เรื่องทั้งหมดโดย OB-GYN

การเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอระหว่างการให้ลูกกินนมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองของทารกไม่เพียงพอเกิดได้ทั้งในระยะก่อนคลอด ระยะคลอด และระยะหลังคลอด โดยมักเกิดขึ้นในระยะคลอดมากที่สุด ซึ่งการที่เลือดไปเลี้ยงสมองทารกไม่เพีบงพอจะทำให้สมองเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้เกิดความเสียหายแก่สมอง โดยที่หากมีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดการเสียหายของสมองที่ถาวร (cerebral palsy) ได้ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงการเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองของทารกไม่เพียงพอในระยะหลังคลอดพบว่ามีปัจจัยที่พบร่วมกัน คือ การเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองของทารกไม่เพียงพอในขณะที่มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและให้ลูกกินนมแม่1 แม้ว่าอัตราการเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองของทารกไม่เพียงพอในทารกหลังคลอดขณะกินนมแม่จะพบน้อย แต่การเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองของทารกไม่เพียงพออาจจะก่อให้เกิดความพิการทางสมองของทารกอย่างถาวะได้ การให้ความรู้แก่มารดาถึงภาวะการเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองของทารกไม่เพียงพอและสอนให้มารดาสามารถสังเกตอาการที่ผิดปกติของทารกจะช่วยให้สามารถทำการให้การดูแลรักษาทารกได้รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยทั้งลดการเกิดความพิการทางสมองของทารกอย่างถาวรและช่วยในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Miyazawa T, Itabashi K, Tamura M, Suzuki H, Ikenoue T, Prevention Recurrence Committee JOCSfCP. Unsupervised breastfeeding was related to sudden unexpected postnatal collapse during early skin-to-skin contact in cerebral palsy cases. Acta Paediatr 2020;109:1154-61.

การให้ลูกได้กินนมแม่นานช่วยลดความวิตกกังวลของมารดา

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สัญชาตญาณหรือความรู้สึกพื้นฐานของมารดาที่ให้กำเนิดลูกมักมีความต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง ยิ่งมารดายิ่งได้ทราบถึงประโยชน์และความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่แล้ว หากไม่สามารถให้นมลูกด้วยตนเองได้ อาจมีความวิตกกังวล หดหู่ รู้สึกผิด หรือมีอาการซึมเศร้าได้ มีการศึกษาที่พบว่า การให้ลูกได้กินนมแม่ยิ่งนานพบว่าจะยิ่งช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาลงได้1 ซึ่งเป็นไปได้ว่า การที่มารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้จะสามารถตอบสนองต่อสัญชาตญาณหรือความรู้สึกพื้นฐานของการเป็นมารดา ซึ่งทำให้ลดความวิตกกังวลลงได้ ในการศึกษาเดียวกัน ยังพบอีกว่ามารดาที่ให้ลูกกินนมแม่จะพบอาการซึมเศร้าหลังคลอดน้อยกว่ามารดาที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ด้วย ดังนั้น “การปฏิบัติตามธรรมชาติของการพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันและลดการเกิดภาวะตึงเครียดและซึมเศร้าในระยะหลังคลอดของมารดาลงได้

1.        Miksic S, Uglesic B, Jakab J, Holik D, Milostic Srb A, Degmecic D. Positive Effect of Breastfeeding on Child Development, Anxiety, and Postpartum Depression. Int J Environ Res Public Health 2020;17.

การใช้นมบริจาคช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อาหารที่เหมาะสมสำหรับทารกในหกเดือนแรก คือ นมแม่ ซึ่งการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต พัฒนาการ และการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทารก อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทยที่มีรายงานในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 23.1 ซึ่งยังเป็นอัตราที่ต่ำ การสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนแรก พื้นฐานการศึกษา ความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้น การส่งเสริมให้ทารกที่ป่วยได้รับนมแม่ยังช่วยในการฟื้นตัวและลดการนอนโรงพยาบาลของทารก การใช้นมบริจาคจากธนาคารนมแม่สามารถช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1{Merjaneh, 2020 #172810} อย่างไรก็ตาม หากมารดาสามารถบีบเก็บน้ำนมให้ลูกของตนเองได้จะดีที่สุด “เพราะน้ำนมมารดาคนใดที่ให้กำเนิดลูกก็จะมีความจำเพาะและเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกของมารดาคนนั้น”

เอกสารอ้างอิง

1.        Merjaneh N, Williams P, Inman S, et al. The impact on the exclusive breastfeeding rate at 6 months of life of introducing supplementary donor milk into the level 1 newborn nursery. J Perinatol 2020.

การให้ลูกกินนมแม่ช่วยป้องกันกลุ่มโรคเมตาบอลิกในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่จะมีผลดีหลายอย่าง ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยในปัจจุบัน ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ รวมทั้งกลุ่มโรคเมตาบอลิก โดยมีการศึกษาในประเทศเกาหลีในมารดา 1983 รายที่อยู่ในวัยทองพบว่า หากมารดามีประวัติที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 3 เดือนจะป้องกันการเกิดกลุ่มโรคเมตาบอลิกได้ถึงครึ่งหนึ่ง1 ดังนั้น หากพิจารณาประโยชน์ของนมแม่ในด้านเหล่านี้ จะเห็นว่า การที่มารดาให้ลูกได้กินนมแม่น่าจะทำให้มารดามีอายุที่ยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการลดการเกิดโรคข้างต้น ซึ่งการลงทุนทางด้านสุขภาพแก่มารดาโดยการให้ลูกกินนมแม่นับเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

เอกสารอ้างอิง

1.            Ra JS, Kim SO. Beneficial effects of breastfeeding on the prevention of metabolic syndrome among postmenopausal women. Asian Nurs Res (Korean Soc Nurs Sci) 2020.

การใช้กราฟการคลอดดูแลมารดาระหว่างการคลอด

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การดูแลการเปลี่ยนแปลงของมารดาในระยะการคลอดว่าปกติดีหรือไม่ มักจะเทียบการเปลี่ยนแปลงของมารดากับกราฟการคลอด โดยกราฟการคลอดที่นิยมใช้ ได้แก่ กราฟการคลอดขององค์การอนามัยโลก (WHO partograph) ซึ่งจะให้เวลาในการดูแลระยะที่ปากมดลูกเปิดช้า (latent phase) 8 ชั่วโมง และให้เวลาการดูแลระยะรอคลอดที่ปากมดลูกเปิดเร็ว (active phase) 7 ชั่วโมง โดยในช่วงที่ปากมดลูกเปิดเร็วนั้น การเปลี่ยนแปลงของการขยายของปากมดลูกไม่ควรน้อยกว่า 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง ในกราฟการคลอดจะเส้นที่เตือนสำหรับบุคลากรผู้ดูแลการคลอด 2 เส้น คือ เส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) และเส้นเตือนให้ตัดสินใจดำเนินการ (action line)

            หากระหว่างการดูแลการคลอด เมื่อลากเส้นเชื่อมเส้นกราฟการคลอดของมารดา เส้นกราฟไปตัดกับเส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นพิจารณาว่า การคลอดของมารดารายนั้นจะเป็นการคลอดยากหรือไม่ หากมีโอกาสที่จะผ่าตัดคลอดสูง และสถานพยาบาลที่ทำการดูแลขาดความพร้อมในการทำการผ่าตัดคลอด ควรเลือกที่จะส่งต่อมารดาไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมที่ดูแลการผ่าตัดคลอดได้ ดังนั้น “เส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) จึงเหมือนเส้นเตือนตัวเองว่า สถานพยาบาลมีความพร้อมหรือไม่ที่จะดูแลมารดาระยะคลอดที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเอง”

            สำหรับในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมที่จะดูแลมารดาระยะคลอดที่มีความเสี่ยงสูง หากเส้นกราฟการคลอดของมารดาไปตัดเส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) ในกรณีนี้ไม่ได้มีความหมายว่าให้ส่งต่อ แต่มีความหมายเตือนว่า การคลอดของมารดารายนั้นจะมีความเสี่ยง จำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด และควรแก้ไขปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดการคลอดที่ช้า ซึ่งหากเส้นกราฟการคลอดของมารดายังคงมีการเปลี่ยนแปลงช้าจนเส้นกราฟของมารดาไปตัดเส้นเตือนให้ตัดสินใจดำเนินการ (action line) แล้ว บุคลากรทางการแพทย์ต้องระลึกไว้เสมอว่า การผ่าตัดคลอดอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับมารดา เนื่องจาก เมื่อการคลอดของมารดาช้าจนเส้นกราฟการคลอดของมารดาไปตัดเส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line)  บุคลากรทางการแพทย์ได้พิจารณาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการคลอดที่ช้า แล้วได้ดำเนินการแก้ไขปัจจัยที่เป็นสาเหตุ แต่ผลลัพธ์ของการแก้ไขไม่ดีขึ้น ดังนั้น “เส้นเตือนให้ตัดสินใจดำเนินการ (action line) จึงเสมือนเส้นเตือนให้ตัดสินใจดำเนินการผ่าตัดคลอด ซึ่งการพิจารณาการผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกของการคลอดที่เหมาะสมในมารดารายนั้น เพื่อเป็นการปกป้องและป้องกันอันตรายต่อมารดาและทารกจากการคลอดที่เนิ่นนานนั่นเอง