เรื่องทั้งหมดโดย OB-GYN

ปัจจัยอะไรที่ทำให้แม่ที่เป็นหมอให้นมแม่ได้นาน

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ส่วนใหญ่แล้วแม่จะทราบว่า นมแม่ดีที่สุดสำหรับลูก ยิ่งหากแม่เป็นหมอ ยิ่งมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่ แล้วปัจจัยอะไรที่จะทำให้แม่ที่เป็นหมอสามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาที่หาคำตอบของเรื่องนี้มาให้แล้ว โดยพบว่าความตั้งใจของมารดาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และปัจจัยในด้านการงานเป็นสองส่วนที่มีความสำคัญ1 ซึ่งหากแม่ที่เป็นหมอมีความตั้งใจของมารดาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะวางแผนฝากครรภ์และคลอดในโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่จะมีระบบการสนับสนุนที่เอื้อที่จะช่วยให้แม่สามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยมี การสนับสนุนให้แม่ได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และเริ่มการให้นมลูกตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด มีการสอนให้แม่เข้าเต้าและจัดท่าให้นมลูก การมีพี่เลี้ยงที่จะให้คำปรึกษา การมีนัดติดตาม โทรศัพท์ หรือมีการเยี่ยมบ้านเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะเห็นว่า การมีความตั้งใจจะนำไปสู่การขวนขวาย และดำเนินการเพื่อเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

            สำหรับปัจจัยอีกส่วนที่มีความสำคัญเช่นกันคือ ปัจจัยทางด้านการงาน ซึ่งก็คือ สถานพยาบาลที่แม่ทำงานอยู่ โดยจะมีสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องตั้งแต่ระยะการลาหลังคลอด และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ การมีศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่จะช่วยให้แม่สามารถมาให้นมลูกระหว่างการทำงาน หรือการสนับสนุนสถานที่ที่เหมาะสมพร้อมอุปกรณ์ที่จะช่วยในการบีบเก็บนมแม่ระหว่างวันในที่ทำงานรวมทั้งการจัดให้แม่ได้มีเวลาพักระหว่างการทำงานเพื่อมาบีบเก็บน้ำนม ปัจจัยนี้มักจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยาวนานหลังจากการลาพักหลังคลอดแล้ว

เอกสารอ้างอิง

1.        Sattari M, Levine DM, Mramba LK, et al. Physician Mothers and Breastfeeding: A Cross-Sectional Survey. Breastfeed Med 2020;15:312-20.

โอเมก้า 3 ช่วยในความเฉลียวฉลาดของทารก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สมองของทารกจะมีการพัฒนาการมากในช่วงเริ่มแรกของชีวิตโดยตั้งต้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์จนถึงใน 1000 วันแรก การที่ทารกได้รับโอเมก้า 3 อย่างเหมาะสมจะช่วยพัฒนาการด้านความฉลาด ด้านภาษา และด้านจิตสังคม (psychosocial) ซึ่งอธิบายได้จากโอเมก้า 3 จะช่วยในการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทที่จะส่งต่อสารสื่อประสาทให้มีความรวดเร็วขึ้น การส่งสื่อสารประสาทที่มีความรวดเร็วจะช่วยให้มีการพัฒนาการที่ดี ทารกที่ได้รับโอเมก้า 3 ไม่เพียงพอจะมีความเสี่ยงที่จะมีการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทที่ขาดตอนหรือไม่สมบูรณ์  ทำให้การสื่อสารประสาทผิดเพี้ยนไป โดยจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มอาการออทิสติก (autism spectrum disorders) และทารกที่ขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่สุก (attention deficit and hyperactivity disorder) ซึ่งความเสี่ยงนี้ยังพบเพิ่มขึ้นในทารกที่คลอดก่อนกำหนด1 ดังนั้น การจัดให้มารดาได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอในระหว่างการตั้งครรภ์และช่วงให้นมบุตรจึงมีความสำคัญที่จะช่วยในเรื่องความเฉลียวฉลาดของทารก

 เอกสารอ้างอิง

1.        Politano CA, Lopez-Berroa J. Omega-3 Fatty Acids and Fecundation, Pregnancy and Breastfeeding. Rev Bras Ginecol Obstet 2020;42:160-4.

โอเมก้า 3 ช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดผลเสียที่มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตของทารก โดยสิ่งที่จะตามมากับการเกิดการคลอดก่อนกำหนด คือการใช้ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขจำนวนมาก ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ การใช้พื้นที่ที่จัดเป็นหอทารกป่วยวิกฤตเพื่อการดูแลและเลี้ยงดูทารกจนฟื้นตัวและพ้นจากอันตรายที่เกิดขึ้นจากการคลอดก่อนกำหนด มีการศึกษาพบว่าการเสริมโอเมก้า 3 จะช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจอธิบายได้จากการที่โอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มต่าง ๆ การมีปริมาณโอเมก้า 3 ที่เหมาะสมก็น่าจะช่วยให้เยื่อหุ้มทารกที่ได้แก่ ถุงน้ำคร่ำมีความแข็งแรง ไม่เกิดการแตกก่อนเวลาอันควร และโอเมก้า 3 ยังช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของทารก ซึ่งอาจมีผลในการลดการคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อได้  นอกจากนี้ โอเมก้า 3 ยังช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดในรกเป็นปกติในกลุ่มมารดาที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด1

เอกสารอ้างอิง

1.        Politano CA, Lopez-Berroa J. Omega-3 Fatty Acids and Fecundation, Pregnancy and Breastfeeding. Rev Bras Ginecol Obstet 2020;42:160-4.

โอเมก้า 3 ช่วยในการตั้งครรภ์

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โอเมก้า 3 จะเป็นกรดไขมันในกลุ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสายยาว ซึ่งอาจจะแบ่งย่อยเป็น 2 ชนิด ได้แก่ EPA (eicosapentaenoic acid) และ DHA (docosahexaenoic acid) โดยที่โอเมก้า 3 จะพบมากในปลา ในการรับประทานอาหารปกติมักมีโอกาสที่จะได้รับโอเมก้า 3 ไม่เพียงพอ การเสริมโอเมก้า 3 จึงอาจจำเป็น ซึ่งมีการศึกษาพบว่าในมารดาที่มีบุตรยาก การเสริมโอเมก้า 3 จะช่วยในเรื่องคุณภาพของไข่และการพัฒนาการของตัวอ่อนในระหว่างการทำเด็กหลอดแก้ว ทำให้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์และเพิ่มการเกิดมีชีพ (คือการเกิดทารกที่มีชีวิตหรือทารกมีสัญญาณชีพหลังการเกิด) ซึ่งจะทำให้มารดามีโอกาสที่จะได้ลูกตามความต้องการสูงขึ้น นอกจากนี้ การเสริมโอเมก้า 3 ในผู้ชาย จะช่วยในกระบวนการการสร้างน้ำเชื้อให้ดีขึ้นด้วย1

เอกสารอ้างอิง

1.        Politano CA, Lopez-Berroa J. Omega-3 Fatty Acids and Fecundation, Pregnancy and Breastfeeding. Rev Bras Ginecol Obstet 2020;42:160-4.

การใช้สื่อการสอนที่มีทั้งภาพและเสียงช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การสอนให้แม่มีความรู้ความเข้าใจและสามารถมีทักษะที่จะปฏิบัติการให้นมลูกได้นั้น การจัดรูปแบบการเรียนการสอนมีความสำคัญต่อผลลัพธ์ของการเรียนการสอน โดยมีการศึกษาในสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ลูกที่มีภาวะปากแหว่งเพดาโหว่ ซึ่งจะมีความยากลำบากที่จะให้นมแม่โดยใช้สื่อที่มีทั้งภาพและเสียงเปรียบเทียบกับการจัดรูปแบบการบรรยายตามปกติพบว่า มารดาที่ได้รับการสอนโดยสื่อที่มีทั้งภาพและเสียงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์การเจริญเติบโตของทารก1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญกับการเลือกรูปแบบและสื่อที่จะใช้ในการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Murthy PS, Deshmukh S, Murthy S. Assisted breastfeeding technique to improve knowledge, attitude, and practices of mothers with cleft lip- and palate-affected infants: A randomized trial. Spec Care Dentist 2020;40:273-9.