รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรเป็นบทบาทพื้นฐานที่แพทย์ทั่วไปควรปฏิบัติได้ แต่ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบันยังมีความหลากหลายทั้งจำนวนชั่วโมงในการจัดการเรียนการสอน และการฝึกทักษะในการให้การดูแลและคำปรึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนจะขึ้นอยู่กับความให้ความสนใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของอาจารย์แพทย์ผู้ที่ดูแลนักศึกษาแพทย์ขณะที่นักศึกษาแพทย์หมุนเวียนเข้าศึกษาในหน่วยงาน ทั้ง ๆ ที่ควรจะมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำเบื้องต้นที่นักศึกษาแพทย์ควรต้องทราบ และปฏิบัติได้ ซึ่งนอกจากการจัดมาตรฐานขั้นต่ำแล้ว ควรมีการประเมินสมรรถนะ (competency-based) เรื่องการให้การดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของนักศึกษาแพทย์ด้วย ซึ่งนอกจากจะใช้ในการประเมินแล้ว การกำหนดเป้าหมายของสมรรถนะที่นักศึกษาแพทย์ควรจะปฏิบัติได้จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมด้วย
สำหรับแพทย์ประจำบ้านที่มักจะมีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ได้แก่ สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โดยแพทย์ประจำบ้านในแต่ละสาขา
ควรมีทักษะเบื้องต้นเหมือน ๆ กัน แต่มีความจำเพาะในความลึกซึ้งในการแก้ปัญหาหรือให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามความเกี่ยวข้องในแต่ละสาขานั้น
ๆ มีการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า
แพทย์ประจำบ้านในกลุ่มเหล่านี้ยังขาดการจัดการเรียนการสอนในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพียงพอที่จะสร้างให้เกิดความมั่นใจในการดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทักษะการให้คำปรึกษา1 ดังนั้น
จะเห็นว่าไม่ว่าเป็นการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่มีความเชื่อมโยงกันในระหว่างการจัดการเรียนการสอน
ความรู้และทักษะที่จำเป็นต้องจัดให้แก่แพทย์นั้นยังขาดการจัดการเรียนการสอนที่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทั้งนักศึกษาแพทย์ที่จะจบเป็นแพทย์ทั่วไปและแพทย์ประจำบ้านที่ศึกษาเฉพาะทางให้สามารถให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวด้วยความมั่นใจ
และถือว่าสิ่งนี้เป็นบทบาทของโรงเรียนแพทย์ที่ต้องรับรู้ พัฒนา
และปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้
เอกสารอ้างอิง
1. Meek JY, Nelson JM, Hanley LE, Onyema-Melton N, Wood
JK. Landscape Analysis of Breastfeeding-Related Physician Education in the
United States. Breastfeed Med 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจากการประเมินดัชนีมวลกายโดยใช้น้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ในการคิดคำนวณ จะพบว่ามารดามีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอดสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก้ เบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิดตัวโต การคลอดยาก การใช้หัตถการในการช่วยคลอด การผ่าตัดคลอด การตกเลือดหลังคลอด และการมาของน้ำนมช้า ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายของมารดาทางสรีรวิทยาและทำให้มีการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้า ซึ่งจะมีผลต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่แตกต่างกันของมารดาที่อ้วนเมื่อเปรียบเทียบกับมารดาที่มีน้ำหนักปกติ โดยที่ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีความจำเพาะสำหรับช่วยเหลือมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนในแต่ละภาวะอย่างต่อเนื่องจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ในมารดาที่ผ่าตัดคลอด หากมีการช่วยให้มารดาได้มีการโอบกอดทารกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดและมีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอดจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ในขณะที่การให้การดูแลมารดาและทารกที่เป็นขั้นตอนการดูแลตามปกติไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1
เอกสารอ้างอิง
1. Marshall NE, Lallande LF, Schedin PJ, Thornburg KL,
Purnell JQ. Exclusive Breastfeeding Rates at 6 Weeks Postpartum as a Function of
Preconception Body Mass Index Are Not Impacted by Postpartum Obstetrical
Practices or Routines. Breastfeed Med 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรจัดทำเป็นหนึ่งในมาตรฐานงานประจำที่ต้องปฏิบัติในระยะหลังคลอดขณะที่มารดาและทารกยังอยู่ที่โรงพยาบาล การสอนมารดาหลังคลอดจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้และทักษะในการสอนการเข้าเต้า กากรจัดท่าให้นมลูกที่เหมาะสม และการบีบน้ำมด้วยมือ ซึ่งหากผู้ที่ทำการสอนขาดทักษะ มีความไม่มั่นใจ จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการสอน ทำให้มีความแตกต่างกันระหว่างผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญกับผู้สอนที่ขาดประสบการณ์ การใช้วิดีโอในการสอนจึงเป็นหนทางหนึ่งของความพยายามที่จะจัดให้มารดาได้รับการสอนที่มีมาตรฐานเดียวกันโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพบว่าช่วยให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น1 อย่างไรก็ตาม การใช้วิดีโอสอนไม่พบว่าช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการมีทักษะที่จะให้นมลูกได้ไม่ได้เป็นปัจจัยอย่างเดียวที่จะทำให้มารดาเลือกและประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่พบบ่อย ได้แก่ การเจ็บหัวนม การกลับไปทำงานของมารดา ดังนั้น การติดตามและให้คำปรึกษาที่เป็นระบบจึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ช่วยในความต่อเนื่องของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Marmet J, Schmiesing A, Scheuer J, Osborn C, Lunos SA,
Pitt MB. Prescribing Video-Based Patient Education in the Hospital Setting: Can
Bedside Breastfeeding Videos Affect Exclusive Breastfeeding at Postpartum
Discharge? Hosp Pediatr 2020;10:266-71.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่เป็นเบาหวานจะมีความเสี่ยงในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าที่จะมีผลต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
มีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หลังคลอดสามเดือนของมารดาที่เป็นเบาหวาน
ผลจากการศึกษาพบว่า ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ1 ดังนั้น
การให้ความรู้แก่มารดาอย่างเหมาะสมและการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจและความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่เป็นเบาหวาน
เอกสารอ้างอิง
1. Rasmussen B, Nankervis A, Skouteris
H, et al. Factors associated with breastfeeding to 3 months postpartum among
women with type 1 and type 2 diabetes mellitus: An exploratory study. Women
Birth 2020;33:e274-e9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า หากสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด จะเป็นผลดีต่ออัตราและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีคำถามว่า ปัจจัยอะไรระหว่างการคลอดที่เป็นอุปสรรคต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาวิจัยที่ตอบคำถามนี้ โดยพบว่า การใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนให้แก่มารดาในระหว่างการคลอด จะลดการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดลงร้อยละ 22 การใช้หัตถการในการช่วยคลอดทางช่องคลอด ได้แก่ การใช้เครื่องดูดสุญญากาศ และการใช้คีมช่วยคลอด จะลดการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดลงร้อยละ 26 ขณะที่การผ่าตัดคลอดจะลดการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดลงร้อยละ 701 ดังนั้น จะเห็นว่าการผ่าตัดคลอดเป็นปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากที่สุด การลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นจึงเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรร่วมมือรณรงค์ เพราะนอกจากจะมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับมารดาและทารก และลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่ขาดความคุ้มค่าลงด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Fan HSL, Wong JYH, Fong DYT, Lok KYW, Tarrant M.
Association Between Intrapartum Factors and the Time to Breastfeeding
Initiation. Breastfeed Med 2020.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)