมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาดูข้อมูลเรื่องเต้านมกันดีกว่า

? ? ? ? ?เต้านมคัด เกิดจากการคั่งของเลือดและน้ำเหลืองที่มาเลี้ยงเต้านมเพื่อสนับสนุนการสร้างน้ำนมให้มากขึ้นร่วมกับน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้นด้วย จะเกิดขึ้นในช่วง 2-5 วันหลังคลอด เมื่อมีอาการตึงคัดเต้านมแล้ว คุณแม่จะมีอาการตึงปวด ร้อนบริเวณเต้านม อาจพบมีไข้ต่ำๆ มักไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส การที่เต้านมคัดตึงจะทำให้ลานหัวนมตึงแข็ง การเข้าเต้าจะทำได้ไม่ดี และเป็นปัญหาทำให้เจ็บหัวนม หัวนมแตกและส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1

? ? ? ? ?การป้องกันการคัดเต้านม ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการให้น้ำเกลือและยาออกซีโตซินซึ่งกระตุ้นการหดรัดตัวมดลูกระหว่างระยะคลอดมากเกินไป การให้นมบ่อยๆ ให้นมจนเกลี้ยงเต้าและให้นมแม่ต่อเนื่องในระยะหลังคลอดใหม่2

? ? ? ? ? สำหรับการแก้ปัญหาเต้านมคัดนั้น ใช้การประคบเย็นที่เต้านม ให้ยาลดไข้หรือแก้ปวดและคุณแม่ควรบีบไล่น้ำนมออกจากเต้านมก่อนการเข้าเต้าเพื่อให้ลานหัวนมนุ่มขึ้น3ร่วมกับการให้ลูกดูดนมเพื่อลดปริมาณน้ำนมในเต้านมวันละ 8-12 ครั้ง การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอย่างเข้มงวด จะลดปัญหาอาการเต้านมคัดลงภายใน 1-2 วัน หลังจากนั้นการกระตุ้นน้ำนมทุก 2-3 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้น้ำนมมามากขึ้น มีน้ำนมเพียงพอและหากคุณแม่ตั้งใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยหกเดือนก็จะประสบความสำเร็จได้ สำหรับการประคบเย็นเต้านมด้วยใบกระหล่ำปลีแช่แข็งนั้น ข้อมูลเรื่องนี้ประโยชน์ในการลดการเต้านมคัดยังไม่ชัดเจน1 ในส่วนโรงพยาบาลการสนับสนุนให้ลูกดูดนมแม่ ควรจัดให้ลูกได้ดูดนมแม่ภายในครึ่งชั่วโมงหลังคลอด เมื่อเต้านมตึงคัดอาจช่วยโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นพี่เลี้ยงสอนการบีบนมออกจากเต้า ช่วยจัดท่าที่ให้นมที่เหมาะสม ให้คุณแม่รู้สึกสบาย ไม่ปวดเมื่อย เปิดโอกาสให้คุณแม่ได้อย่างกับลูกตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อช่วยสัมผัสที่ดีระหว่างแม่กับลูกและคุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตามต้องการ การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากจะช่วยในส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคุณแม่แล้ว ยังส่งเสริมอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยให้สูงขึ้นได้

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.
  2. LawrenceRA, LawrenceRM. Breastfeeding: A Guide for the Medical Profession.Philadelphia,PA: Elsevier Mosby, 2005.
  3. CottermanKJ. Reverse pressure softening: a simple tool to prepare areola for easier latching during engorgement. J Hum Lact 2004;20:227-37.

?รูปที่ 1 แสดงเต้านมคัด

 

เต้านมคัด?เต้านมคัด

 

 

 

?รูปที่ 2 แสดงการบีบน้ำนมออกจากเต้านม

แสดงการบีบน้ำนมออกจากเต้านม

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

 

ปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน

 

โอ๊ย…ปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือน เป็นอาการที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสตรีในทุกรอบเดือน บางครั้งอาการเป็นมากจนปฏิบัติงานไม่ได้ ต้องหยุดงาน สร้างความวิตกกังวลตลอดเมื่อถึงรอบการมีประจำเดือน การปวดประจำเดือนนั้นมีหลายสาเหตุ มาเรียนรู้ในเรื่องนี้กันดีกว่า

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการมีประจำเดือนเกิดขึ้นได้อย่างไร ประจำเดือนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายสตรี โดยการสั่งการจากสมองมากระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่ ซึ่งจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนไปกระตุ้นการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน เมื่อไข่ตกแล้วไม่ได้รับการผสมหรือปฏิสนธิ การสร้างฮอร์โมนจะต่ำลง เยื่อบุโพรงมดลูกจะขาดการกระตุ้น ขาดเลือดไปเลี้ยง ฝ่อ ตาย และหลุดออกมาพร้อมกันกับมีเลือดที่อยู่ในชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนด้วย ในขณะที่มีการขาดเลือดของเยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมทั้งการที่มีเลือดขังอยู่ในโพรงมดลูกนั้น จะมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารที่ทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกเพื่อขับไล่เลือดออกมา การบีบตัวของตัวมดลูกจะทำให้รู้สึกปวดหน่วงท้องน้อย ซึ่งจะเป็นอาการปวดประจำเดือน

การปวดประจำเดือนในภาวะปกติ อาการจะมีไม่มาก มักเป็นในวันแรกและวันที่สองของการมีประจำเดือน ส่วนใหญ่มากหายเอง ความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวดมีน้อย และมักไม่รบกวนการทำงานหรือการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน

อาการปวดประจำเดือนอาจเกิดจากการมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่

– ?การอักเสบในอุ้งเชิงกราน

– ?การมีเนื้องอกมดลูก

– ?เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

– ?มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกหรือกล้ามเนื้อมดลูก

– ?การแท้ง

– ?การท้องนอกมดลูก

การปวดประจำเดือนจากสาเหตุเหล่านี้ สังเกตได้จากมักมีอาการปวดประจำเดือนมาก ต้องใช้ยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการ มักเป็นอยู่หลายวัน และอาจพบมีเลือดประจำเดือนออกมากหรือผิดปกติร่วมด้วย การวินิจฉัยจำเป็นต้องใช้แพทย์เป็นผู้ตรวจสอบ โดยอาศัยข้อมูลจากประวัติระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวด อาการร่วม ได้แก่ การมีไข้ การเคยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีปัสสาวะบ่อย แสบขัด หรือเป็นหนอง ตกขาวผิดปกติมีกลิ่นเหม็น การคลำก้อนได้ที่ท้องน้อย การมีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ การมีประจำเดือนมามากหรือผิดปกติ การขาดหรือไม่สม่ำเสมอของประจำเดือน อาการคลื่นไส้อาเจียน โดยเมื่อได้ข้อมูลจากประวัติแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจหน้าท้องและตรวจภายใน การตรวจจะช่วงให้ได้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นการปวดประจำเดือนลักษณะปกติหรือเป็นโรคใด หากข้อมูลที่ได้ยังไม่ชัดเจน การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยและช่วยในการวางแผนการรักษาด้วย แผนการรักษามีตั้งแต่การติดตาม การใช้ยาบรรเทาหรือรักษาอาการ และการผ่าตัด ซึ่งการเลือกวิธีการรักษาในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรค อายุ ความต้องการมีบุตร แพทย์จะให้คำปรึกษาเรื่องโรคและวิธีการรักษาโดยร่วมกันวางแผนการรักษากับผู้ป่วยและครอบครัว ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดประจำเดือนมักต้องการการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน

ในสตรีที่มีอาการปวดประจำเดือนหากอายุมากใกล้หมดประจำเดือนและสาเหตุของการปวดประจำเดือนไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง การรักษาด้วยยาบรรเทาอาการและนัดติดตามการรักษาเป็นระยะๆ จนกระทั่งหมดประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนก็จะหมดไป จะเห็นว่าการปวดประจำเดือนนี้ อาจเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงการมีประจำเดือนราว 40 ปี กว่าจะหมดประจำเดือนโดยส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมาน จึงเป็นสิ่งที่สตรีควรใส่ใจ สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง และปรึกษาแพทย์หากสงสัยความผิดปกติของอาการปวดประจำเดือน

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

 

 

นมแม่สร้างได้อย่างไร?

นมแม่สร้างได้อย่างไร?

 

? ? ? ? ? ธรรมชาติสร้างให้คุณแม่ทุกคนมีน้ำนมให้ลูก น้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ละชนิดก็จะมีสัดส่วนของสารอาหารเหมาะสมสำหรับตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นๆ ดังนั้นเราไม่ควรละเลยเรื่องนมแม่ มาดูกลไกการสร้างน้ำนมของคุณแม่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

? ? ? ? ? นมแม่ จะเริ่มผลิตตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์โดยการกระตุ้นของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ได้แก่ โปรแลคติน ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งคือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สร้างจากรกจะคอยยับยั้งไม่ให้เกิดการหลั่งหรือมีน้ำนมไหลออกมา เมื่อเกิดการคลอดรก ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดต่ำลง1 กลไกการยั้บยั้งน้ำนมหายไป ทำให้ฤทธิ์ของฮอร์โมนโปรแลคตินเด่นชัดขึ้น เมื่อลูกดูดนมจะเกิดการกระตุ้นให้ฮอร์โมนโปรแลคตินสูงขึ้นอีก การสร้างน้ำนมก็จะมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันการดูดนมจะกระตุ้นฮอร์โมนออกซีโตซินที่ช่วยในการหลั่งหรือทำให้เกิดการไหลของน้ำนม ช่วยให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้น การกระตุ้นให้ฮอร์โมนโปรแลคตินสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ควรให้ลูกกระตุ้นดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมง

? ? ? ? ? โดยปกตินมแม่จะเริ่มมีภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยในระยะแรกจะเป็นน้ำนมเหลือง (colostrum) ซึ่งจะเป็นน้ำนมที่มีภูมิคุ้มกันอยู่สูง ประมาณ 4 วันหลังคลอดน้ำนมเหลืองจะเปลี่ยนเป็นน้ำนมช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional milk) จากนั้น 10 วันหลังคลอดจะเปลี่ยนเป็นนมแม่ปกติ ในน้ำนมแม่ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อลูกครบถ้วน โดยจะมีไขมันที่ให้พลังงานในสัดส่วนที่มากที่สุด รองลงมาคือ น้ำตาลแลคโตส ที่สามารถย่อยและดูดซึมได้ดี ทารกสามารถนำสารอาหารนี้ไปใช้ได้เร็ว นอกจากนี้ยังมีโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ในกรณีที่คุณแม่มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง น้ำนมแม่จะมีสัดส่วนของสารอาหารคงที่ไม่ได้ขึ้นกับการรับประทานอาหารของคุณแม่ในแต่ละมื้อ แต่หากมีคุณแม่มีภาวะขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารเสริมอาจจำเป็น มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการมาช้าหรือเร็วของน้ำนม2-4 ได้แก่

– ลำดับครรภ์ คุณแม่ท้องแรกจะมีน้ำนมช้ากว่าท้องหลัง

– คุณแม่ที่มีระยะเบ่งคลอดที่ยาวนานหรือมีภาวะเครียดระหว่างการคลอดจะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– การผ่าตัดคลอด คุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด น้ำนมจะมาช้ากว่าคุณแม่ที่คลอดปกติ

– หัวนมแบนหรือบอด จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– การใช้ขวดนม จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– คุณแม่ที่อ้วน หรือมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– การที่มีเศษของรกค้างอยู่ในมดลูก จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– การให้ลูกกระตุ้นดูดนมหรือปั๊มนมห่างเกินไป จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

? ? ? ? ? จะเห็นปัจจัยหลายอย่างที่สัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้าสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากน้ำนมมาเร็วและมามาก คุณแม่จะมั่นใจในการให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากน้ำนมแม่มาช้าก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ความพยายามกระตุ้นโดยให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอทุก 2-3 ชั่วโมงจะทำให้น้ำนมแม่มาเร็วขึ้นและเพียงพอได้ ขอให้คุณแม่ทุกคนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.
  2. Rasmussen KM, Kjolhede CL. Prepregnant overweight and obesity diminish the prolactin response to suckling in the first week postpartum. Pediatrics 2004;113:e465-71.
  3. LoveladyCA. Is maternal obesity a cause of poor lactation performance? Nutr Rev 2005; 63:352-5.
  4. Dewey KG, Nommsen-Rivers LA, Heinig MJ, Cohen RJ. Risk factors for suboptimal infant breastfeeding behavior, delayed onset of lactation, and excess neonatal weight loss. Pediatrics 2003;112:607-19.

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

 

 

ห่วงอนามัย

ห่วงอนามัย

? ? ? ? ? ห่วงอนามัย ใช้สำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดนานเช่นกัน ห่วงอนามัยมีชนิดที่คุมกำเนิดได้ตั้งแต่ 3-10 ปี การใส่ต้องทำโดยแพทย์ โดยการเริ่มใส่จะเริ่มใน 5-7 วันนับจากวันแรกของการเริ่มต้นการมีประจำเดือนในรอบปกติ แพทย์จะตรวจภายในและสอดใส่ห่วงอนามัยเข้าไปในโพรงมดลูกโดยที่ปลายห่วงอนามัยจะมีเชือกผูกอยู่ แพทย์จะตัดเชือกให้ปลายเชือกอยู่ในช่องคลอดเพื่อผู้ใส่ห่วงอนามัยสามารถจะคลำปลายเชือกเพื่อตรวจสอบการหลุดของห่วงอนามัยได้ ทุกปีควรมีการตรวจภายในเพื่อตรวจสอบห่วงอนามัย และเมื่อครบกำหนดการคุมกำเนิด การถอดห่วงอนามัยต้องทำโดยแพทย์เช่นกัน และสามารถใส่ห่วงอนามัยต่อได้ในกรณีต้องการคุมกำเนิดต่อ อาการข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ประจำเดือนมามากขึ้นเล็กน้อย หรือมีการปวดหน่วงท้องน้อยขณะมีประจำเดือน หลังการถอดห่วงออกโอกาสในการมีบุตรจะกลับมาเป็นปกติ

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์